อุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Park)

G NATIONAL PARK - อุทยานแห่งชาติสีเขียว

ความเป็นมา
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรฯ ได้มอบนโยบายในการพัฒนาอุทยานฯ ให้ได้มาตรฐานในระดับสากล โดยให้ดำเนินโครงการประกวดอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green  National Parks) โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกรมอุทยานฯ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการพัฒนาเกณฑ์ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม กำหนดหลักเกณฑ์การประกวด คัดสรรและคัดเลือกเพื่อตัดสินและมอบโล่รางวัลอุทยานฯสีเขียว เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีมาตรฐานในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม มีการบริการที่ดีแก่นักท่องเที่ยว เป็นการยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของอุทยานฯ สู่มาตรฐานสากล นำไปสู่เป้าประสงค์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป 


คณะกรรมการโครงการประกวดอุทยานแห่งชาติสีเขียว Green National Parks
เพื่อให้การประกวด คัดสรรและคัดเลือกอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการประกวดอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) จำนวน 2 ชุด ดังนี้

1. คณะกรรมการอำนวยโครงการประกวดอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ

2. คณะกรรมการคัดสรรและคัดเลือกอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) โดยมีอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นประธานกรรมการ


เกณฑ์การประเมินอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks)
เกณฑ์การประเมินอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2560 ประกอบด้วยเกณฑ์ทั้งหมด 17 ข้อ มีคะแนนเต็มข้อละ 4 คะแนน รวมทั้งหมด 68 คะแนน อุทยานแห่งชาติที่ผ่านการประเมินอุทยานแห่งชาติสีเขียว ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมจะต้องผ่านเกณฑ์ร้อยละ 85 ขึ้นไป โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้
1. การกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม (4 คะแนน)
2. การจัดการด้านพลังงานไฟฟ้า (4 คะแนน)
3. การลดปริมาณขยะ โดยใช้หลัก 3Rs (4 คะแนน)
4. การคัดแยกขยะ (4 คะแนน)
5. การเก็บรวบรวมขยะก่อนนำไปกำจัด (4 คะแนน)
6. การกำจัดขยะ (4 คะแนน)
7. การจัดการด้านน้ำเสีย (4 คะแนน)
8. การจัดการห้องน้ำ-ห้องสุขา (4 คะแนน)
9. การจัดการความสะอาดและความเป็นระเบียบ (4 คะแนน)
10. การจัดการสิ่งแวดล้อมบริเวณร้านอาหาร (4 คะแนน)
11. การบริการบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว (4 คะแนน)
12. การจัดการพื้นที่กางเต็นท์ (4 คะแนน)
13. การปรับปรุงภูมิทัศน์ (4 คะแนน)
14. การส่งเสริมและความร่วมมือกับชุมชน/ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ (4 คะแนน)
15. การจัดการศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (4 คะแนน)
16. การจัดการร้านขายของที่ระลึก (4 คะแนน)
17. การจัดการด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว (4 คะแนน)
คะแนนรวม 68 คะแนน


ขั้นตอนการคัดเลือกอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks)
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีขั้นตอนการคัดเลือกอุทยานแห่งชาติเข้าร่วมโครงการประกวดอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) ประจำปีงบประมาณ 2560 ดังนี้
1) กำหนดให้ดำเนินงานตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ (มาตรา 44) ระดับกรม ใน 2 ตัวชี้วัด ได้แก่
1.1) ตัวชี้วัดที่ 1.4.1 แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้รับการพัฒนาศักยภาพ จำนวน 243 แหล่ง ในอุทยานแห่งชาติจำนวน 147 แห่ง ดำเนินงานตามเกณฑ์อุทยานแห่งชาติสีเขียว ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม
1.2) ตัวชี้วัดที่ 1.4.2.1 อุทยานแห่งชาติสีเขียว กำหนดให้อุทยานแห่งชาติต้องผ่านเกณฑ์การประเมินอุทยานแห่งชาติสีเขียว ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กำหนดเป้าหมายไว้ 2 ระดับ ดังนี้

  • ระดับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติที่อยู่ในความรับผิดชอบต้องผ่านเกณฑ์การประเมินอุทยานแห่งชาติสีเขียว ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวม 45 แห่ง (โดยให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 21 แห่ง ตั้งคณะทำงาน/คณะกรรมการฯ ระดับพื้นที่ โดยต้องมีบุคคลที่ 3 เช่น ทสจ.จังหวัด/ภาค, สาธารณสุข, อบต., กรรมการ PAC เป็นต้น) ทำการประเมินอุทยานแห่งชาติสีเขียวด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ตามเกณฑ์อุทยานแห่งชาติสีเขียว ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จำนวน 17 เกณฑ์ (เพิ่มเกณฑ์ใหม่ 2 เกณฑ์)
  • ระดับประเทศ (รับผิดชอบโดยสำนักอุทยานแห่งชาติ) กำหนดให้อุทยานแห่งชาติ อย่างน้อย จำนวน 10 แห่ง ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินอุทยานแห่งชาติสีเขียว ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม จากคณะกรรมการโครงการประกวดอุทยานแห่งชาติสีเขียว ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม