ฉลากอัพไซเคิลเศรษฐกิจหมุนเวียน (UPCYCLE CE)

ส่งเสริมการดำเนินงาน

ผลิตภัณฑ์นำกลับมาใช้ใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สำหรับผู้ประกอบการ (G – Upcycle)

 

1.หลักการและเหตุผล :


ปัจจุบันกระแสนิยมในการซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประชาชนในประเทศไทยมีมากขึ้น อีกทั้งภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ สื่อสารสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งการใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุหลักของปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ


ปี 2564- 2565 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ปรับปรุงเกณฑ์การประเมินผลิตภัณฑ์อัพไชเคิลเศรษฐกิจหมุนเวียน(UPCYCLE Circular Economy) เพื่อเป็นแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบการที่นำวัสดุเหลือใช้มาผลิตสินค้า และสร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้ ส่งเสริมและสนับสนุนการนำของเหลือใช้กลับมาพัฒนาเป็นวัสดุทดแทนหรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ลดปริมาณขยะและเศษวัสดุที่ต้องถูกส่งไปฝังกลบหรือเผาทำลาย ส่งเสริมการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ พัฒนานวัตกรรมจากทรัพยากรที่ถูกสกัดออกได้อย่างคุ้มค่าและสร้างมูลค่าให้กับผู้ประกอบการ สนับสนุนแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio Circular Green Economy หรือ BCG Model) โดยในปีงบประมาณ ๒๕๖๕กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะกรรมการประเมินผลิตภัณฑ์รับรองฉลากอัพไซเคิลเศรษฐกิจหมุนเวียน (UPCYCLE Circular Economy) ได้พิจารณาเอกสารและรับรองผลิตภัณฑ์อัพไชเคิลเศรษฐกิจหมุนเวียน (UPCYCLE Circular Economy) จำนวน 42 ผลิตภัณฑ์ ดูรายละเอียดเพิ่มเติม 


ทั้งนี้ ปี 2566 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดย กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ยังคงเล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ รับรองผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์การเมินดังกล่าว เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างความตระหนักให้กับผู้ประกอบการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy สร้างนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ อย่างแพร่หลาย กระตุ้นการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ตามแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ยั่งยืนต่อไป

 

วัตถุประสงค์โครงการ

  •  เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้เกิดความตระหนักและให้ความสำคัญกับการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์และสร้างสรรค์ให้เกิดผลิตภัณฑ์อัพไซเคิลเศรษฐกิจหมุนเวียน (UPCYCLE Circular Economy)
  • เพื่อรับรองผลิตภัณฑ์ฉลากอัพไซเคิลเศรษฐกิจหมุนเวียน (UPCYCLE Circular Economy)

 กลุ่มเป้าหมาย :

ผู้ประกอบการภายในประเทศที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อัพไซเคิลเศรษฐกิจหมุนเวียน (UPCYCLE Circular Economy)