มาตรการและกลไก
Thailand Taxonomy
Thailand Taxonomy คืออะไร?
Thailand Taxonomy คือ มาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทยได้ตามสมัครใจ โดยมีวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและกิจกรรทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย สอดคล้องกับ ASEAN Taxonomy สอดคล้องกับมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น EU Taxonomy และ Climate Bonds Taxonomy ซึ่งใช้การอ้างอิงจากหลักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และยึดมั่นเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 ไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่มีสมาชิกกว่า 197 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย
Thailand Taxonomy มีการจัดกลุ่มกิจกรรมเป็น 3 ระดับ ด้วยระบบ “สัญญาณไฟจราจร” คือ
สีเขียว : กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น
สีเหลือง : กิจกรรมที่สามารถปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และอาจเข้าข่ายสีเขียวได้ในอนาคต เช่น พลังงานไฟฟ้าจากชีวภาพ (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิยังไม่ใกล้เคียงหรือเท่ากับศูนย์)
สีแดง : กิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องทยอยลดกิจกรรมเหล่านี้ลงอย่างต่อเนื่อง เช่น พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน
นอกจากนี้ ต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ (Do No Significant Harm) และคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคมไปพร้อมกัน (Minimum Social Safeguards)
ตัวอย่างการนำ Thailand Taxonomy ไปใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคส่วนต่าง ๆ
สถาบันการเงิน
– ออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือตราสารหนี้สีเขียว (Green Bonds)
– ออกสินเชื่อเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือสินเชื่อสีเขียว (Green)
บริษัท/องค์กร
– เปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสามารถเปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างบริษัทต่าง ๆ ได้
ภาครัฐ
– ออกนโยบายการจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับ Taxonomy
สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Taxonomy
• ไม่ใช่การเก็บภาษี : ชื่อว่า Taxonomy มีคำว่า Tax แต่ไม่ใช่ภาษี เป็นคู่มืออ้างอิงเพื่อจัดกลุ่มกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
• ไม่ได้บอกว่า “ดี” หรือ “ไม่ดี” : บอกเพียงว่ากิจกรรมนั้นอยู่ในกลุ่มใด เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน
• ไม่ได้ห้ามปล่อยกู้ : ยังสามารถปล่อยกู้ได้ตามนโยบายของสถาบันการเงินนั้น ๆ
• ไม่ได้ห้ามลงทุน : สามารถลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่แต่ละบุคคลยอมรับได้
ขอบเขตการจัดทำ Thailand Taxonomy
ระยะที่ 1 : ครอบคลุมภาคพลังงานและภาคขนส่ง
ระยะที่ 2 : ครอบคุลมภาคเกษตร ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัย์ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคการจัดการของเสีย
Thailand Taxonomy เป็น Living Document คือ เอกสารที่มีการทบทวนให้ทันการณ์อยู่เสมอ สามารถอ่านคู่มือใช้งาน Thailand Taxonomy ได้ที่ www.bot.or.th