23 พฤษภาคม วันเต่าโลก (World Turtle Day) 23 พฤษภาคม 2567  31  กองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม DCCE



                    เต่า เป็นสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มแรกที่มีวิวัฒนาการขึ้นมาอยู่บนบกอย่างแท้จริง จำแนกออกเป็น 3 ประเภท ไม่ว่าจะเป็น เต่าบก เต่าน้ำจืด และ เต่าทะเล ซึ่งเต่าแต่ละประเภทก็จะถูกแบ่งด้วยลักษณะร่างกายและถิ่นที่อยู่อาศัย โดย เต่าบก Tortoise ใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนบก มีกระดองที่นูนหนา เพื่อป้องกันตัว บริเวณเท้าจะมีเกล็ดหน้า และเล็บยาวเพื่อขุดดิน มันกินพืชเป็นอาหารแต่บางสายพันธุ์กินเนื้อหรือแมลงด้วย เต่าบกที่ตัวใหญ่ที่สุดคือเต่ากาลาปากอส
                    เต่าน้ำจืด หรือเต่าน้ำ Terrapin ใช้ชีวิตอยู่ในน้ำเป็นส่วนใหญ่ ขึ้นมาอาบแดดบางครั้ง จะมีกระดองค่อนข้างแบนกว่าเต่าบก น้ำหนักเบา เพื่อใช้ในการลอยตัวอยู่ในน้ำ โดยเท้าจะไม่มีเกล็ดและมีผังผืดระหว่างนิ้วเท้าเพื่อใช้ในการว่ายน้ำ มักล่าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ
                    เต่าทะเล Turtle ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในน้ำ และขึ้นมาบนบกเมื่อวางไข่ มีกระดองค่อนข้างแบน และน้ำหนักเบา เท้าทั้งสี่มีลักษณะแบนเป็นครีบเพื่อใช้ในการว่ายน้ำอนย่างคล่องแคล่ว กินพืชเป็นอาหารหลัก เต่าทะเลที่ใหญ่ที่สุดคือเต่ามะเฟือง
                    ในปัจจุบันเต่าบางชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยเฉพาะเต่าทะเล ที่ถูกคุกคามโดยน้ำมือของมนุษย์ ทั้งการกินเต่า ไข่เต่า นำเต่ามาทำเครื่องประดับ ขยะ อวนประมง มลพิษ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและคลื่นความร้อนทำให้ทรายบนชายหาดบางแห่งร้อนจัด ส่งผลให้ “ลูกเต่าทะเล”ที่เกิดใหม่แทบจะกลายเป็นตัวเมียทั้งหมด จนหลายคนอดห่วงไม่ได้ว่าอาจมีผลกระทบต่อการขยายพันธุ์ 
                    องค์กร American Tortoise Rescue ในรัฐ California, USA. ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์และช่วยเหลือเต่าบกและเต่าทะเล จึงกำหนดให้วันที่ 23 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น ‘วันเต่าโลก’ (World Turtle Day)  เพื่อเน้นให้ความรู้ และปลูกจิตสำนึกให้อนุรักษ์เต่าที่มีจำนวนลดน้อยลง 
                    ในขณะที่ประเทศไทย มีการรณรงค์อนุรักษ์เต่า โดยประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มีกฎหมายห้ามล่า ห้ามครอบครอง ห้ามค้า หรือห้ามนำเข้า-ส่งออก และประกาศพื้นที่อนุรักษ์เพื่อคุ้มครองเต่า และมีเพียงเต่ามะเฟือง ที่ผ่านการผลักดันให้อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าสงวนภายใต้ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยมีการแพร่กระจายของเต่าทะเลจำนวน 5 ชนิด แต่กลับพบการวางไข่ของเต่าทะเลเพียง 4 ชนิด ได้แก่ เต่ามะเฟือง เต่าหญ้า เต่าตนุ และเต่ากระ ปัจจุบันเหลือแหล่งวางไข่เต่าทะเลที่สำคัญเพียง 10 แห่ง โดยแหล่งวางไข่ที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่บริเวณหมู่เกาะคราม รองลงมาเป็นหมู่เกาะสิมิลัน 
                    อย่าให้วันเต่าโลกกลายเป็นวันที่ไม่มีเต่าอยู่บนโลก ถ้าเราร่วมด้วยช่วยกันดูแลอนุรักษ์เต่า ดูแลธรรมชาติ ดูแลโลก เราก็ยังจะได้เห็นความน่ารักของเต่าแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ และวันเต่าโลกก็ยังจะคงอยู่กับโลกของเราในอีกทุกๆปี

"ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน"

แหล่งที่มา :

20 เมษายน 2564  488

อุตสาหกรรมอาหารที่ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม

24 พฤษภาคม 2567  20

24 พฤษภาคม วันป่าชุมชนแห่งชาติ