พัชรวาท มอบกรมโลกร้อน เร่งแก้ปัญหาโลกเดือด 21 กุมภาพันธ์ 2567  54  กองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม DCCE



วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความเป็นห่วงถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และที่สำคัญประเทศไทยเป็นประเทศที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานในการจัดการและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามที่ได้ประกาศไว้ ดังนี้
1. จัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDC ที่กำหนดจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 30-40 จากกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ.2573 ใน 5 สาขาหลัก ได้แก่ สาขาพลังงาน คมนาคมขนส่ง การจัดการของเสีย กระบวนการทางอุตสาหกรรม และเกษตร โดยในแผนฯ ได้บรรจุแผนงานการดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขาภายใต้ขีดความสามารถของประเทศ รวมถึงใช้กลไกความร่วมมือและการสนับสนุนระหว่างประเทศ ทั้งด้านการเงิน การลงทุน และเทคโนโลยี ใช้กลไกข้อ 6 ของความตกลงปารีส (หรือ Article 6) ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่รวดเร็ว เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ โดยเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ในเดือนเมษายน 2567
2. ปรับปรุงแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
3. ผลักดันร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ และมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ กลไกราคาคาร์บอน เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการพัฒนาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและยั่งยืน ขณะนี้อยู่ในช่วงเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2567 ทั้งนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอแนะเชิงเทคนิคต่อการจัดทำอนุบัญญัติภายใต้กรอบกฎหมายดังกล่าวคู่ขนาน เพื่อเร่งเสนอ คณะรัฐมนตรี ภายในกลางปี 2567 นี้
4. ส่งเสริมให้เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือ “เครือข่าย ทสม.” เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเครือข่าย ทสม. ในระดับพื้นที่ ปัจจุบันมีเครือข่าย ทสม. ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ เข้าร่วมโครงการกว่า 20 พื้นที่ครอบคลุมทุกภูมิภาค ซึ่งมีแผนงานที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างองค์ความรู้ ความตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสริมสร้างศักยภาพของเครือข่าย ทสม. เกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจก การส่งเสริมกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกด้วยการมีส่วนร่วม การประชาสัมพันธ์และการเผยแพร่องค์ความรู้
5. การเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรภายในกรมฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ผ่านการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (BMWK) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อให้บุคลากรมีความรู้และพร้อมในปี 2567 เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Net Zero ได้ตามเป้าหมายที่ได้ประกาศไว้

"ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน"

21 กุมภาพันธ์ 2567  25

สส. ร่วมเตรียมความพร้อมจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

22 กุมภาพันธ์ 2567  34

สส. ขานรับวิสัยทัศน์ นายกรัฐมนตรี Ignite Thailand จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง