วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีฯ และนายวัฒน์ ทาบึงกาฬ เลขานุการกรม เข้าร่วมกิจกรรมงานวันต้นไม้ประจำปีของชาติ ปี 68 ภายใต้แนวคิด “ธรรมะและธรรมชาติ” จัดขึ้นโดยกรมป่าไม้ ณ ราชบพิธสถิตธรรมสถาน คลอง 9 ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ ผู้บริหาร ทส. และได้รับประทานพระเมตตาจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เจ้าคุณพระราชสุทธิธรรมาจารย์ และเจ้าคุณพระราชวรเมธาจารย์ เข้าร่วมพิธีเปิด พร้อมปลูกต้นไม้ภายในราชบพิธสถิตธรรมสถาน อาทิ ต้นมะริด ต้นจามจุรี และต้นราชพฤกษ์ ซึ่ง รมว.ทส. ได้ปลูกต้นไม้มะริด ต้นที่ 72 ล้าน ในโครงการ 72 ล้านต้น พลิกฟื้นผืนป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
               ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทส. ได้กล่าวว่า การปลูกต้นไม้ ไม่ใช่แค่ “การลงมือปลูกต้นไม้” แต่เป็น “การปลูกจิตสำนึก” ให้กับคนทุกวัย ขอให้เริ่มด้วย “หนึ่งต้นไม้ หนึ่งมือปลูก หนึ่งใจรักษา” ซึ่งส่งผลดีทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ต่อการสืบทอดคุณค่าจากรุ่นสู่รุ่น และในโอกาสวันต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ. 2568 ตรงกับวันที่ 11 พ.ค. และเป็นวันวิสาขบูชา ขอเชิญชวนประชาชนทั่วประเทศ ร่วมปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างแผ่นดินไทยให้เขียวขจี โดยสามารถติดต่อขอรับกล้าไม้ได้ฟรี ที่สถานีเพาะชำกล้าไม้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า ส่วนผลิตกล้าไม้ กรมป่าไม้ โทร. 02-561-4292-3 ต่อ 5551
               ทั้งนี้ ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2532 กำหนดให้ “วันวิสาขบูชา” เป็นวันต้นไม้ประจำปีของชาติ ซึ่งในปี พ.ศ. 2568 นี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ กำหนดจัดกิจกรรมงานวันต้นไม้ประจำปีของชาติขึ้น ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ณ ราชบพิธสถิตธรรมสถาน คลอง 9 จังหวัดปทุมธานี รวมถึงได้บูรณาการความร่วมมือระหว่าง “ธรรมะและธรรมชาติ” ที่เป็นการหลอมรวมพลังศรัทธาในศาสนาเข้ากับภารกิจด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของการจัดที่มุ่งเน้นการปลูกจิตสำนึก ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเยาวชน ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา ลดผลกระทบจากวิกฤติโลกร้อน และสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”