เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานร่วมกับ Dr. Philipp Behrens, Head of Unit, International Climate Initiative, the Federal Ministry for Economic Affairs and Energy (BMWE) ในการประชุมเชิงนโยบายและคณะกรรมการกำกับโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน (Policy Dialogue and Steering Committee Meeting on Thai – German Cooperation in a field of climate change, biodiversity, and environment) พร้อมด้วยนายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวัชรินทร์ บุญฤทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในห้วงการประชุมองค์กรย่อยภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจำปี 2568 ณ เมืองบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
               ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และพลังงาน โดย กรมลดโลกร้อน ได้แลกเปลี่ยนความก้าวหน้าของการจัดทำ NDC 3.0 การจัดทำพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผน NAP การมีส่วนร่วมของประเทศไทยใน Climate Club กรมลดโลกร้อน ได้แสดงความสนใจในการดำเนินงานด้านการปรับตัวฯ ภาคเกษตรที่ต้องมีผลประโยชน์ร่วม (co-benefit) กับการลดก๊าซเรือนกระจก การรับมือกับภัยพิบัติโดยใช้ Nature-based Solutions ในการแก้ปัญหาในภาคเมือง อุตสาหกรรมที่ลดก๊าซฯ ได้ยาก การสร้างความร่วมมือกับธนาคารต่าง ๆ รวมถึงหารือการดำเนินความร่วมมือระหว่างไทย-เยอรมัน ภายใต้แผนงานปกป้องสภาพภูมิอากาศระดับสากล (International Climate Initiative: IKI) พร้อมนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองต่อประเด็นการเจรจาภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ที่สำคัญ อาทิ แผนงาน Baku to Belem Roadmap to 1.3T การกำหนดตัวชี้วัดของเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Global Goal on Adaptation: GGA) การดำเนินงานของMitigation Work Programme และความสำคัญของความร่วมมือภายใต้ข้อ 6 ของความตกลงปารีส ทั้งนี้ ดร.พิรุณฯ ได้ขอบคุณการสนับสนุนจากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และยินดีสร้างความร่วมมือทั้งสองฝ่ายเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”