คนจำนวนไม่น้อยอาจไม่คุ้นเคยกับการทำฟาร์ม “ปศุสัตว์อินทรีย์” หรือ “ปศุสัตว์ออร์แกนิก” หรืออาจไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าการทำฟาร์มอินทรีย์นอกจากได้บริโภคอาหารปลอดภัยแล้วยังมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย
ในภาพรวมภาคปศุสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นประมาณ 14-15 % ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะก๊าซมีเทนจากการย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้องคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสามของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดจากภาคเกษตร (1)
               ในปี 2565 ภาคเกษตรไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 68.93 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากภาคพลังงาน นั่นแสดงให้เห็นว่า การทำปศุสัตว์มีสัดส่วนในการทำร้ายโลกค่อนข้างสูง
ทางออกของปัญหานี้ก็คือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำฟาร์มปศุสัตว์จากระบบเก่าไปเป็นระบบใหม่ ซึ่ง “แทนคุณออร์แกนิคฟาร์ม” ฟาร์มที่เลี้ยงทั้งไก่ หมู และเป็ด มีปณิธานแน่วแน่มาตั้งแต่ปี 2555 ว่าปศุสัตว์อินทรีย์คือตัวช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อม
               “อำนาจ เรียนสร้อย” (3) ในฐานะเจ้าของฟาร์มอินทรีย์แห่งนี้ตั้งใจเปลี่ยนโฉมวงการปศุสัตว์ด้วยการผลักดันระบบเกษตรอินทรีย์ให้สามารถเข้าไปแทนที่อุตสาหกรรมปศุสัตว์และอาหารสัตว์ที่แม้จะเป็นเครื่องมือหลักป้อนอาหารให้ผู้คน แต่นั่นคือต้นตอหนึ่งที่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
               จุดนี้เองที่ “อำนาจ” อยากเปลี่ยนต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ 70-80% ที่ต้องใส่เข้าไปในการลงทุนให้กลายเป็นวัตถุดิบที่มาจากระบบอินทรีย์ เพราะหากไม่เปลี่ยนระบบการผลิตอาหารโดยเฉพาะอุตสาหกรรมปศุสัตว์ การทำลายป่า ทำลายทะเลก็จะยังเกิดขึ้นต่อไป
               แทนคุณฟาร์มมุ่งขยายพื้นที่การทำปศุสัตว์อินทรีย์ให้กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค โดยการสนับสนุนเครือข่ายเกษตรกรที่ไม่ต้องพึ่งพาระบบที่ทำลายล้างสิ่งแวดล้อม โดยวัตถุดิบที่นำมาผลิตอาหารต้องรู้แหล่งที่มาที่ไป ถ้าเป็นพืชไร่ห้ามเผา ห้ามใช้สารเคมี ห้ามปล่อยสารเคมีลงแม่น้ำหรือไม่ใช้ปลาป่น
               เขาอธิบายหลักการทำปศุสัตว์อินทรีย์มี 2 รูปแบบ รูปแบบที่หนึ่ง การเลี้ยงโดยปล่อยสัตว์ให้หากินในบริเวณที่กำหนดตามหลักการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ เช่น เลี้ยงไก่ตามมาตรฐานโรงเรือน 1 ตารางเมตร เลี้ยงได้ไม่เกิน 5 ตัว พื้นที่ปล่อยด้านนอก 1 ตัว ต้องใช้ 4 ตารางเมตรและไม่ใช่เลี้ยงขังในโรงเรือนอย่างเดียว ต้องมีพื้นที่ปล่อยให้ไก่ได้ออกมาแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ตามบริบทความหนาแน่นที่เหมาะสมของสัตว์แต่ละชนิด
               รูปแบบที่สอง ซึ่งเป็นข้อสำคัญที่สุดในการทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์นั่นคือ อาหารที่กินจะต้องเป็นไปตามคำนิยามมาตรฐานเกษตรออร์แกนิก ไม่ใช่การปล่อยให้หากินเหมือนไก่ป่า ไม่มีเล้าให้นอนในช่วงกลางคืนหรือปล่อยไก่นอนบนต้นไม้จนถูกงูหรือหมากินจนหมด ลักษณะนี้ถือว่าผิดมาตรฐานเพราะทำให้สัตว์ตกอยู่ในความเสี่ยง และเสียชีวิต
               สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงจะต้องผลิตมาจากระบบเกษตรอินทรีย์อย่างน้อย 80% ขึ้นไปของน้ำหนักแห้งที่ใช้เลี้ยง ตัวอย่างเช่น ไก่กินอาหาร 1 กิโลกรัม อย่างน้อย 800 กรัมจะต้องเป็นวัตถุดิบที่มาจากระบบเกษตรอินทรีย์ และมีใบรับรองขั้นต่ำคือ ออร์แกนิกไทยแลนด์ขึ้นไป อีก 20% ไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุดิบจากระบบเกษตรอินทรีย์ แต่ต้องสำแดงให้กับผู้ตรวจเห็นได้ว่าเป็นวัตถุดิบที่ไม่ปนเปื้อนสารเคมี
               เขาย้ำว่า ข้อห้ามสำคัญของปศุสัตว์อินทรีย์คือการไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ แต่สามารถทำวัคซีนสัตว์ได้ เนื่องจากไม่มีหลักเกณฑ์ข้อไหนจากหน่วยงานไหนห้ามไว้ แต่ปัจจุบันมีอินฟลูเอนเซอร์บางคนไปสื่อสารให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ปศุสัตว์อินทรีย์ต้องไม่ทำวัคซีนซึ่งสร้างความเข้าใจผิดแก่เกษตรกรว่าการทำเกษตรอินทรีย์ห้ามทำวัคซีน
               อย่างไรก็ดี การทำปศุสัตว์ออร์แกนิกที่ถูกต้องจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของประเทศ นั่นคือมาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์ (Organic Thailand) โดย มกอช. (สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) และจากกรมปศุสัตว์ (DLD Organic) องค์กรภาครัฐที่มาร่วมกำหนดมาตรฐานด้วยกัน ซึ่งปศุสัตว์อินทรีย์เมื่อเทียบกับข้าวหรือพืชอินทรีย์อื่นก็คือ ปศุสัตว์จะมีตรารับรองสองตัวข้างต้น ส่วนข้าวพืชผักผลไม้มีแค่ออร์แกนิกไทยแลนด์
               “อำนาจ” อธิบายเรื่องสำคัญอีกเรื่องในแง่ความเข้าใจความหมายของคำว่า “เกษตรอินทรีย์”และคำว่า “ออร์แกนิก” ด้วยหลายคนอาจมองว่าความยากของคนทำอินทรีย์คือจะปกป้องตัวเองจากคนที่ทำเคมีอย่างไร ซึ่งอำนาจมองว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดและคิดไปเองว่า เกษตรอินทรีย์จะต้องปลอดเคมี 100% หรือไม่มีสารเคมีเลย
               “เกษตรอินทรีย์คือเกษตรที่ตั้งใจทำโดยที่ไม่ตั้งใจใส่สารเคมีลงไป แต่สารเคมีที่ปนเปื้อนมาจากรอบข้างในวงเกษตรอินทรีย์เขาไม่เอามานับ อย่าง Green Net สถาบันที่ผมนับถือที่สุด เขาบอกว่าเกษตรอินทรีย์คือเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม จบแค่นี้ เขาไม่ได้พูดว่าเกษตรอินทรีย์คือห้ามมีสารตกค้าง เพราะเราไม่ได้เป็นเกษตรในห้องแล็ป วันดีคืนดีเราทำนาอยู่ เกิดน้ำท่วมพัดพาสารเคมีจากที่อื่นมาอยู่ในแปลงเรา อันนี้เกษตรกรผิดเหรอครับ”
               คำถามก็คือ ทำไมปัจจุบันปศุสัตว์อินทรีย์ถึงโตได้ไม่มาก อำนาจบอกว่า ประเด็นแรก ไม่มีตลาดรองรับมากพอ ประเด็นที่สอง วัตถุดิบมีไม่เพียงพอ และเกษตรกรอาจขาดองค์ความรู้ ทั้งที่สามารถเข้าถึงได้จากดิจิทัลฟุตพริ้นต์ที่เขาถ่ายทอดไป หรืออีกหลายที่ทำไว้ลักษณะใกล้เคียงกัน
               ธุรกิจการเกษตรในนามแทนคุณฟาร์มไม่ได้ตั้งตัวเป็นพ่อค้าคนกลาง แต่หาวัตถุดิบจากเครือข่ายกลุ่มเกษตรกร อย่างเช่น กลุ่มที่รวมตัวกันผลิตข้าวโพด ถั่วเขียว มันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบอินทรีย์ส่งให้ฟาร์ม ขณะเดียวกันก็หา Waste มาทำอาหารสัตว์ เช่น รับซื้อกระดองปูก้ามปูเปลือกปูมาตรวจแล็ปว่ามี Nutrition Profile (การจำแนกอาหารตามองค์ประกอบทางโภชนาการ) เพื่อนำมาทำสูตรอาหารสัตว์ ซึ่งพบว่ามีแคลเซียมและโปรตีนเสริมอยู่ด้วย
               จากเดิมที่ทิ้งเป็นขยะ และสร้างมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม เขาเลือกรับซื้อตันละ 10,000 บาท ทำให้กลุ่มประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่ม นี่คือการนำ waste เปลี่ยนมาเป็นอาหารสัตว์และสามารถเปลี่ยนเป็นเนื้อไก่ออร์แกนิก ไข่ไก่ออร์แกนิกที่มีมูลค่าสูง
               เป็นเหตุผลที่เนื้อไก่ของแทนคุณฟาร์มแพงกว่าไก่ทั่วไปสามเท่าตัว ซึ่งแน่นอนไม่ใช่ทุกคนที่ซื้อได้ แต่ถ้าจะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงมากขึ้น จะต้องขยายเครือข่ายผู้ผลิตวัตถุดิบอินทรีย์ป้อนฟาร์มให้มากขึ้นหรือให้กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อลดต้นทุนการขนส่งระยะทางไกล และทำให้เกิดกลุ่มเกษตรกรผลิตวัตถุดิบมากขึ้นเพื่อให้เกิดการแข่งขันเรื่องราคา
               “ทุกวันนี้แทนคุณฟาร์มโตขึ้นจากยอดขายเดือนละ 100,000 เป็นเดือนละ 3,000,000 ได้โดยไม่ต้องยิงแอดโฆษณา ทุกอย่างเป็นออร์แกนิกหมด และไม่มีหน้าร้าน โตอยู่ในโลกออนไลน์ ถ้าผมมีหน้าร้านสัก 10 แห่งสเกลจะขนาดไหน”
               “อำนาจ” ต้องการให้มีการสื่อสารเนื้อหาให้ผู้บริโภคมีความรู้ในการเลือกกินอาหารที่มาจากระบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้นเพราะเมื่อมีผู้บริโภคมากขึ้น โอกาสจะขยายเครือข่ายเกษตรกรก็มากขึ้นตาม และนี่เป็นเหตุผลที่เขาเตรียมจะเปิดระดมทุนและจัดตั้งเป็นบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อให้ขยายปศุสัตว์อินทรีย์ให้โตขึ้นอีก
               หลักการทำธุรกิจของแทนคุณฟาร์ม นอกจากผลิตเองเป็นหลัก ยังทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงที่คัดเลือกมาอย่างน้อย 5 คนขึ้นไปต่อกลุ่ม มาร่วมทำฟาร์มอินทรีย์ตามมาตรฐาน โดยแทนคุณฟาร์มจะวางแผนการผลิตให้ “อย่างเช่น อาทิตย์หนึ่งแทนคุณฟาร์มขายไก่ได้ 1,000 ตัวก็คือจะต้องมีไก่อาทิตย์ละ 1,000 ตัว ถ้าผมเลี้ยง 600 ตัว อีก 400 ตัวจะไปแจกจ่ายให้กับเครือข่ายที่มี และรับซื้อคืนผลผลิตทั้งหมดในราคาประกันที่คุยกันไว้ตั้งแต่แรก ไม่ว่าภาวะตลาดของเราจะเป็นอย่างไร
               “เราจะต่างจากพ่อค้าคนกลางที่ช่วงนี้ตลาดดีเอามา แต่พอช่วงขายยากก็ไม่รับซื้อหรือซื้อแค่ครึ่งเดียว สมมติวันนี้ผมขายไม่ได้เลย แต่ผมได้ตกลงไปแล้วกับเครือข่าย 400 ผมก็ต้องซื้อทั้งหมด 400 ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุแบบนั้นและไก่ในราคาอุตสาหกรรมผมซื้อแพงกว่าหนึ่งเท่าตัว และผมก็ยังไม่เห็นว่าที่ไหนทำได้”
               อีกความตั้งใจของอำนาจก็คือ มุ่งหวังให้เครือข่ายเกษตรกรปศุสัตว์อินทรีย์สามารถพึ่งพาตัวเองได้ตั้งแต่ต้นยันจบ “ผมยินดีถ้าเกษตรกรทั่วประเทศจะทำได้แบบผม แล้วผมปิดแทนคุณฟาร์มไปเลย ผมก็ยินดี”
               ถามย้ำ นี่คือความมุ่งหมายในการขยายปศุสัตว์อินทรีย์เพื่อแทนที่อุตสาหกรรรมปศุสัตว์แบบเก่า เขาตอบ “ใช่ครับ อันนี้คือความตั้งใจสูงสุดเลยที่ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง”

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) BBC., The cows that could help fight climate change.
(2) กรุงเทพธุรกิจ, “ปศุสัตว์” สีเขียว อาหารปลอดภัย ลด “ก๊าซเรือนกระจก”
(3) สัมภาษณ์ อำนาจ เรียนสร้อย เจ้าของแทนคุณออร์แกนิคฟาร์ม