วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดการประชุมเผยแพร่แนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการพัฒนาดัชนีความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับประเทศไทย ณ ห้องวอเตอร์เกทบอลรูม 1&2 ชั้น 6 โรงแรมอมารี กรุงเทพฯ (ประตูน้ำ) โดยมีนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม และได้รับเกียรติจาก ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกว่า 200 คน
         การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่แนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายตามแนวทาง/กรอบการศึกษาการพัฒนาดัชนีความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (CRI) ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยโดยมีผลการศึกษาคือ
         – การพัฒนาแนวทางและเพิ่มศักยภาพของชุมชนให้เป็นพื้นที่ต้นแบบด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำนวน 2 พื้นที่ คือ จังหวัดเชียงรายและจังหวัดนครศรีธรรมราช และการปรับตัวในสาขาที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 สาขา คือ สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มุ่งเน้นทั้งการฟื้นฟู อนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยอาศัยองค์ความรู้ทั้งวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่กัน และสาขาการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ มุ่งเน้นการออกแบบเมืองและโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นต่อภัยพิบัติ การดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ การหลีกเลี่ยงการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เสี่ยง
         – การศึกษาวิธีการประเมินและจัดอันดับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศต่างๆ ได้นำแนวทางของ Germanwatch มาปรับใช้และพัฒนาสำหรับการจัดทำดัชนีความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Risk Index: CRI) ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบจากภัยพิบัติ ที่สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ซึ่งผลการศึกษาในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในจัดทำแนวทางการปรับตัวให้ครบทั้ง 6 สาขาและพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ให้มีศักยภาพในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป และดัชนีความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศชุดนี้ จะช่วยสะท้อนถึงความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเปราะบางของพื้นที่และความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้เข้าใจผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะจัดลำดับความรุนแรงของจังหวัดที่ได้รับผลกระทบอันเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและการจัดสรรทรัพยากร เพื่อการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างสอดคล้องกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
ผลการศึกษาดังกล่าวจะส่งเสริมให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงการตั้งรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการปรับตัวของทุกภาคส่วน และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”