วันปะการัง กำหนดขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของปะการังที่ช่วยระบบนิเวศทางทะเลให้มีความสมดุลต่อสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล โดยวันปะการังถูกกำหนดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2539 ที่เมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น และได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยป้องกันแนวปะการังขึ้นในปี 2543 ที่เกาะชิระโฮะ เมืองอิชิกากิ จังหวัดโอกินาวา
               โดยปะการัง มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก เพราะสามารถเป็นได้ทั้งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร ที่หลบภัย เป็นแหล่งอนุบาลสำหรับสัตว์น้ำอีกหลายชนิด และยังเป็นแหล่งศึกษาวิจัยค้นคว้าทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้สามารถส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ระดับที่เพิ่มขึ้นของน้ำทะเลนี้ ทำให้หลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้รับผลกระทบทั้งทางด้านกายภาพและชีวภาพ โดยการเกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวก็เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน เนื่องจากปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำ โดยอุณหภูมิของน้ำที่สูงขึ้นเพียง 2-3 องศาเซลเซียส สามารถส่งผลให้ปะการังตายได้
               ถ้าเราไม่เริ่มปรับพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันนี้ ผลกระทบที่ตามมาสุดท้ายจะย้อนกลับมาสู่เรา เมื่อปะการังได้รับผลกระทบ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่พึ่งพาแนวปะการังก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทำให้เราสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดี รวมทั้งเศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวอีกมากมายที่จะสูญหายไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
– กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
– โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช