Fashion ลดโลกร้อน ของมันต้องมี ที่ไม่ทำร้ายโลก
นายอันโตนิโอ กุเตอเรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวถึงผลกระทบของ “Fast fashion” ที่เป็นกระแสในปัจจุบัน ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เนื่องในวัน “International Day of Zero Waste” เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 โดยทุกวินาทีมีเสื้อผ้าในปริมาณเทียบเท่ารถขยะหนึ่งคันถูกเผาหรือฝังกลบ ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอจึงเป็นหนึ่งภาคส่วนที่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณร้อยละ 8 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก และมีการใช้น้ำในปริมาณมากราว 215 ล้านล้านลิตรต่อปี หรือเทียบเท่ากับสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิก 86 ล้านสระ อีกทั้งยังมีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตในปริมาณสูง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและระบบนิเวศ ซึ่งวิกฤตขยะจากแฟชั่นนับเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก โดยมนุษย์ทั่วโลกได้สร้างขยะมากกว่า 2 พันล้านตันต่อปี มากพอที่จะห่อหุ้มโลกได้ 25 รอบหากบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์มาตรฐาน ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นกลายเป็นจุดสนใจในปีนี้ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเสื้อผ้ามักถูกทิ้งหลังจากใช้งานเพียงไม่กี่ครั้ง โดยผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า หากสามารถยืดอายุการใช้งานของเสื้อผ้าให้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง ร้อยละ 44
การแก้ไขปัญหาขยะสิ่งทอนี้จำเป็นจะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบ ผ่านการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนและแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ผู้ผลิตควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานยาวนาน มีคุณภาพดี ลดการปนเปื้อนสารเคมี และตอบโจทย์ความยั่งยืน และในฐานะผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในห่วงโซ่การผลิตและการบริโภค สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหานี้ ด้วยการลดการบริโภคตามกระแส Fast fashion ที่มาเร็วไปเร็ว ไม่อุดหนุนเสื้อผ้าที่ไม่เน้นคุณภาพแต่เน้นการผลิตที่รวดเร็วตามเทรนด์แฟชั่นของโลก ทำให้เสื้อผ้าเหล่านี้ถูกใส่เพียงไม่กี่ครั้ง เนื่องจากมีคอลเลกชันใหม่ ๆ ผลิตและวางจำหน่ายในท้องตลาดอยู่เสมอ
Fashion ลดโลกร้อน จึงควรมุ่งให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าบนพื้นฐานของความยั่งยืน โดยเลือกซื้อเสื้อผ้าที่เน้นคุณภาพ สามารถใส่ได้บ่อย และใช้ได้ยาวนาน ผลิตจากเส้นใยที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ หลีกเลี่ยงใยสังเคราะห์แบบโพลีเอสเตอร์ที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและปล่อยไมโครพลาสติกสู่ระบบนิเวศ เน้นเสื้อผ้าที่ไม่ต้องซักบ่อย ไม่ต้องรีด มีกระบวนการผลิตในท้องถิ่นเพื่อลดการขนส่งที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควรแก้ไขและซ่อมแซมเสื้อผ้าที่ชำรุดเล็ก ๆ น้อย ๆ นำเสื้อผ้ามา mix & match หรือดัดแปลงให้ดูเป็นชุดใหม่ การเลือกซื้อเสื้อผ้ามือสอง หรือการบริจาคเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว เป็นต้น
เมื่อท่านจะเลือกซื้อหรือกดซื้อเสื้อผ้าครั้งต่อไปขอให้ท่านคิดเสมอว่า “ของมันต้องมี” ต้องมาคู่กับการที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้ความสุขชั่วขณะของเราทำร้ายโลกและลูกหลานเราในวันข้างหน้า
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
แหล่งที่มา :
(1) United Nations, 2025, International Day of Zero Waste 30 March, Towards zero waste in fashion and textiles.
(2) United Nations, 2025, Fast fashion fuelling global waste crisis, UN chief warns | UN News