ถึงเวลาปฏิรูประบบอาหาร กุญแจดอกสำคัญต่อสู้โลกเดือด

               โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตอาหารที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ประชากรบางกลุ่มขาดแคลนอาหารทั้งในปริมาณและคุณค่าทางโภชนาการ ในปี 2566 จำนวนคนที่เผชิญความไม่มั่นคงด้านอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 345 ล้านคนใน 79 ประเทศ จาก 135 ล้านคนใน 53 ประเทศก่อนเกิดโรคระบาด ขณะนี้หลายคนต้องทนทุกข์จากภาวะทุพโภชนาการซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากวิกฤตนี้ไม่ได้รับการแก้ไข (1)
               ในปัจจุบันประชากรโลกมีมากถึง 7,900 ล้านคน และคาดว่าในปี 2593 ประชากรจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านคน การผลิตอาหารในรูปแบบปัจจุบันยังเน้นการเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชสำหรับอาหาร ซึ่งต้องใช้พื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เทียบได้กับขนาดพื้นที่ของประเทศไทย 12 ประเทศ นี่คือเหตุผลที่ต้องปฏิรูประบบอาหารเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตอาหารให้เกิดความยั่งยืน และสามารถรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต (2)
               วิกฤตอาหารเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ความขัดแย้งทางการเมือง สงคราม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และราคาอาหารที่สูงขึ้น โดยวิกฤตปัจจุบันได้รับผลกระทบจากสงครามในยูเครนและการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ราคาอาหาร เชื้อเพลิง และปุ๋ยพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น ภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ ไฟไหม้ และน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหาร และความมั่นคงทางอาหารในหลายภูมิภาค (1)
               ปัญหาเหล่านี้ทวีความรุนแรง ในขณะที่อาหารกว่าหนึ่งในสามของการผลิตทั่วโลกต้องสูญเปล่า หรือคิดเป็นปริมาณมหาศาลถึง 1,300 ล้านตันต่อปี ความสูญเสียนี้เกิดขึ้นในทุกประเภทอาหาร ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม อาหารทะเล หรือธัญพืช โดยบางส่วนเสียหายตั้งแต่ยังอยู่ในฟาร์ม บางส่วนเน่าเสียระหว่างขนส่ง และอีกจำนวนมากถูกทิ้งจากโรงแรม ร้านอาหาร และครัวเรือน ปัญหานี้ไม่เพียงสะท้อนถึงการสูญเสียทรัพยากรอันมีค่าเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศในวงกว้าง (3)
               การผลิตอาหารต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล ทั้งพลังงานและน้ำ ตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การขนส่ง ไปจนถึงการบรรจุหีบห่อ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่ออาหารเน่าเสียและไปจบในหลุมฝังกลบยังปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่รุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ การลดขยะอาหารเพียงอย่างเดียวสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกได้ถึง 6-8% ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาเพียงแห่งเดียว การผลิตอาหารที่สูญเปล่าก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมูลค่าเทียบเท่ากับรถยนต์ 32.6 ล้านคัน (3)
               ระบบอาหารของโลกตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการบริโภค มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงหนึ่งในสาม โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 25% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด ในขณะที่สหประชาชาติได้ประกาศว่า พันธกรณีระดับโลกในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5°C (4)
               การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเป็นกลยุทธ์สำคัญในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอาหารในระดับสูง การลดการบริโภคอาหารที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูง เช่น เนื้อแดงและผลิตภัณฑ์จากนม สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 29% (4)
               นอกจากนี้ การควบคุมการบริโภคมากเกินไปในภูมิภาคที่ไม่มีปัญหาความมั่นคงทางอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม การสร้างการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยแนวทางที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการพัฒนา “หลักการออกแบบทางเลือก” (Choice Architecture) ที่ออกแบบสภาพแวดล้อมให้ผู้คนเลือกทำสิ่งที่ยั่งยืนได้ง่ายขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจทางการเงินและการรณรงค์ให้ข้อมูล รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการขยะอาหาร และการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ (4)
               อีกหนึ่งวิธีคือ การเปลี่ยนไปพึ่งแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืนและสมดุลมากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มการบริโภคโปรตีนจากพืชควบคู่กับการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในระดับที่พอเหมาะ กระแส Flexitarian (คำที่ผสมระหว่าง Flexible และ Vegetarian คือการรับประทานมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืชเป็นหลัก) จึงเกิดขึ้น โดยเน้นการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของโปรตีนจากพืชสูงขึ้น โดยไม่ตัดสินใจเป็นมังสวิรัติหรือวีแกน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ตอบสนองต่อการเข้าใจ “เขตจำกัดของโลก” หรือ “Planetary Boundaries” และความสำคัญของการรักษาสุขภาพในระยะยาว (Healthspan) (2)
               การเปลี่ยนแปลงในการบริโภคอาหารดังกล่าวจะช่วยลดภาระทางสุขภาพ โดยมีการคาดการณ์ว่าหากมนุษย์หันมาบริโภคตามไกด์ไลน์ที่เหมาะสม จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ถึง 1.6 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.6 ล้านล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยลดปัญหาของโรคไม่ติดต่อและภาระทางการแพทย์ในอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญ (2)
               นอกจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อสุขภาพและความยั่งยืนแล้ว การปรับวิธีการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นก็มีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเช่นกัน โดยเฉพาะการจัดการปศุสัตว์แบบใหม่ เช่น การเปลี่ยนสูตรอาหารสัตว์ การเพิ่มอาหารเสริม และการปรับปรุงพันธุ์อย่างมีเป้าหมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากกระบวนการหมักในลำไส้ของสัตว์ นอกจากนี้ การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้ถ่านชีวภาพ (ไบโอชาร์) ก็ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และกักเก็บคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ (4)
               อีกหนึ่งวิธีที่ได้รับการแนะนำคือ การเพาะปลูกแบบไม่ไถพรวนดิน (No-till Farming) ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในดิน โดยการขุดหลุมหยอดเมล็ดแทนการไถพรวน การไม่ไถดินช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ประหยัดต้นทุนเครื่องจักร และลดมลพิษจากการใช้เชื้อเพลิงดีเซล แม้ว่าผลผลิตจะลดลงในช่วงแรก แต่ดินที่ไม่ถูกรบกวนจะช่วยเพิ่มการเติบโตของพืชในระยะยาว ซึ่งวิธีนี้สามารถ +ลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 30% (5)
               การประชุมนวัตกรรมการเกษตรและอาหารโลก 2024 (WAFI 2024) ที่กรุงปักกิ่ง ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของนวัตกรรมในการพัฒนาระบบการเกษตรที่ยืดหยุ่นและรับมือกับความท้าทายจากสภาพภูมิอากาศ โดยแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น เกษตรกรรมอัจฉริยะ การผสมพันธุ์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI และระบบปศุสัตว์และสัตว์น้ำที่ยั่งยืน (6)
               ในขณะเดียวกัน เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วจากวิกฤตโลกเดือด เช่น ความแห้งแล้ง น้ำท่วม และคลื่นความร้อน ย้อนกลับมาส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลผลิตทางการเกษตร ปศุสัตว์ และการประมง นำไปสู่การหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานอาหารและราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น การแก้ปัญหาต้องอาศัยมาตรการเร่งด่วน เช่น การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน การลดภาษีการนำเข้าอาหาร ควบคู่ไปกับนวัตกรรม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ การจัดการขยะอาหารและการสูญเสียตลอดห่วงโซ่การผลิตก็เป็นส่วนสำคัญในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (1)
               ในประเทศไทย ภาคเกษตรกรรมเผชิญความเสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น เอลนีโญ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาคเกษตรมูลค่ากว่า 2.85 ล้านล้านบาท หากไม่ได้รับการแก้ไข ภาคใต้และภาคตะวันออกเสี่ยงจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในปี 2588 ส่งผลต่อการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก เพื่อรับมือกับปัญหานี้จำเป็นต้องสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิต การให้ความรู้เพื่อลดผลกระทบ การเลือกปลูกพืชที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำ และการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาคุณภาพผลผลิต (1)
               การปฏิรูประบบอาหารไม่ใช่เพียงทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะช่วยรักษาโลกใบนี้ให้น่าอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไป แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงอาจดูเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ แต่ทุกการกระทำ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้บริโภค ไปจนถึงภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศ ด้วยการผสมผสานนวัตกรรมทางการเกษตร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และการปฏิรูประบบอาหารที่สามารถสร้างยั่งยืน ล้วนมีความสำคัญในการสร้างอนาคตที่ดีสำหรับทุกคน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) iGreen, ภาวะโลกร้อนเขย่าวิกฤตอาหารโลก ผลผลิตลด คนหิวโหย อันตรายถึงชีวิต
(2) iGreen, ปลุกกระแส ‘ปฏิรูประบบอาหาร’ ลดก๊าซมีเทนรับมือ Climate Change
(3) Fight climate change by preventing food waste., WWF.
(4) The food system is a vital part of the climate solution., Global Food Security : The UK cross-government programme on food security.
(5) SDG Move : Moving Towards Sustainable Future., วิธีการเพาะปลูกแบไม่ไถพรวนดิน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มปริมาณคาร์บอนที่เก็บในดิน
(6) China Focus : Chinese, foreign experts call for agricultural sci-tech innovation to combat climate change., XinhuaNet.

ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาประกวดราคาจ้างผลิตและเผยแพร่ภาพยนตร์สั้นสร้างกระแสสังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ e-bidding

ข้อมูลสาระสำคัญในสัญญา (ใบสั่งจ้าง สลก.36/2568) จ้างดำเนินการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลฯ (มหาวิทยาลัยรังสิต) โดยวิธีเฉพาะเจาะจง

ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา จ้างมหาวิทยาลัยรังสิตดำเนินการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการและดำเนินการสรรหาและเลือกสรรพนักงานราชการทั่วไป โดยวิธีเฉพาะเจาะจง

กรมลดโลกร้อน เปิดเวทีปรับปรุงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ยกระดับมาตรการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Adaptation)

               วันอังคารที่ 11 มีนาคม 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัท แอดเวนเทจ คอนซัลติ้ง จำกัด ที่ปรึกษาโครงการ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือการปรับปรุงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ครั้งที่ 3 : การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Adaptation) ยกระดับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์และทิศทางระดับโลก โดยมี นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ
               การหารือในครั้งนี้ มีการนำเสนอข้อมูลการทบทวนเป้าหมาย นโยบายด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยและในระดับสากล และแนวทางมาตรการ กลไกด้านการปรับตัวฯ ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ และแผนในระดับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้าร่วมประชุม เกี่ยวกับการพัฒนาและปรับปรุงร่างมาตรการและกลไกด้านการปรับตัวฯ และการมีส่วนร่วมทางสังคม เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางการดำเนินงานสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือการปรับปรุงแผนแม่บทฯ จะมีกำหนดจัดขึ้นครั้งต่อไป ครั้งที่ 4 ประเด็นด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ในวันที่ 21 มีนาคม 2568 ซึ่งหลังจากนี้จะมีการสรุปการจัดทำแผนแม่บทฯ ในภาพรวมพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

เดนมาร์กรักษ์โลกไม่รู้จักเบื่อ เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน พลิกเมืองสู่ความยั่งยืน

               ในยุคที่ขยะล้นเมืองและปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องใหญ่ทั่วโลก กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก สามารถหาวิธีการจัดการขยะได้อย่างสร้างสรรค์และเป็นมิตรกับทั้งคนและโลก เมืองนี้ไม่ได้มองว่าขยะคือภาระ แต่เป็นทรัพยากรที่สามารถเปลี่ยนให้กลายเป็นพลังงานสะอาดได้ และยังสร้างความสนุกสนานให้กับผู้คนในเวลาเดียวกัน (1)
               เป้าหมายใหญ่ของโคเปนเฮเกนคือ การเป็นเมืองปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี 2025 (พ.ศ. 2568) ซึ่งนั่นทำให้ “CopenHill” (โคเปนฮิลล์) หรือ “Amager Bakke” โรงงานผลิตพลังงานจากขยะที่ใหญ่ที่สุดและสะอาดที่สุดที่มนุษย์เคยสร้าง กลายเป็นหัวใจสำคัญของแผนการนี้ (1)
               CopenHill ไม่ใช่แค่โรงเผาขยะธรรมดา แต่มีนวัตกรรมสุดล้ำ เป็นพื้นที่ที่ดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวและชาวเมืองให้มาสัมผัสความสนุกสนานแบบยั่งยืน ภายในโรงงานมีเนินสกีเทียมที่เล่นได้ตลอดทั้งปี เส้นทางวิ่ง และผนังปีนผาที่สูงที่สุดในโลกถึง 100 เมตร นอกจากนี้ยังปลูกต้นไม้บนดาดฟ้า เปลี่ยนโรงงานที่ดูออกจะน่าเบื่อให้กลายเป็นจุดเช็กอินสุดคูล การออกแบบนี้มาจากแนวคิด “Hedonistic Sustainability” หรือการผสมผสานความสุขกับความยั่งยืน เพราะ Bjarke Ingels สถาปนิกผู้ออกแบบเชื่อว่า ความยั่งยืนไม่จำเป็นต้องน่าเบื่ออีกต่อไป (1)
               ในแง่การทำงาน CopenHill คือโรงงานเผาขยะที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สามารถเผาขยะได้ถึง 485,000 ตันในทุก ๆ ปี และเปลี่ยนพลังงานจากขยะเหล่านี้ให้กลายเป็นไฟฟ้าป้อนครัวเรือนได้กว่า 30,000 ครัวเรือน และความร้อนที่ส่งตรงถึงบ้านเรือนกว่า 72,000 ครัวเรือน สิ่งที่น่าทึ่งกว่าก็คือไม่มีสารพิษหรือมลพิษเล็ดลอดออกมาจากปล่องโรงงาน มีเพียงไอน้ำสะอาดที่ลอยออกไปในอากาศเท่านั้น (1)
               หนึ่งในจุดเด่นของ CopenHill คือการเชื่อมโยงระบบผลิตพลังงานกับระบบทำความร้อนเขตพื้นที่ (District Heating System) ที่ครอบคลุมทั้งเมืองโคเปนเฮเกน ขณะที่ก๊าซไอเสียจากการเผาขยะถูกทำให้เย็นลงโดยใช้เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน พลังงานความร้อนที่เหลือจึงถูกส่งตรงไปยังบ้านเรือนในเมืองถึง 99% ทำให้เดนมาร์กสามารถลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในฤดูหนาวลงได้อย่างมาก (1)
               การสร้างโรงงานในพื้นที่ใกล้ชุมชนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่โคเปนเฮเกนสามารถรับมือได้อย่างชาญฉลาด โดย CopenHill ถูกออกแบบให้กลมกลืนกับวิถีชีวิตของผู้คน ด้วยพื้นที่สันทนาการบนดาดฟ้า เช่น ลานสกีและสวนสาธารณะ ซึ่งไม่เพียงลดความขัดแย้ง แต่ยังทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอย่างแท้จริง ตั้งแต่การจัดการเศษอาหารไปจนถึงขยะอันตราย ก่อนนำเข้าสู่ระบบการเผาที่สามารถนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (2)
               CopenHill ยังเป็นตัวอย่างของการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการคัดแยกขยะที่เข้มงวดตั้งแต่แหล่งกำเนิด ก่อนนำเข้าสู่ระบบการเผาที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ระบบ DynaGrate® ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ ลดมลพิษ และกู้โลหะจากขยะเพื่อรีไซเคิลได้อย่างคุ้มค่า โดยในปี 2020 CopenHill สามารถเปลี่ยนขยะจำนวน 599,000 ตันให้กลายเป็นพลังงานความร้อนและไฟฟ้า ซึ่ง 23% ของขยะทั้งหมดมาจากเชื้อเพลิงขยะที่ถูกเผา ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ (2)
               อีกทั้งเทคโนโลยีทำความสะอาดก๊าซไอเสียยังช่วยลดสารตกค้างที่เป็นของแข็งถึง 45% และสามารถกู้น้ำคืนได้ 100 ล้านลิตรต่อปี รวมทั้งยังสามารถนำขี้เถ้าจากการเผา 100,000 ตัน มาใช้เป็นวัสดุในการทำถนนได้อีกด้วย (1)(2)
               โรงงานแห่งนี้ไม่ได้จำกัดการจัดการขยะเฉพาะในเดนมาร์ก แต่ยังรับขยะจากประเทศอื่น ๆ ด้วย เช่น สหราชอาณาจักร ที่มีปัญหาหลุมฝังกลบล้น ขยะเหล่านั้นถูกนำมาเปลี่ยนเป็นพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดย CopenHill สามารถเผาขยะได้เฉลี่ยถึง 560,000 ตันต่อปี และยังมีแผนติดตั้งระบบดักจับคาร์บอนที่คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 500,000 ตันต่อปี ซึ่งเป็นการยกระดับความยั่งยืนไปอีกขั้น (3)
               อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของเดนมาร์กไม่ได้อยู่แค่โรงงานเผาขยะ เรื่องเล็ก ๆ อย่างการลดการใช้พลาสติกก็เป็นจุดที่ทำให้คนทั้งโลกต้องยกนิ้วให้ ตั้งแต่ปี 1993 เดนมาร์กได้ออกกฎหมายเก็บภาษีถุงพลาสติก ทำให้ปัจจุบันคนเดนมาร์กใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งเพียง 4 ใบต่อปี และใช้ถุงซ้ำมากขึ้นอย่างน่าประทับใจ การรีไซเคิลขวดและกระป๋องก็เป็นอีกเรื่องที่คนเดนมาร์กทำจนเป็นนิสัย ด้วยระบบคืนเงินที่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการลดขยะ (4)
               โพลสำรวจในปี 2017 พบว่า ชาวเดนมาร์กกว่า 68% สนับสนุนแนวทางการรีไซเคิลพลาสติกและมองว่าเป็นเรื่องดี โครงการนำถุงพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำของซุปเปอร์มาร์เก็ตยังสร้างความสำเร็จจนประเทศอื่น ๆ ต้องทำตาม ซึ่งเป็นอีกตัวอย่างของการสร้างสรรค์ที่ทำให้เดนมาร์กเป็นผู้นำด้านการลดขยะ (4)
               CopenHill จึงไม่ได้เป็นเพียงโรงงานเผาขยะธรรมดา แต่เป็นสัญลักษณ์ของการจัดการเมืองที่มองไปข้างหน้า โคเปนเฮเกนแสดงให้โลกเห็นว่า การจัดการขยะสามารถกลายเป็นโอกาสในการสร้างพลังงาน สร้างความสนุก และเชื่อมโยงชุมชนเข้าด้วยกันได้อย่างน่าทึ่ง เดนมาร์กจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกเมืองทั่วโลกมุ่งสู่ความยั่งยืนในแบบที่ไม่เคยรู้สึกเบื่อ

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) National Geographic, Sustainability, โคเปนเฮเกน (Copenhagen) เมืองที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากโรงเผาขยะที่สะอาดและสนุกที่สุดในโลก, โคเปนเฮเกน เส้นทางสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2025 ด้วยการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และ CopenHill โรงงานผลิตพลังงานจากขยะที่ปลอดมลพิษที่สุดในโลก
(2) Waste-to-Energy and Social Acceptance : Copenhill WtE plant in Copenhagen., IEA Bioenergy : Task 36, IEA Bioenergy : Technology Collaboration Programme.
(3) Amager Bakke : A Look into the Future of Waste Incineration., Business & Environment, Harvard Business School.
(4) National Geographic, Sustainability, ชีวิตคนเดนมาร์กใช้พลาสติกน้อยมาก พวกเขาทำได้อย่างไร?, ชีวิตคนเดนมาร์ก ใช้พลาสติกน้อยมาก พวกเขาทำได้อย่างไร?

สส.กิจกรรมเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา (ครั้งที่ 1 วันมาฆบูชา)

วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ฯ รับฟังบรรยายธรรมเรื่อง ธรรมะอารมณ์ดีกับการลดโลกร้อน โดย พระสุธีวชิรปฏิภาณ (วีรพล) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ถือเป็นการสืบสานวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่ดีงาม เกิดทัศนคติที่ดีในการอยู่ในสังคม มีจิตใจเกื้อกูล สงบสุขร่มเย็น โดยมีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมฯจำนวน 60 คน

ประกาศเลขที่ 33/2568 ประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการจ้างปรับปรุงพื้นที่ สำหรับจัดทำห้องศูนย์เรียนรู้และวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมติดตั้ง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)

ทส. ร่วม ก.พ. จัดการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2568 ขานรับนโยบายรัฐบาล พร้อมสนับสนุนทุกหน่วยงานขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

               วันนี้ (10 มีนาคม 2568) เวลา 11.30 น. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2568 ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และคณะผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงฯ ให้การต้อนรับ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมฯ และหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ที่เข้าร่วมประชุมฯ เพื่อรับมอบนโยบายสำคัญจากนายกรัฐมนตรี
               โดย นายจตุพร ปลัด ทส. ได้กล่าวขอบคุณทุกส่วนราชการที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ผ่านมาให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ทั้งการปรับปรุงอัตรากำลังและโครงสร้างของหน่วยงานในกระทรวงฯ การผลักดันกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนงบประมาณโครงการตามเป้าหมายภารกิจของ ทส. ทุนการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงร่วมผลักดันการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญต่าง ๆ อาทิ การจับกุมดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแก้ไขปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการจัดการขยะมูลฝอย ปัญหามลพิษ และการจัดการน้ำเสีย โดย ทส. ได้เตรียมพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานต่อไป ทั้งการจัดทำแผนที่ธรณีพิบัติภัย แผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่ม ข้อมูลการแจ้งเตือนภัยพิบัติ การเร่งรัดการอนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 และล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 รวมถึงการสนับสนุนการจัดหาน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนให้พื้นที่ขาดแคลน การสนับสนุนกล้าไม้ให้กับประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานต่อไป
               ทั้งนี้ มีประเด็นที่ ทส. ขอความร่วมมือจากทุกส่วนราชการเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน อาทิ การร่วมผลักดันเป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะต้องบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้บันทึกความร่วมมือ 7 กระทรวง การผลักดัน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกองทุน Climate Fund การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ทั้งในพื้นที่เมือง พื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า รวมถึงการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งการจัดการขยะมูลฝอยโดยการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ การจัดการของเสียอันตรายในสถานประกอบการ และการจัดการน้ำเสียชุมชนและโรงงานอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังขอให้ทุกส่วนราชการร่วมกันปลูกป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนและภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการปลูกป่าและปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมและสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น และประชาชน ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

การพึ่งพาเทคโนโลยีลดคาร์บอน นวัตกรรมโอบอุ้มโลกสู่ Net Zero

               ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ภัยแล้ง น้ำท่วม และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดบ่อยและรุนแรงมากขึ้น ปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลก (1) เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว การดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ. 2050) จึงเป็นพันธกิจเร่งด่วนที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมทั่วโลกต้องร่วมมือกันผลักดัน
               ความหวังสำคัญในการรับมือความเปลี่ยนแปลงที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นนี้คงต้องพึ่งพาการพัฒนา “เทคโนโลยีลดคาร์บอน” ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหา หนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญคือ การกักเก็บอากาศโดยตรง (Direct Air Capture: DAC) ซึ่งสามารถช่วยดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศและนำไปผลิตวัสดุที่ยั่งยืน เช่น เชื้อเพลิงและคอนกรีต DAC นั้นมีความสามารถพิเศษในการลดการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรมหนักและการขนส่งทางไกล แม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ยังมีต้นที่ทุนสูง แต่คาดว่าด้วยการเรียนรู้จากการใช้งานจริง ต้นทุนจะค่อย ๆ ลดลงจนอยู่ในระดับที่คุ้มค่าในอนาคต (2)
               เทคโนโลยีที่โดดเด่นอีกด้านคือ การหลีกเลี่ยงการปล่อยคาร์บอน (Carbon Avoidance Technologies) ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าและวัตถุดิบที่ปราศจากคาร์บอนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ซีเมนต์และเหล็ก เทคโนโลยีนี้ไม่เพียงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทันที แต่ยังลดความยุ่งยากในการจัดการคาร์บอนหลังการปล่อยออกสู่บรรยากาศ (2)
               พลังงานหมุนเวียนและการจัดเก็บพลังงานระยะยาว (Long-Duration Energy Storage: LDES) เป็นอีกทางเลือกและเป็นหัวใจสำคัญของระบบพลังงานสะอาด ซึ่ง LDES ช่วยกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์และลมในระยะยาวเพื่อนำมาใช้ในช่วงที่การผลิตพลังงานไม่ต่อเนื่อง เทคโนโลยีนี้ยังช่วยลดต้นทุนพลังงานไฟฟ้าและเพิ่มเสถียรภาพของโครงข่ายพลังงานในระดับโลก (2)
               ในขณะเดียวกันที่นวัตกรรมการจัดการขยะ อย่างเครื่องแปลงเศษอาหารเป็นดินอินทรีย์ และตู้รับคืนขยะรีไซเคิลอัตโนมัติก็สามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากขยะต้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างในประเทศไทย เช่น เครื่องแปลงเศษอาหารเป็นปุ๋ยใน 24 ชั่วโมง ไม่เพียงลดปริมาณขยะมูลฝอย แต่ยังลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากหลุมฝังกลบอีกด้วย (3)
               อีกหนึ่งเทคโนโลยีใหม่ที่มีศักยภาพสูงคือ พลังงานไฮโดรเจนสะอาด ซึ่งจะต้องเพิ่มการผลิตถึง 7 เท่าภายในปี 2593 เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (4) ขณะที่แหล่งพลังงานสะอาดที่รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมีต้นทุนลดลงอย่างมากจากการพัฒนาของเทคโนโลยี ทำให้สามารถแข่งขันกับพลังงานฟอสซิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ (5)
               ในภาคอุตสาหกรรม Green Steel ก็เป็นอีกนวัตกรรมที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง โดยโครงการ HybriT ในสวีเดนได้พัฒนากระบวนการผลิตเหล็กแบบใหม่ที่ใช้ไฮโดรเจนแทนถ่านหิน ซึ่งถือเป็นการพลิกโฉมการผลิตเหล็กในระดับโลก กระบวนการดังกล่าวช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้สวีเดนสามารถพัฒนาเหล็กรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า เหล็กกล้าสีเขียว (Green Steel) ซึ่งเป็นการผลิตเหล็กโดยไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลใด ๆ ทั้งสิ้น (6)
               ปัจจุบัน HybriT ยังได้พัฒนาโรงเก็บไฮโดรเจนต้นแบบที่ลึกกว่า 30 เมตรใต้ดิน ซึ่งสามารถกักเก็บไฮโดรเจนได้ถึง 100 ลูกบาศก์เมตร และมีแผนเพิ่มความจุเป็น 120,000 ลูกบาศก์เมตรในอนาคต สวีเดนคาดการณ์ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศลงได้ถึง 10% และตั้งเป้าส่งออก Green Steel สู่ตลาดอุตสาหกรรมในปี 2569 (6)
               อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญของเทคโนโลยีลดคาร์บอน คือการพัฒนาจนสามารถนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแพร่หลาย โดยรายงานของ International Energy Agency (IEA) ระบุว่า 35% ของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่ได้เปิดตัวในตลาด (5)
               ความก้าวหน้าและความสำเร็จของเทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน เช่น การกำหนดราคาคาร์บอน การสนับสนุนทางการเงิน และการกำหนดมาตรฐานที่ส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่น โครงการ ReFuelEU Aviation ของสหภาพยุโรปที่บังคับใช้สัดส่วนเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนในสนามบิน (SAF) เพื่อกระตุ้นความต้องการและการลงทุน (5)
               สำหรับในประเทศไทย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566–2570) ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เน้นการใช้ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต” สร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมและบริการ พร้อมส่งเสริมการลดมลพิษและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมผ่านการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น การรีไซเคิลและพลังงานสะอาด เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน และการลดก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด (7)
               อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยียังมีบทบาทสำคัญในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้ระบบสารสนเทศดูแลป่าไม้และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แผนฯ ดังกล่าวยังมุ่งลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเร่งด่วน เช่น การลดขยะพลาสติกและฝุ่น PM2.5 และการลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2573 ตามความตกลงปารีส (7)
               ความท้าทายการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษที่เพิ่มขึ้น นอกจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง การนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะช่วยสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม หากผลักดันสำเร็จได้ตามเป้าหมาย ประเทศไทยก็จะเป็นผู้นำในภูมิภาคและสามารถสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับคนรุ่นถัดไปได้ (7)

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) Droughts and floods in a changing climate and implications for multi-hazard urban planning., ScienceDirect.
(2) These new technologies will accelerate the transition to net zero., Emerging Technologies., World Economic Forum.
(3) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม, 3 เทคโนโลยีลดคาร์บอนจาก..ขยะ
(4) Delivering the climate technologies needed for net zero., McKinsey Sustainability.
(5) Why climate tech is key to net zero., CFA Institute.
(6) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, รวม 5 นวัตกรรมสิ่งแวดล้อม พร้อมกู้โลกจาก Climate Change.
(7) ฐานเศรษฐกิจ, ทิศทางขับเคลื่อน “สังคมคาร์บอนต่ำ” ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13