รับสมัครลูกจ้างเหมาบริการ ตำแหน่ง นักวิชาการเงินและบัญชี 1 ตำแหน่ง (สำนักงานเลขานุการกรม) อัตราเงินเดือน 15,000 บาท ระยะเวลารับสมัครตั้งแต่ 25 เมษายน – 10 พฤษภาคม 2568

กรมลดโลกร้อน เปิดตัว “SAVE THE EARTH GAME” ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ สู้วิกฤตโลกเดือด

               วันที่ 22 เมษายน 2568 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดกิจกรรม “SAVE THE EARTH GAME” บอร์ดเกมพิชิตโลกเดือด เสริมสร้างกระบวนการคิด วิเคราะห์ วางแผนแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้แก่คนรุ่นใหม่ โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม พร้อมด้วยผู้บริหารกรมฯ วิทยากร และมีผู้เข้าร่วมอบรมที่ผ่านการคัดเลือก 27 ทีม รวม 60 คน เข้าร่วมพิธีเปิด ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
               ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สภาพอากาศรุนแรง (Extreme Weather Events) ยังคงเป็นหนึ่งในภัยคุกคามหลักของโลก โดยเป็นอันดับที่ 2 ของความเสี่ยงในปี 2025 และอันดับ 1 ของความเสี่ยงระยะยาวในปี 2035 สะท้อนให้เห็นว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยังคงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในทศวรรษหน้า ซึ่งเมื่อปี 2024 ที่ผ่านมาเป็นปีที่โลกเผชิญกับภัยพิบัติทางสภาพอากาศอย่างหนัก ทั้งการเกิดคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในเอเชีย การเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในบางพื้นที่ รวมถึงน้ำท่วมครั้งใหญ่จากฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง อีกทั้ง การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของระบบโลก (Critical Change to Earth Systems) ก็กำลังเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอัตราการละลายของธารน้ำแข็งที่เพิ่มสูงขึ้นและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปรากฏการณ์เหล่านี้กำลังส่งผลให้เมืองชายฝั่งหลายแห่งทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมถาวร จึงอยากขอให้ทุกคนเห็นความสำคัญกับการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกำลังส่งกระทบรุนแรงและใกล้ตัวพวกเรามากขึ้นในทุกขณะ ประกอบกับวันนี้เป็นวันสำคัญทางสิ่งแวดล้อมอีกวันหนึ่ง ได้แก่ “วันคุ้มครองโลก” (Earth Day) ที่ตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี โดยในปี 2025 นี้ ทั่วโลกได้ร่วมกันรณรงค์ ภายใต้แนวคิด “พลังของเรา โลกของเรา: Our Power, Our Planet” ซึ่งกิจกรรม “SAVE THE EARTH GAME” บอร์ดเกมพิชิตโลกเดือด นับว่าเป็นกิจกรรมที่สามารถช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างกระแสสังคมให้เข้าถึงประชน โดยเฉพาะเยาวชนครุ่นใหม่ได้ โดยเกมที่ชนะการประกวดในครั้งนี้ กรมลดโลกร้อน จะนำไปพัฒนาเป็นรูปแบบออนไลน์ เพื่อใช้เป็นสื่อในการเรียนรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดและนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป
               สำหรับ การจัดกิจกรรม “SAVE THE EARTH GAME” บอร์ดเกมพิชิตโลกเดือด มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเครื่องมือการเรียนรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมซึ่งจะสามารถพัฒนากระบวนการคิด และนำมาปรับใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ รวมทั้งสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่าย เสริมสร้างกระบวนการในการคิด วิเคราะห์ และวางแผนในการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมต่อไป โดยกำหนดให้มีการอบรมสร้างความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างบอร์ดเกม ระหว่างวันที่ 22 – 23 และ 29 เมษายน 2568 ให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 27 ทีม รวม 60 คน และจะมีการตัดสินผลงาน ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 ซึ่งการประกวดในครั้งนี้ ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล มูลค่า 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จำนวน 1 รางวัล มูลค่า 25,000 บาท พร้อมโล่รางวัล รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 จำนวน 1 รางวัล มูลค่า 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และ รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล มูลค่า 5,000 บาท รวมมูลค่าเงินรางวัลกว่า 100,000 บาท

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน ขอเชิญเข้าร่วมอบรมหลักสูตรออนไลน์ การจัดการของเสียเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

Continue reading “กรมลดโลกร้อน ขอเชิญเข้าร่วมอบรมหลักสูตรออนไลน์ การจัดการของเสียเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”

กรมลดโลกร้อน เปิดรับสมัคร เจ้าหน้าที่วิเคราะห์โครงการ (วุฒิปริญญาโท จำนวน 1 ตำแหน่ง) ทำงาน ณ กลุ่มบัญชีก๊าซเรือนกระจก กองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก

กรมลดโลกร้อนร่วมงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ฮิจเราะห์ศักราช 1446 “ตามรอยนบี วิถีศรัทธา นำพาสังคม สู่สันติสุข”

               วันที่ 18 เมษายน 2568 ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปี 2568 ณ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้บริหารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมร่วมถวายรายงานเนื่องในโอกาสที่กรมลดโลกร้อนร่วมจัดแสดงนิทรรศการงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ฮิจเราะห์ศักราช 1446 “ตามรอยนบี วิถีศรัทธานำพาสังคม สู่สันติสุข” เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในยุคโลกเดือด” ประกอบด้วย โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จำนวน 10 โครงการ การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน ก๊าซเรือนกระจกสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ดัชนีชี้วัดความเสี่ยงสูงจากสภาพอากาศสุดขั้ว (Climate Risk Index) แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเปลี่ยนจากภาวะโลกร้อน เข้าสู่ยุคโลกเดือด และโครงการส่งเสริมและพัฒนาการจัดการสิ่งแวดล้อมในสมัสยิด หรือ มัสยิดสีเขียว ดำเนินกิจกรรมเพื่อให้ศาสนสถานสามารถเป็นต้นแบบและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมให้กับชาวมุสลิมและชุมชนโดยรอบให้เตรียมพร้อมตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขยายเป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ขอเชิญบุคคล นิติบุคคล บริษัทเอกชน หรือหน่วยงานภาครัฐที่มาติดต่อราชการ หรือเคยมารับบริการ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสระดับชาติ

               กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ขอเชิญบุคคล นิติบุคคล บริษัทเอกชน หรือหน่วยงานภาครัฐที่มาติดต่อราชการ หรือเคยมารับบริการกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสระดับชาติ โดยให้คะแนนการบริหารงานการปฏิบัติงานของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยสามารถตอบแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (EIT) ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ได้ที่ https://itas.nacc.go.th/go/eit/4wjstd หรือวิธีการง่ายๆ เพียงสแกน QR Code 

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานจริยธรรม 0 2278 8400 ต่อ 1909, 1954

Climate Risk Index (CRI) ดัชนีชี้วัดประเทศเสี่ยงสูงจากสภาพอากาศสุดขั้ว

• CRI ดำเนินงานโดย Germanwatch ก่อตั้งปี 1991 เป็น NGO ด้านการพัฒนาและสภาพภูมิอากาศที่ทรงอิทธิพลมาร่วม 30 ปี
• มีบทบาท คือการวิเคราะห์และจัดอันดับประเทศเสี่ยงสูงจากสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น พายุ น้ำท่วม คลื่นความร้อน และภัยแล้ง
• ใช้ฐานข้อมูล จากจำนวนผู้เสียชีวิต ความเสียหายทางเศรษฐกิจ และจำนวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
• ใช้วิธีการประเมินผลย้อนหลัง แสดงระดับผลกระทบของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในช่วงสองปีก่อนการเผยแพร่ดัชนี และในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
• มีประสบการณ์กว่า 30 ปี ดำเนินโครงการสำเร็จมาแล้วกว่า 650 โครงการ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายด้านสภาพอากาศและการพัฒนาในเยอรมนีและยุโรป
• Christoph Bals ทำหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย Germanwatch ที่มีบทบาทสำคัญในการนำองค์กรมุ่งเน้นประเด็นการพัฒนาและสภาพภูมิอากาศตั้งแต่แรกเริ่ม

ไทยพ้นกลุ่มเสี่ยง 10 อันดับแรก
               • Climate Risk Index 2025 ระบุว่า ปี 2022 ประเทศไทยมีค่าดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศอยู่ที่ อันดับ 72 ลดลงจาก อันดับ 34 ในปี 2019
               • ดัชนีระยะยาว (1993-2022) ไทยอยู่ในอันดับ 30 ลดลงจากอันดับ 9 ในช่วงปี 2000-2019 แสดงให้เห็นว่าผลกระทบจากสภาพอากาศสุดขั้วของไทยลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่เผชิญความสูญเสียรุนแรงขึ้น
               • ประเทศไทยเคยติด 10 อันดับแรกของประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในหลายช่วงเวลา เช่น
                    ● อันดับ 9 ในช่วงปี 1995-2014
                    ● อันดับ 10 ในช่วงปี 1998-2017
                    ● อันดับ 8 ในช่วงปี 1999-2018
                    ● อันดับ 9 ในช่วงปี 2000-2019

โลกรวนรุนแรงขึ้น
               • Climate Risk Index 2025 ชี้แนวโน้มภัยพิบัติทางธรรมชาติทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
               • ช่วงปี 1993-2022 มีการบันทึกเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วมากกว่า 9,400 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 765,000 ราย และก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจรวมกว่า 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
               • สัดส่วนผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ พายุ (35%) คลื่นความร้อน (30%) และอุทกภัย (27%)
               • พายุเป็นสาเหตุที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากที่สุด = 2.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 56% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมาอุทกภัย = 1.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 32% ของความเสียหายทั้งหมด
               • CRI 2025 เปิดชื่อ 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสภาพอากาศสุดขั้วในปี 2022 ได้แก่ ปากีสถาน เบลีซ อิตาลี กรีซ สเปน เปอร์โตริโก สหรัฐอเมริกา ไนจีเรีย โปรตุเกส และบัลแกเรีย ตามลำดับ
               • ปากีสถานได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ผู้เสียชีวิตกว่า 1,700 คน ส่วนอิตาลีและกรีซเผชิญคลื่นความร้อน อุณหภูมิสูงเกิน 40°C เกิดไฟป่าขนาดใหญ่
               • ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงปี 1993-2022 แบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลัก
                    -กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ผิดปกติรุนแรง เช่น โดมินิกา ฮอนดูรัส เมียนมา และวานูอาตู
                    -กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เช่น จีน อินเดีย และฟิลิปปินส์

ประเทศยากจนกระทบมากสุด
               • Climate Risk Index (CRI) เผยแพร่รายงานฉบับแรก ปี 2006 ระบุว่า ประเทศที่มีรายได้น้อยที่สุดจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศมากที่สุด
               • CRI จัดอันดับประเทศตามผลกระทบทางเศรษฐกิจและของมนุษย์ โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจะอยู่ในอันดับสูงสุด จึงสะท้อนให้เห็นว่าประเทศใดกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากโลกร้อนมากที่สุด
               • Germanwatch ยังทำงานในประเด็นอื่น ๆ เช่น การลดและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายความรับผิดชอบของภาคธุรกิจ ความมั่นคงทางอาหารและการใช้ที่ดิน การเงินที่ยั่งยืน และการฟ้องร้องด้านสภาพภูมิอากาศและสิทธิมนุษยชน ผ่านเครือข่ายอาสาสมัครและความร่วมมือกับองค์กรระดับนานาชาติ

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) GermanWatch, Climate Risk Index 2025

กรมลดโลกร้อน เดินหน้าพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาบูรณาการประเด็น Climate Change

               กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม อบรมเชิงปฏิบัติการแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนอีโคสคูล ระดับสูง (Eco-School Advance) สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา ระหว่างวันที่ 8 – 11 เมษายน 2568 ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาต่อยอด และยกกระดับการดำเนินงานที่ครอบคลุมพันธกิจของโครงการฯ ทั้ง 4 ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพันธกิจที่ 2 การจัดการเรียนรู้ด้วยการใช้กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา ซึ่งได้กำหนดให้มีการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา (รายวิชาเพิ่มเติม) ให้เหมาะสมและเท่าทันกับสถานการณ์ รวมถึงบริบทของท้องถิ่น โดยคำนึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสำคัญ
               การจัดอบรมฯ ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นางสาวระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีปิดและมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วม โดยประธานในพิธีฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาโดยใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชน ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรท้องถิ่นที่สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยสร้างความตระหนัก และการลงมือปฏิบัติเพื่อการตั้งรับ และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสถานศึกษา รวมถึงครูและผู้เรียนต่อไปได้ โดยในตอนท้ายได้กล่าวขอบคุณคณะวิทยากรที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ และให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาให้มีความถูกต้อง เหมาะสมตามหลักวิชาการ และสอดคล้องกับหลักการของโครงการฯ สำหรับการอบรมฯ ในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจาก 21 โรงเรียน รวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 50 คน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ทส. รับมอบอุปกรณ์สนับสนุนแผนปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า จาก ปตท.สผ. พร้อมเร่งแจกจ่ายเจ้าหน้าที่รับมือไฟป่า

               วันที่ 10 เมษายน 2568 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานสักขีพยานในพิธีรับมอบอุปกรณ์สนับสนุนแผนปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า พ.ศ.2568 ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. โดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ นายชยงค์ บริสุทธิ์สวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานโครงการผลิตในประเทศ ปตท.สผ. โดยมีคณะผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงฯ พร้อมด้วยนายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และผู้บริหาร ปตท.สผ. รวมถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
               สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าครั้งนี้ ทส. ได้รับการสนับสนุนจาก ปตท.สผ. ด้วยงบประมาณรวม 15 ล้านบาท เพื่อการจัดหาชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า อุปกรณ์ดับไฟป่าพร้อมยุทโธปกรณ์ อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) พร้อมกล้องตรวจจับความร้อนสำหรับการบินสำรวจ เครื่องหาพิกัดด้วยสัญญาณดาวเทียมแบบพกพา เครื่องรับ-ส่งวิทยุ เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชน ตามแผนปฏิบัติงานป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า ปี พ.ศ. 2568 ของกระทรวงฯ
               โอกาสนี้ ดร.เฉลิมชัย รมว.ทส. กล่าวขอบคุณ ปตท.สผ. ที่ให้การสนับสนุนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างต่อเนื่อง พร้อมยืนยันว่ากระทรวง ฯ จะเดินหน้าบูรณาการการทำงานแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 อย่างเข้มข้น และจะเร่งนำอุปกรณ์ที่ได้รับไปแจกจ่ายให้แก่หน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ที่กำลังเกิดเหตุไฟป่า รวมถึงจัดส่งให้พื้นที่เสี่ยงเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์ไฟป่าโดยเฉพาะในช่วง 60 วันของฤดูแล้งก่อนเข้าสู่ฤดูฝน อีกทั้งจะเดินหน้าสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ รวมถึงนำกฎหมายที่มีอยู่มาบงคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อลดปัญหาฝุ่นควันในประเทศอย่างต่อเนื่อง
               การสนับสนุนครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยความร่วมมือการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน ระหว่าง กระทรวงฯ และ ปตท.สผ. ซึ่งได้ลงนามร่วมกันเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการดำเนินงาน เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยมีความสมดุลและยั่งยืน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

“กรมลดโลกร้อน” เปิดศูนย์การเรียนรู้พื้นที่สีเขียวป่านิเวศ วัดเขาแก้ว จังหวัดจันทบุรี เปิดพื้นที่การเรียนรู้ เพิ่มพื้นที่กักเก็บคาร์บอน ลดปัญหาโลกเดือด

               เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลปะตง และวัดเขาแก้ว อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เปิดตัว “ศูนย์การเรียนรู้ พื้นที่สีเขียวป่านิเวศ (Eco Forest) และอนุรักษ์พันธุกรรมพืช วัดเขาแก้ว” เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
               โดยได้รับเกียรติจากนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีรองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานพิธี พร้อมด้วย นายวิสุทธิ์ ประกอบความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ผู้บริหารจังหวัดจันทบุรี
ผู้บริหารอำเภอสอยดาว เจ้าอาวาสวัดบ้านตาเรือง เจ้าคณะตำบลปะตง เขต 2 เจ้าอาวาสวัดวัดเขาแก้ว เครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม ณ วัดเขาแก้ว อำเภอสอยดาว จังหวัดราชบุรี
               นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมการดำเนินงานขับเคลื่อน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ อพ.สธ. ซึ่งการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ เป็นไปตามกรอบการดำเนินงานของโครงการ อพ.สธ. ได้แก่ การเรียนรู้ทรัพยากร การใช้ประโยชน์ทรัพยากร และการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร โดยวัดเขาแก้ว จะเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่มีพื้นที่สีเขียว มีความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นถิ่นของตำบลปะตง ซึ่งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นศักยภาพของวัดเขาแก้ว จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ วัดเขาแก้ว ตำบลปะตง อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เป็นศูนย์การเรียนรู้พื้นที่สีเขียวป่านิเวศ (Eco Forest) และอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน โรงเรียน และหน่วยงานต่างๆ ศึกษาพันธุกรรมพืชและความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากวัดเขาแก้ว เป็นพื้นที่สาธารณะที่คนในชุมชนบ้านเขาแก้ว หมู่ที่ 6 องค์การบริหารส่วนตำบลปะตง ศูนย์เรียนรู้ชุมชนคาร์บอนต่ำ และหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมมือกันเพิ่มพื้นที่สีเขียว ดูแลต้นไม้อย่างต่อเนื่อง และเก็บข้อมูลต้นไม้ เพื่อประเมินปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกของต้นไม้บนพื้นที่ 4 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา (7,376 ตรม.) สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ได้ 379.25 (tCO2e) เหมาะสมในการเป็นพื้นที่ต้นแบบการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ปลูกฝังให้เยาวชนและประชาชนตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของทรัพยากร เกิดความรักและหวงแหน จนนำไปสู่การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันดูแลรักษาพื้นที่สีเขียว เพิ่มพื้นที่กักเก็บคาร์บอน ช่วยลดมลพิษและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ ตลอดจนเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่พื้นที่อื่น ๆ นำไปขยายผลเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ของตนเองต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”