เดือน: มีนาคม 2568
โจทย์ท้าทายประเทศไทย เปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.7 องศาเซลเซียสในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา และอาจเพิ่มขึ้นถึง 6.4 องศาเซลเซียส ในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 21 (1) ขณะที่ในปี 2568 มีการคาดการณ์ว่า อุณหภูมิพื้นผิวโลกจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 1.29-1.53 องศาเซลเซียส (2)
แนวคิด “เมืองคาร์บอนต่ำ” หรือ Low Carbon City จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเน้นการจัดการในระดับพื้นที่เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซจากเขตเมือง ซึ่งคิดเป็น 70% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด แนวทางนี้ไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซ แต่ยังเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย (1)
ในประเทศไทยเริ่มมีการส่งเสริมการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับเมือง แต่ยังขาดการนำแนวทางนี้ไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังไม่แพร่หลายมากนัก แม้มีเมืองต้นแบบอย่างเช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ และเกาะสมุย แต่การดำเนินงานยังขาดการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ส่งผลให้การขับเคลื่อนเมืองคาร์บอนต่ำยังไม่ชัดเจน (1)
การพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำจึงต้องเริ่มจากการสร้างความตระหนักรู้กับประชาชน และการใช้เทคโนโลยีสะอาด เช่น พลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงาน ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและขับเคลื่อนเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยปัจจัยสำคัญคือ “คน” ที่จะต้องได้รับการปลูกฝังและตระหนักถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน (1)
ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยทั้งต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวไปพร้อมกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์สันดาป การเพิ่มพลังงานหมุนเวียน และการปรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ เช่น การปลูกต้นไม้ในเมือง เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) โดยเฉพาะการปรับตัว (Adaptation) ที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากไทยมีความเสี่ยงสูงต่อภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (3)
อย่างไรก็ตาม มาตรการสำคัญที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซได้คือ การเก็บภาษี เช่น การเก็บภาษีจากการปล่อยคาร์บอน (Carbon Tax) หรือการกำหนดขีดจำกัดการปล่อยคาร์บอน (Cap and Trade) ซึ่งจะกระตุ้นให้ธุรกิจลดมลพิษ และสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐ (3)
โครงการ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ถือเป็นตัวอย่างของเมืองคาร์บอนต่ำต้นแบบในประเทศไทย ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2566 มุ่งเน้น 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ การใช้พลังงานสะอาด อุตสาหกรรมสีเขียว การจัดการของเสีย เกษตรคาร์บอนต่ำ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5 ล้านตัน ภายในปี 2570 (4)
นอกจากนี้ การนำ “นวัตกรรม” มาใช้ยังมีบทบาทสำคัญในการลดต้นทุนการผลิตและส่งเสริมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เช่น การกำหนดราคาคาร์บอนที่เหมาะสมและสร้างตลาดคาร์บอนเครดิต ความโปร่งใสในกระบวนการเหล่านี้จะช่วยลดความกังวลเรื่อง “การฟอกเขียว” ซึ่งการกำหนดราคาสำหรับการปล่อยคาร์บอน สามารถทำได้ในรูปแบบ “ภาษีคาร์บอน” หรือ “การซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอน” ซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลายใน 39 ประเทศ และรัฐบาลท้องถิ่นอีก 33 แห่ง (5) ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปที่กำหนดราคาคาร์บอนสูงถึง 100 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 10 ดอลลาร์ต่อตัน (3)
อีกหนึ่งความท้าทายคือ “การสร้างตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ” ตัวอย่างโครงการ T-VER ของไทยที่ดำเนินการโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 68 มีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 110,394 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) มูลค่า 18,457,039 บาท และการซื้อขายสะสมทั้งหมด 3,598,457 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 322,614,985 บาท ซึ่งสะท้อนว่าตลาดคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดี (6)
หากจะกล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านสู่เมืองคาร์บอนต่ำจากมุมมองของต่างประเทศ ตัวอย่างจากญี่ปุ่น สามารถสะท้อนถึงแนวทางการพัฒนาเมืองที่มีความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมและสังคมได้อย่างชัดเจน การสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองนั้นไม่เพียงแต่ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการลดมลพิษและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกด้วย นอกจากนี้ เทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจนและชีวมวลที่ญี่ปุ่นนำมาใช้ยังเป็นแนวทางที่ไทยสามารถศึกษาและปรับใช้ได้ โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมที่มีศักยภาพสูงในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ (7)
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า ในอนาคตกว่า 70% ของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นถึง 70% ภายในปี พ.ศ. 2593 หากไม่มีการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซ และเมืองอาจเผชิญกับภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น เช่น พายุ แผ่นดินไหว และน้ำท่วม ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงมากกว่า 1,500 ล้านคนและมีความเสียหายมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ การลดคาร์บอนในเมืองจึงเป็นทางออกที่สำคัญ โดยการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาแผนลดการปล่อยก๊าซ (8)
ในขณะที่บทบาทของภาคเอกชนในการสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำผ่านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น “ตราสารหนี้สีเขียว” (Green Bonds) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bonds) ที่กำลังมีความสำคัญมากขึ้น เพราะช่วยระดมทุนสำหรับโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งการสร้างมาตรฐานความโปร่งใสและลดการฟอกเขียวจะเสริมความมั่นใจให้นักลงทุน ส่งเสริมการลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมคาร์บอนต่ำในระยะยาว (5)
ความท้าทายการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทยยังต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่มากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจในระดับชุมชนเมืองหรือเขตเมืองในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลก และสามารถสร้างอนาคตที่ยั่งยืนได้ (8)
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
แหล่งที่มา :
(1) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), สู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ – หลักคิดและแนวทางในการขับเคลื่อน
(2) iGreen, ‘ภาวะโลกปั่นป่วน’ เทรนด์โลก 2025 ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม
(3) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ : TDRI), ปรับประเทศไทย…ไปสู่เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำ
(4) ไทยรัฐออนไลน์, Low Carbon : 4 แนวทางผลักดันประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
(5) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI : Thailand Development Research Institute), “5 คีย์” สู่เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำ
(6) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
(7) สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation), Low Carbon Society : ญี่ปุ่นกับสังคมคาร์บอนต่ำ
(8) ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC : Research & Innovation for Sustainability Center), เมืองคาร์บอนต่ำคืออะไร…แล้วเราจะเริ่มได้อย่างไร?
“กรมลดโลกร้อน ผนึกกำลัง เครือข่าย ทสม. และภาคเอกชน แสดงพลังรับมือโลกเดือด อย่างมีส่วนร่วม”
วันที่ 18 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (กรมลดโลกร้อน) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงานฯ เพิ่มศัพยภาพผู้นำเครือข่าย ทสม. 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร พร้อมจับมือภาคเอกชน ร่วมประกาศเจตนารมณ์ส่งเสริมบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด โดยนายแพทย์ วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ แสดงพลังความร่วมมือร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ เตรียมพร้อมรับมือในระดับพื้นที่ ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มีภารกิจในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ โดยประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายของประเทศ ซึ่งกรมลดโลกร้อน ได้ส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่มีความเข้มแข็ง ร่วมทำกิจกรรมในระดับพื้นที่ ดังนั้น งานในครั้งนี้จึงได้จัดขึ้นเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ ให้แก่ประธานเครือข่าย ทสม. ทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้นำและเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของเครือข่าย ทสม. ในแต่ละจังหวัด ในประเด็นที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) การส่งเสริมผลิตภัณฑ์และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า 2) การมีส่วนร่วม ลด ละ เลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ตอบสนองต่อเป้าหมายวันปลอดถุงพลาสติกสากล 3) การสื่อสารสร้างการรับรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังส่งผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพ ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหัวข้อ “การผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของเครือข่าย ทสม.” และการอภิปราย หัวข้อ “การขับเคลื่อนชุมชนคาร์บอนต่ำ” โดยมีเครือข่าย ทสม. และ นักวิชาการจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับจัดทำแผนปฏิบัติการเครือข่าย ทสม. เชิงพื้นที่ และแผนการเงิน เพื่อสร้างความพร้อมในการขับเคลื่อนงานและบูรณาการความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ในระดับพื้นที่ต่อไป
ในโอกาสเดียวกันนี้ กรมลดโลกร้อน ยังได้ประกาศเจตนารมณ์ส่งเสริมบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ร่วมกับบริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด โดย นายแพทย์ วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ อีกทั้งมี กิจกรรม “ชิม ชม โชว์ ช้อป แชร์ แลผลิตภัณฑ์ จิบกาแฟแก้การเผา” ณ ร้านชิมแอนด์ชม ชั้น 1 อาคารกรมฯ พร้อมแสดงนิทรรศการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยง องค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของเครือข่ายร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพิธีมอบโล่สัญลักษณ์เครือข่ายร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้กับร้านชิมแอนด์ชม (Chim&Chom) และเครือข่ายร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมีความพร้อมในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีส่วนร่วม
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
ประกาศร่าง TOR ครั้งที่ 2 ประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์สำหรับโครงการจัดหาอุปกรณ์และระบบสำหรับห้อง Data Center และโครงการจัดหาคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงเพื่อรองรับการประมวลผลด้าน AI และงานพยากรณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมปรับปรุงพื้นที่ห้อง Data Center ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วิจารณ์ 18 – 21 มีนาคม 2568 e-mail : dccecenter@dcce.mail.go.th เบอร์โทร 0-298-5637
เกษตรออร์แกนิกลดโลกร้อน ทางเลือกเพื่อทางรอดมนุษยชาติ
การใช้ปุ๋ยเคมีและการเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเกิดวิกฤตโลกร้อนในปัจจุบัน โดยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาก๊าซไนตรัสออกไซด์หนึ่งในตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ งานวิจัยระบุว่าระหว่างปี 1980 – 2020 การปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์เพิ่มขึ้นถึง 40% โดยภาคเกษตรกรรมมีส่วนในการปล่อยก๊าซชนิดนี้มากถึง 74% ของการปล่อยทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเพียงอย่างเดียวมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ในภาคเกษตร (5)
มีความพยายามผลักดันให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตอาหารให้มุ่งไปทำเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิกเพราะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีศักยภาพช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่คำถามสำคัญก็คือ “เราสามารถเปลี่ยนไปใช้เกษตรอินทรีย์ทั่วโลกได้หรือไม่?” งานวิจัยชี้ว่า หากการทำเกษตรอินทรีย์ถูกนำมาใช้ทั่วโลก ควบคู่ไปกับการลดขยะอาหารและการลดการบริโภคเนื้อสัตว์จะสามารถช่วยเลี้ยงประชากรโลกได้โดยไม่เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร แต่ก็มีข้อสังเกตด้วยเช่นเดียวกันว่า ระบบนี้อาจจำเป็นต้องใช้ที่ดินเพิ่มขึ้น 16-33% และจะนำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้นในบางกรณี (2)
วารสาร Nature Communications ระบุว่า การขยายระบบเกษตรอินทรีย์สามารถลดการใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ปัญหาหลักอยู่ที่ปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่ที่ต่ำกว่าการเกษตรแบบทั่วไป นักวิจัยจึงเสนอแนวทางแก้ไขผ่าน 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การลดขยะอาหาร การใช้พืชอาหารให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการลดการผลิตอาหารสัตว์ เช่น ถั่วเหลืองและข้าวโพด ซึ่งช่วยลดพื้นที่การเลี้ยงปศุสัตว์และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตรได้ (2)
แบบจำลองทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่า หากเปลี่ยนไปทำเกษตรอินทรีย์ 100% อาจทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้นถึง 15% ภายในปี 2050 ทว่าหากมีการจัดการระบบอาหารที่ดี เช่น ลดปริมาณขยะเศษอาหาร และนำอาหารที่เคยใช้เลี้ยงปศุสัตว์กลับมาใช้เป็นอาหารมนุษย์โดยตรง การใช้ที่ดินเพิ่มเติมจะลดลงอย่างมาก และสามารถทำให้ระบบเกษตรอินทรีย์มีความเป็นไปได้ในวงกว้าง นอกจากนี้ เกษตรอินทรีย์ยังช่วยลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลได้ถึง 27% โดยเฉพาะจากการเลิกผลิตปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ (2)
ทั้งนี้ การลดการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 14% ของปริมาณทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งเทียบเท่ากับภาคคมนาคมขนส่งทุกประเภทรวมกัน การลดปริมาณการกินเนื้อสัตว์ลงและหันมาบริโภคพืชผักมากขึ้นจึงช่วยลดโลกร้อนได้ในระดับเดียวกับการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว (3)
นอกจากการลดเนื้อสัตว์แล้ว ผู้บริโภคยังสามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยโลกด้วยการเลือกบริโภคอย่างมีสติ งานวิจัยพบว่า 1 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์นั้นเกี่ยวข้องกับภาคอาหารทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงขยะอาหารที่ถูกทิ้ง การเลือกซื้ออาหารที่มาจากเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ออร์แกนิก และสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ (5)
ภาคเกษตรกรรมของไทยเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำคัญ คิดเป็น 15.03% ของการปล่อยทั้งหมดในปี 2023 หรือประมาณ 67.87 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) โดยกิจกรรมหลักที่ก่อให้เกิดก๊าซเหล่านี้ ได้แก่ การปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ เช่น การปลูกข้าว การใช้ปุ๋ยเคมี และการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร การหมักในระบบย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง และการจัดการมูลสัตว์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในประเทศเพิ่มขึ้น (6)
อย่างไรก็ตาม แม้ภาคเกษตรจะเป็นสาเหตุก่อโลกร้อน แต่หากมีการปรับระบบการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ การปลูกพืชหมุนเวียน และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี จะช่วยลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์และเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในดินมากขึ้น หรือการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรที่เหมาะสม เช่น การนำเศษพืชมาใช้เป็นวัสดุคลุมดินแทนการเผาสามารถช่วยลดมลพิษและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดโลกร้อน แต่ยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงขึ้น และส่งเสริมความยั่งยืนในภาคการเกษตรของไทย (5)
ในระดับโลก ฟาร์มออร์แกนิกถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากใช้พลังงานน้อยกว่าฟาร์มทั่วไป ตัวอย่างในยุโรปหากนำระบบเกษตรอินทรีย์มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรอาจลดลงถึง 40-50% ภายในปี 2050 เนื่องจากเกษตรอินทรีย์มีจุดแข็งในการอนุรักษ์ดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งช่วยลดมลพิษในดินและน้ำ รวมถึงเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในดินได้มากขึ้น (7)
เกษตรอินทรีย์ช่วยเสริมความยืดหยุ่นของระบบอาหารโดยให้ความสำคัญกับสุขภาพของดิน ลดมลพิษ และลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก ดินที่อุดมสมบูรณ์จากการบำรุงด้วยปุ๋ยหมักและมูลสัตว์สามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากขึ้นและช่วยปกป้องแหล่งน้ำใต้ดิน การหลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ช่วยลดความเสี่ยงด้านมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่การใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าที่ก่อให้เกิดมลภาวะ ระบบเกษตรเชิงนิเวศ เช่น เกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมสุขภาพของดินและระบบนิเวศ ทำให้การผลิตอาหารมีเสถียรภาพแม้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ แนวทางอย่างวนเกษตรและการปลูกแนวกันลมยังช่วยป้องกันการพังทลายของดินและลดผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรง อีกทั้งฟาร์มเกษตรอินทรีย์ยังใช้พลังงานน้อยลงและปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำผ่านการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ (7)
ปัจจุบันภาครัฐและองค์กรระดับโลกเริ่มให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์มากขึ้น อย่างในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีการตั้งเป้าหมายให้พื้นที่เกษตรกรรม 20% กลายเป็นเกษตรอินทรีย์ภายในปี 2045 ซึ่งแม้จะยังไม่ใช่ตัวเลขที่สูงมากนัก แต่ถือเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันแนวทางนี้ให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง (8)
การทำเกษตรอินทรีย์จึงจะเป็นมากกว่าทางเลือกของเกษตรกร เพราะจะทำให้ทุกคนตั้งแต่ผู้ผลิตยันผู้บริโภคได้มีส่วนช่วยลดโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก การลดขยะอาหาร หรือการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ทุกการเปลี่ยนแปลงแม้จะเล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมหาศาล (8)
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
แหล่งที่มา :
(1) Sorry – organic farming is actually worse for climate change., Climate Change and Energy, MIT Technology Review.
(2) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, การเกษตรอินทรีย์สามารถเลี้ยงผู้คนทั่วโลกอย่างยั่งยืนได้หรือไม่?
(3) Thairath, Future Perfect, กินผักช่วยโลก บริโภค “เนื้อสัตว์” น้อยลง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
(4) iGreen, โลกเลี้ยวขวามุ่งหน้าออร์แกนิก ไทยสวนกระแสหนุนใช้ปุ๋ยเคมี ก๊าซไนตรัสออกไซด์โลกพุ่ง 40%
(5) iGreen, เลือกกินอย่างรู้ที่มา บทบาทรักษ์โลกของผู้บริโภคอย่างเรา
(6) องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน ด้วยการ “ปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
(7) Why is organic better for the planet?, Soil Association.
(8) Organic Agriculture Helps Solve Climate Change., NRDC.
ย่อยแท้…หรือแค่ “หลอกกัน” มาทำความรู้จักประเภทการย่อยสลายของบรรจุภัณฑ์ ทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
Degradable
แตกตัวเป็นไมโครพลาสติก เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร มีสารพิษ สารก่อมะเร็ง ปนเปื้อนในอวัยวะภายใน ส่งผลต่อระบบฮอร์โมนในร่างกาย
Biodegradable
ย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ ในสภาวะที่มีการควบคุม แต่พลาสติกบางประเภทนำไปใช้ประโยชน์ได้ยาก
Compostable
ย่อยสลายตามธรรมชาติ เป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ เจริญเติบโตในโครงสร้าง Ecosystem และไม่สร้างมลพิษกลับสู่ธรรมชาติ
นอกจากนี้การใช้แก้วน้ำและภาชนะส่วนตัว รวมทั้งการใช้ซ้ำ สามารถช่วยลดการเกิดขยะตั้งแต่ต้นทางได้
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
แหล่งที่มา :
– บริษัท เกรซ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
18 มีนาคม วันรีไซเคิลโลก Global Recycling Day
วันรีไซเคิลโลกก่อตั้งครั้งแรกในปี 2558 โดย Global Recycling Foundation เพื่อส่งเสริมความสำคัญของการรีไซเคิลและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน และได้รับการยอมรับจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations) และ The Bureau of International Recycling ในปี 2561
การรีไซเคิลเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ในแต่ละปีทรัพยากรที่รีไซเคิลได้ช่วยลดการปล่อย CO2 ได้มากกว่า 700 ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านตันภายในปี 2573 หากมีการมุ่งเน้นเรื่องรีไซเคิลทั่วโลก
ในโอกาสนี้ กรมลดโลกร้อน จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่าน ร่วมกันคัดแยกขยะ เพื่อการนำไปกำจัดได้อย่างถูกวิธี และยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือรีไซเคิลได้ต่อไป
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
แหล่งที่มา :
– กรมประชาสัมพันธ์
ข้อมูลสาระสำคัญในสัญญา (ใบสั่งจ้าง กพร.3/2568) จ้างซ่อมจอคอมพิวเตอร์ และพัดลมตั้งพื้น (บริษัท อีซี่ พลัส จำกัด) โดยวิธีเฉพาะเจาะจง
ทส. ยกย่อง 81 เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน พัฒนาเมืองอย่างสมดุล พร้อมรับ-ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
วันที่ 17 มีนาคม 2568 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดพิธีมอบรางวัล “เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” ประจำปี 2567 โดยมี นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวรายงาน เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ 81 เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ต้นแบบพัฒนาเมืองอย่างสมดุล พร้อมตั้งรับ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี กล่าวว่า ภูมิอากาศและสภาวะสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เข้าสู่ภาวะวิกฤต ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจ และสังคมเป็นอย่างมาก การแก้ไขและการปรับตัวต่อปัญหาดังกล่าว ควรใช้หลัก “ภูมิสังคม” รวมทั้งการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จะก่อให้เกิดการพัฒนาปัญญา อีกทั้ง ความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ นั้น จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดยเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่งที่ผ่านเข้าสู่การประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนระดับประเทศ นับว่าเป็นเมืองแนวหน้าของประเทศ ที่มีการพัฒนามุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ร่วมกับประชาคมโลก และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ จึงขอให้รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้คงอยู่อย่างต่อเนื่อง พร้อมยกระดับให้ดียิ่งขึ้น และที่สำคัญ เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศยอดเยี่ยมระดับประเทศ ปี 2567 ให้แก่เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ทั้ง 4 แห่ง ในโอกาสต่อไป
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานภาคีทั้งในส่วนกลาง และระดับพื้นที่ ดำเนินงานเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมอย่างบูรณาการและสมดุลในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานของหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ให้เกิดความยั่งยืนตามบริบทของพื้นที่ ด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ เมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน และเมืองแห่งการเรียนรู้และการบริหารจัดการที่ดี โดยให้ความสำคัญกับการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงการเป็นเมืองพร้อมรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสำหรับพิธีมอบรางวัลในวันนี้ รวมทั้งสิ้น 114 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนและรางวัลชนะเลิศองค์การบริหารส่วนตำบลน่าอยู่อย่างยั่งยืน ระดับประเทศ ปี 2567 จำนวน 4 เมือง ได้แก่ เทศบาลนครระยอง จังหวัดระยอง “นครระยองน่าอยู่ สู่สังคมแห่งความสุขและความปลอดภัย” เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ “กาฬสินธุ์เป็นเมืองอุดมสมบูรณ์” เทศบาลตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี “พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต เท่าเทียมสิทธิ์เข้าถึงการรักษา พัฒนาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล” และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ “องค์กรมีประสิทธิภาพ ทันสมัย ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ” อีกทั้งรางวัลรองชนะเลิศ 29 แห่ง รางวัลเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนระดับพื้นที่ 76 แห่ง และเทศบาลที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมโครงการรางวัลอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน ปี 2567 จำนวน 5 เมือง ได้แก่ เทศบาลนครปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา เทศบาลเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด และเทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอผลงานและนวัตกรรมการพัฒนาเมือง เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาเมืองอย่างสมดุล และมีความพร้อมในการตั้งรับให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
‘เกษตรฟื้นฟู’ ยืดอายุโลก วิถีผลิตอาหารช่วยกักเก็บคาร์บอน
สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรงและวิกฤตโลกร้อนในปัจจุบันได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจาก “ภาคเกษตรกรรม” ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 1 ใน 3 ของปริมาณทั้งหมดในโลก (1) โดยภาคเกษตรกรรมของไทยเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 15.03% ของการปล่อยทั้งหมดในปี 2023 หรือประมาณ 67.87 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) โดยกิจกรรมหลักที่ก่อให้เกิดก๊าซเหล่านี้ ได้แก่ การปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ เช่น การปลูกข้าว การใช้ปุ๋ยเคมี และการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร การหมักในระบบย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง และการจัดการมูลสัตว์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในประเทศเพิ่มขึ้น (7)
แนวทางการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่ใช้เครื่องจักรหนักและสารเคมีจำนวนมากไม่เพียงทำลายสมดุลของธรรมชาติ แต่ยังส่งผลให้ดินเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วและขาดความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งได้ส่งผลกระทบไปจนถึงความมั่นคงทางอาหาร และยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในระดับโลก โดยมีมูลค่าการสูญเสียถึง 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นักวิชาการคาดการณ์ว่า หากไม่เร่งฟื้นฟูดินและระบบเกษตรในปัจจุบัน ภายใน 50 ปีข้างหน้า อาจไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงดูประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (1)
ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์โลกร้อนในปัจจุบันได้ก้าวข้ามจุดที่สามารถควบคุมได้ไปแล้ว ข้อมูลล่าสุดระบุว่าในปี 2023 โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1850 ซึ่งสูงกว่าช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.48 องศาเซลเซียส เป็นผลมาจากการใช้พลังงานฟอสซิลและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมมาตลอดระยะเวลากว่า 170 ปี ทำให้ปัญหาโลกร้อนไม่เพียงแต่จะยังคงอยู่ แต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นหากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรม (1)
แนวทางใหม่ที่เรียกว่า “เกษตรฟื้นฟู” หรือ Regenerative Agriculture กำลังได้รับความสนใจในฐานะทางออกสำคัญที่สามารถบรรเทาผลกระทบจากภาคเกษตรกรรมต่อสิ่งแวดล้อม วิถีการเกษตรนี้มุ่งเน้นการฟื้นฟูดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ลดการใช้สารเคมี และสร้างสมดุลในระบบนิเวศอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ (1)
เกษตรฟื้นฟูเป็นระบบการผลิตอาหารที่เน้นฟื้นฟูสุขภาพดินและสร้างความสมดุลในระบบนิเวศ ต่างจากเกษตรกรรมแบบเดิมที่มุ่งปริมาณผลผลิตแต่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมีและการไถพรวนหน้าดิน พร้อมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชหมุนเวียนและเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน ทำให้เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและความสามารถในการกักเก็บน้ำและคาร์บอนในดิน โดยดินที่ผ่านการฟื้นฟูสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน (2)
แนวทางนี้ยังช่วยลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่รุนแรงในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา โดยพันธุ์พืชกว่า 90% และสัตว์เลี้ยงเพื่อการเกษตรครึ่งหนึ่งได้สูญหายไป ขณะที่พืชเพียง 9 ชนิดกลับครองสัดส่วน 66% ของการผลิตพืชผลทั่วโลก อีกทั้งยังเกี่ยวเนื่องไปจนถึงปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วนและทุพโภชนาการ (2)
“ดิน” คือหัวใจของการเกษตร ดินที่มีสุขภาพดีไม่เพียงช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร แต่ยังทำหน้าที่สำคัญในการเก็บกักน้ำและคาร์บอน พร้อมทั้งสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะดินเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนับไม่ถ้วน และยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนขนาดใหญ่ที่ช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ แนวทางการเกษตรฟื้นฟูจึงมุ่งเน้นการฟื้นฟูและเพิ่มคุณภาพของดิน เช่น การลดการไถพรวน เพื่อลดการรบกวนจุลินทรีย์ในดินและช่วยกักเก็บคาร์บอนในระยะยาว (3)
ปัจจุบันทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการเกษตรในหลากหลายภูมิภาค ทั้งในเอเชีย ละตินอเมริกา สหรัฐอเมริกา แคนาดา แอฟริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (3) ซึ่งมีตัวอย่างความสำเร็จของระบบเกษตรฟื้นฟูให้เห็นในหลายพื้นที่ เช่น ในแอฟริกา การนำระบบเกษตรฟื้นฟูมาใช้คาดว่าจะช่วยเพิ่มผลผลิตพืชได้ถึง 13% ภายในปี 2040 และจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 40% ในอนาคต ส่วนในยุโรปหากมีการนำระบบนี้ไปใช้ในพื้นที่เกษตรอย่างแพร่หลายจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 6% ต่อปี ไม่เพียงเท่านั้น ระบบเกษตรฟื้นฟูยังช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนับเป็นผลลัพธ์ที่สร้างประโยชน์ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (1)
ในประเทศไทยเองก็มีตัวอย่างของการทำเกษตรฟื้นฟูที่น่าสนใจ อย่างเช่น อุดรออร์แกนิคฟาร์ม – Udon Organic Farm จังหวัดอุดรธานี ฟาร์มแห่งนี้มี “นิค” และ “เจน” สองพ่อลูกที่เริ่มต้นการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ก่อนจะเปลี่ยนแนวทางไปสู่เกษตรฟื้นฟู หลังจากพบว่าดินในพื้นที่เริ่มเสื่อมโทรมจนผลผลิตลดลง การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากลดการไถพรวนที่รบกวนโครงสร้างดิน และหันมาใช้วิธีปลูกพืชที่รักษาสมดุลธรรมชาติในดิน ผลลัพธ์ที่ได้คือดินค่อย ๆ ฟื้นตัว มีจุลินทรีย์เพิ่มขึ้น สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศกลับมาอาศัยในพื้นที่ และผลผลิตทางการเกษตรก็ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง (4)
เกษตรฟื้นฟูไม่เพียงแต่ช่วยฟื้นฟูดินเท่านั้น แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มศักยภาพของดินในการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ดินที่มีสุขภาพดีสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าต้นไม้ถึง 3 เท่า (4)
แต่ดินที่อุดมสมบูรณ์และดีต่อสุขภาพเป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ในเวลาอันสั้น เนื่องจากการสร้างดินที่สมบูรณ์เพียงครึ่งเซนติเมตรต้องใช้เวลาถึง 1,000 ปี การศึกษาหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า โลกกำลังสูญเสียดินในอัตราที่เร็วกว่าอัตราการฟื้นตัวถึง 50-100 เท่า โดย FAO ระบุว่า ดินที่เทียบเท่าสนามฟุตบอลหนึ่งสนามถูกกัดเซาะทุก ๆ 5 วินาที อย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ว่า การใช้สารอาหารที่เหมาะสมสามารถช่วยฟื้นฟูสุขภาพของดินและลดการเสื่อมโทรมได้ การจัดการสุขภาพของดินเป็นกุญแจสำคัญในความพยายามระดับโลกในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากภาคเกษตรกรรมครอบคลุมพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของโลก (5)
เกษตรฟื้นฟูจึงถือเป็นอีกหนึ่งคำตอบของระบบการผลิตอาหารที่ใส่ใจทั้งคนปลูก คนกิน และสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการจัดการความหลากหลายของพืชและปศุสัตว์อย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ พร้อมกับใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างคุ้มค่า อีกทั้งยังช่วยปกป้องดิน น้ำ และสภาพภูมิอากาศ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และลดการปนเปื้อนจากสารเคมี และพืชดัดแปลงพันธุกรรม (6)
ในฐานะผู้บริโภค การรู้ที่มาของอาหารที่เรากินไม่เพียงช่วยให้มั่นใจว่าอาหารปลอดภัยต่อสุขภาพ แต่ยังช่วยให้เราสนับสนุนเกษตรกรที่ใช้วิธีการผลิตที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม การเลือกบริโภคอาหารจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศอย่าง “เกษตรฟื้นฟู” จึงเป็นการดูแลสุขภาพของเรา พร้อมกับช่วยรักษาระบบนิเวศ และลดความเสี่ยงที่เกษตรกรต้องเผชิญจากการใช้สารเคมี นับเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กัน โดยที่โลกถูกทำร้ายน้อยลงอีกด้วย (6)
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
แหล่งที่มา :
(1) the sustain, “เกษตรฟื้นฟู” มีสำคัญยังไง ทำไมถึงเป็นทางออกของวิกฤตโลกร้อน
(2) BioThai, นิเวศเกษตร คือ อะไร
(3) EECi : เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก, Regenerative Agriculture ความยั่งยืนของดินเพื่อความยั่งยืนของโลก
(4) iGreen, ‘เกษตรฟื้นฟู’ ตัวจริง Carbon Neutral กักเก็บคาร์บอนมากกว่าป่าปลูก
(5) Ground Zero : why soil health is inegral to beating climate change., FOOD AND WATER, World Economic Forum.
(6) GREENPEACE, เกษตรกรรมเชิงนิเวศ
(7) องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน ด้วยการ “ปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”