ปี 2025 สัญญาณอันตราย อุณหภูมิโลกจ่อทำลายสถิติเก่า

               สถานการณ์วิกฤตโลกร้อนยังคงทวีความรุนแรง อุณหภูมิโลกสร้างความประหลาดใจให้กับนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ซึ่งปกติจะนำมาซึ่งอุณหภูมิที่เย็นลงในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน กำลังอ่อนกำลังลงและเข้าสู่ภาวะเป็นกลาง แต่ความร้อนทั่วโลกกลับยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน (1)
               รายงานจากโครงการสังเกตการณ์โลกแห่งสหภาพยุโรป (Copernicus Climate Change Service) ระบุว่า เดือนมกราคม ปี 2025 เป็นเดือนมกราคมที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยอุณหภูมิพื้นผิวอากาศสูงกว่าระดับก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.75 องศาเซลเซียส สถานการณ์นี้ถือเป็นการต่อเนื่องของอุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ตลอดสองปีที่ผ่านมา ที่น่ากังวลคือ อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในหลายภูมิภาคทั่วโลกยังคงสูงผิดปกติ (1)
               นักวิทยาศาสตร์เคยคาดการณ์ว่า ภาวะอุณหภูมิสูงผิดปกติเช่นนี้จะบรรเทาลงภายหลังจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ซึ่งมีความรุนแรงสูงสุดในเดือนมกราคม 2024 สิ้นสุดลง และเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะลานีญาซึ่งเป็นภาวะเย็นลง อย่างไรก็ตาม ความร้อนยังคงอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงสถิติเดิม ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องถกเถียงกันถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดอุณหภูมิที่สูงเกินความคาดหมาย นักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ปรากฏการณ์นี้ค่อนข้างน่าประหลาดใจ เนื่องจากไม่พบผลกระทบจากการเย็นลง หรือการชะลอตัวของอุณหภูมิโลกตามที่คาดการณ์ไว้ (1)
               ยิ่งไปกว่านั้น อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2023 และ 2024 ได้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เป็นครั้งแรก แม้ไม่ถือเป็นการข้ามเส้นขีดจำกัดตามความตกลงปารีสอย่างถาวร แต่ก็เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าขีดจำกัดดังกล่าวถูกทดสอบแล้ว นักวิทยาศาสตร์เน้นย้ำว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นเพียงเล็กน้อยก็เพิ่มความรุนแรงและความถี่ของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น คลื่นความร้อน ฝนตกหนัก และภัยแล้ง (1)
               ขณะที่สถานการณ์ลานีญาสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2025 และมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนกลับเข้าสู่ภาวะ ENSO เป็นกลาง ซึ่งหมายความว่าทั้งเอลนีโญและลานีญาไม่ได้มีอิทธิพลอย่างชัดเจน แต่ผลกระทบจากความร้อนสะสมและความผันผวนของสภาพอากาศยังคงส่งผลกระทบไปทั่วโลก ภาวะเป็นกลางนี้คาดว่าจะต่อเนื่องไปตลอดช่วงฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่เอลนีโญหรือลานีญาจะกลับมามีอิทธิพลอีกครั้งในช่วงปลายปี โดยมีโอกาสที่ลานีญาจะเกิดขึ้นมากกว่าเอลนีโญ (2)
               มหาสมุทรมีบทบาทสำคัญในการควบคุมสภาพภูมิอากาศและเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน น้ำทะเลที่เย็นกว่าสามารถดูดซับความร้อนจากบรรยากาศได้มากขึ้น ซึ่งช่วยลดอุณหภูมิอากาศ มหาสมุทรยังเก็บกักความร้อนส่วนเกินประมาณ 90% จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการกระทำของมนุษย์ แต่ทว่าอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลสูงผิดปกติอย่างยิ่งในปี 2023 และ 2024 การตรวจวัดในเดือนมกราคม ปี 2025 ก็ยังคงสูงเป็นอันดับสองเท่าที่เคยมีมา เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงสงสัยว่าทำไมอุณหภูมิเหล่านั้นยังคงอบอุ่นอยู่มาก (1)
               ปี 2024 ได้สร้างสถิติความร้อนที่น่าตกใจ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงกว่าระดับก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.5 องศาเซลเซียส เป็นครั้งแรก นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศเตือนว่า หากไม่มีความพยายามอย่างจริงจังในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แนวโน้มความร้อนนี้จะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นศตวรรษ แม้ว่าการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนจะมีความก้าวหน้าอย่างมาก แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกยังคงไม่ลดลง ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะเกิน 2 องศาเซลเซียสอย่างแน่นอนภายในปี 2100 หากแนวโน้มปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไป (3)
               ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทวีปเอเชียเผชิญกับภัยพิบัติทางสภาพอากาศมากมาย คลื่นความร้อนมีความรุนแรงและเกิดบ่อยครั้งขึ้น โดยมีผู้เสียชีวิตจากความร้อนในเอเชียคิดเป็น 45% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากความร้อนทั่วโลก อุทกภัยและพายุไต้ฝุ่นยังสร้างความเสียหายอย่างหนัก ทวีปยุโรปก็เผชิญกับภาวะที่ร้อนขึ้นเร็วกว่าทวีปอื่น ๆ โดยปี 2024 มีอุณหภูมิสูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา ในขณะที่ภัยแล้ง และไฟป่าทวีความรุนแรงขึ้น (3)
               ทวีปแอฟริกาก็เผชิญกับความร้อนจัดและภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและบริการ ที่สำคัญภัยพิบัติทางสภาพอากาศเหล่านี้มักนำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหารและน้ำ ฝั่งละตินอเมริกาเผชิญกับพายุเฮอริเคน ภัยแล้ง น้ำท่วม และไฟป่าที่รุนแรงและถี่ขึ้น ภูมิภาคตะวันออกกลางกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ส่วนภูมิภาคอาร์กติกอุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึงสามเท่า ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและประชากรพื้นเมือง (4)
               รายงานจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ยืนยันว่า ปี 2024 เป็นปีที่อุณหภูมิสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.55 ± 0.13 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นปีที่ร้อนที่สุดในรอบ 175 ปีที่มีการบันทึก ระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงที่สุดในรอบ 800,000 ปี ระดับน้ำทะเลสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกด้วยดาวเทียม และการละลายของธารน้ำแข็งก็รวดเร็วเป็นประวัติการณ์ เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในปี 2024 ยังทำให้เกิดการพลัดถิ่นของผู้คนมากที่สุดในรอบ 16 ปี (4)
               ยิ่งไปกว่านั้น ปี 2025 นี้เอง ในช่วงปลายเดือนเมษายนหลายพื้นที่ในซีกโลกเหนือคาดว่า จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดกว่าปกติ โดยพื้นที่ทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกาอาจมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย 6-8 องศาเซลเซียส ยุโรปตะวันตก รวมถึงสหราชอาณาจักรก็อาจเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนที่สุดของปี โดยมีอุณหภูมิสูงถึง 25-28 องศาเซลเซียส ขณะที่ปากีสถานและบางส่วนของอินเดียกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรง โดยอุณหภูมิอาจสูงถึง 48-49 องศาเซลเซียสในบางพื้นที่ ทางการได้ออกคำเตือนให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากความร้อน (5)
               ผลพวงจากความร้อนที่รุนแรงขึ้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว ภาวะเครียดจากความร้อนเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ และสามารถทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้นได้ จำนวนผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนจึงเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (6)
               ภายใต้สถานการณ์สภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่ไม่เหมือนเดิมโดยเฉพาะในบ้านเราที่อากาศร้อนมากขึ้น การป้องกันตนเองจากความร้อนของทุกคนจึงเป็นสิ่งจำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการออกไปกลางแจ้งในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุด ดื่มน้ำให้เพียงพอ สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และอยู่ในสถานที่ที่เย็นสบาย การดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุเป็นพิเศษก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง (6)
               วิกฤตโลกร้อนในปี 2025 ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น และเกิดผลกระทบขึ้นทั่วโลกเป็นปรากฎการร์ที่ไม่อาจมองข้ามได้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วน..ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) Hottest January on record mystifies climate scientists, The Guardian.
(2) April 2025 ENSO update : La Niña has ended, The outlook for the rest of 2025, Climate.gov : Science & Information for a Climate-Smart Nation.
(3) The Earth Experienced Another Year of Record Warming. The Climate Fallout Was Intense, Council on Foreign Relations.
(4) WMO report documents spiralling weather and climate impacts., World Meteorological organization.
(5) Weather tracker : early summer heat likely in US and western Europe., The Guardian.
(6) Heat and Helath, World Helth Organization.

ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา จ้างเหมาบริการรถยนต์ จำนวน 1 คัน พร้อมพนักงานขับรถยนต์ ระหว่างวันที่ 25 – 30 พฤษภาคม 2568 ณ จังหวัดสกลนคร โดยวิธีเฉพาะเจาะจง

ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ซื้อแบตเตอรี่รถยนต์พร้อมติดตั้งให้กับรถยนต์ส่วนกลาง หมายเลขทะเบียน 7กพ 6166 กรุงเทพมหานคร โดยวิธีเฉพาะเจาะจง

ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา จ้างเหมาวิเคราะห์ทดสอบสายพันธ์จุลินทรีย์ในมูลหนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly :BSF) และผลิตภัณฑ์จากหนอนในการย่อยสลายเชลลูโลส โดยวิธีเฉพาะเจาะจง

แรงงานกับโลกร้อน : ความท้าทายใหม่ในวันแรงงาน

               วันแรงงาน (Labour Day) ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันที่ยกย่องและเรียกร้องสิทธิของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก “แรงงาน” กับ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความปลอดภัยและสุขภาพของแรงงานในทุกภูมิภาคของโลกแล้ว จากข้อมูลปี 2020 ILO ประเมินว่าแรงงานมากกว่า 2.4 พันล้านคน (จากกำลังแรงงานโลก 3.4 พันล้านคน) มีแนวโน้มต้องเผชิญกับความร้อนเกิน ขณะทำงานอย่างน้อยในบางช่วงเวลา และเมื่อคิดเป็นสัดส่วนของแรงงานโลก พบว่าสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นจาก 65.5% เป็น 70.9% ตั้งแต่ปี 2000
               นอกจากความร้อนสูงจัดแล้ว ยังมีปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกมากมาย เช่น รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว มลพิษทางอากาศ โรคที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค และสารเคมีทางการเกษตร ที่ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่จำเป็นต้องทำงานกลางแจ้ง ใม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บ โรคลมแดดและอ่อนเพลียจากความร้อน โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น
               นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลต่อการสูญเสียและการเปลี่ยนแปลงของงาน (Job Loss and Transition) โดยภายในปี 2030 คาดว่าชั่วโมงการทำงานทั้งหมดอาจสูญเสียไปถึง 3.8% เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ ศัตรูพาหะนำโรค น้ำท่วม และไฟป่า ก็จะส่งผลกระทบต่อแรงงาน และทำให้เกิดการสูญเสียงานด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมการสร้าง “งานสีเขียว” (Green Jobs) ขึ้นมาใหม่ เช่น งานด้านพลังงานหมุนเวียนและงานด้านฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานยั่งยืนระดับโลก
               ดังนั้น ในยุคที่เราทุกคนต้องเผชิญกับวิกฤตโลกเดือดนี้ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงถือเป็นความท้าทายใหม่ของแรงงานในยุคโลกเดือดที่ต้องเตรียมพร้อมตั้งรับ ปรับตัว ในขณะเดียวกันทุกคนต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อลดโลกเดือด เพื่ออนาคตของประชากรทุกคนบนโลก

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
– International Labour Organization (ILO), OSH and Climate Change, Climate change creates a ‘cocktail’ of serious health hazards for 70 per cent of the world’s workers.
– World Economic Forum, CLIMATE ACTION, 3 ways the climate crisis is impacting jobs and workers.
– ThaiPublica ไทยพับลิก้า : กล้าพูดความจริง, รายงาน ILO ชี้ Climate Change อัตรายต่อสุขภาพคนงาน ต้องทบทวนกฎหมายเดิม-ออกกฎใหม่คุ้มครอง