ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมินความรู้ความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะครั้งที่ 1 (สอบข้อเขียน) และกำหนดวัน เวลา สถานที่ ในการประเมินความรู้ความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะ เพื่อเป็นพนักงานราชการทั่วไป

Flexitarian-กินมังฯ แบบยืดหยุ่น เทรนด์บริโภคใหม่ช่วยลดโลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ โดยที่วงจรชีวิตและห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก การศึกษาจากแคนาดาในปี 2010 เตือนว่า หากการผลิตปศุสัตว์ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2050 คาร์บอนที่ปล่อยจากภาคปศุสัตว์เพียงอย่างเดียวอาจผลักดันให้โลกเข้าสู่ภาวะโลกร้อนที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยอุณหภูมิโลกอาจสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะสร้างความเสียหายต่อความมั่นคงของระบบนิเวศในระดับโลก (1)
แม้ปัญหานี้จะดูใหญ่และซับซ้อน แต่จุดเริ่มต้นของการแก้ไขสามารถเริ่มได้จากระดับบุคคล โดยที่การลดการบริโภคผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เพียง 25% จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ทั่วโลกได้ถึง 12.5% การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ นี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบจากการผลิตปศุสัตว์ต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งผลในระดับมหภาคที่ช่วยฟื้นฟูสมดุลของระบบนิเวศและลดความรุนแรงของภาวะโลกร้อนในระยะยาวอีกด้วย (1)
ปัจจุบันการบริโภคอาหารแบบที่เรียกว่า Flexitarian (คำผสมระหว่าง Flexible และ Vegetarian) หรือการกินมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น กำลังได้รับความสนใจในฐานะทางออกสำคัญต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมจาก “การกิน”แนวทางนี้ไม่ได้หมายถึงการละเว้นเนื้อสัตว์ทั้งหมด แต่เน้นการลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ลงและเพิ่มพืชเป็นแหล่งโปรตีนหลัก เพื่อสร้างสมดุลให้กับสุขภาพและธรรมชาติ (3)
การลดปริมาณเนื้อสัตว์ในมื้ออาหารและเพิ่มพืชเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญไม่เพียงช่วยลดภาวะโลกร้อนเท่านั้น งานวิจัยใน Science Advances ชี้ว่า การลดการบริโภคเนื้อสัตว์และเพิ่มพืชสามารถช่วยให้อุณหภูมิโลกคงที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเกษตร เช่น ก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ รวมถึงลดผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ ยังช่วยลดต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ รวมถึงความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ และคาดว่าจะลดต้นทุนการลดคาร์บอนได้ถึง 43% ภายในปี 2050 (2)
การรับประทานมังสวิรัติแบบยืดหยุ่นสามารถทำได้ง่ายและปรับให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่หลากหลาย การลดปริมาณเนื้อสัตว์ เช่น การงดมื้อเนื้อสัปดาห์ละครั้ง หรือการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากพืชแทนเนื้อสัตว์ในบางมื้อ เป็นการเริ่มต้นที่มีประสิทธิภาพ โดยในหลายประเทศ เช่น เบลเยียม บราซิล และเยอรมนี ได้เริ่มโครงการส่งเสริมการลดบริโภคเนื้อสัตว์ในโรงเรียนและสถานที่ทำงานแล้ว ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (1)
ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดอาหารจากพืชกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในสหรัฐฯ มีมูลค่าถึง 7,400 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 ยอดขายโปรตีนและนมจากพืชเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยโปรตีนจากพืชเติบโตถึง 74% ในสามปี ขณะที่นมทางเลือก เช่น ถั่วเหลืองและอัลมอนด์ เติบโต 33% แนวโน้มนี้สะท้อนถึงการที่ผู้บริโภคทั่วโลกเริ่มลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์และหันมาเลือกอาหารที่ยั่งยืนมากขึ้น (3)
นอกจากนี้ การสำรวจพบว่า ตลาดเนื้อสัตว์ทางเลือกทั่วโลกจะเติบโตจาก 7,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 สู่ 17,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2026 การลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ยังช่วยลดการใช้พื้นที่เกษตรกรรม โดยปัจจุบันพื้นที่กว่า 80% ใช้เลี้ยงสัตว์หรือปลูกอาหารสัตว์ ซึ่งสามารถเปลี่ยนมาใช้ปลูกพืชสำหรับคนได้มากขึ้น (3)
ระบบอาหารที่พึ่งพาปศุสัตว์อย่างหนักเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำคัญ โดยคิดเป็น 1 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ปศุสัตว์ในภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำและพื้นที่อย่างมหาศาลถึง 77% ของพื้นที่เพาะปลูกทั่วโลกสำหรับปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ขณะที่พื้นที่เพียง 23% ใช้ปลูกพืชอาหารเพื่อมนุษย์โดยตรง หากผู้คนยังคงพึ่งพาปศุสัตว์ในรูปแบบเดิม เมื่อประชากรโลกเพิ่มขึ้นจาก 7,900 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 10,000 ล้านคนภายในปี 2050 จะต้องใช้พื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มขึ้นเท่ากับพื้นที่ของประเทศไทยถึง 12 ประเทศ ซึ่งเกินขีดจำกัดของโลกในปัจจุบัน (4)
การบริโภคเนื้อสัตว์ที่มากเกินไป โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ไม่เพียงแต่ทะลุ “เขตจำกัดของโลก” (Planetary Boundaries) แต่ยังเกิน “เขตสุขภาพ” (Healthy Boundary) ถึง 2 เท่า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เช่น โรคหัวใจและเบาหวาน การเปลี่ยนมาบริโภคอาหารแบบ Flexitarian ที่เน้นโปรตีนจากพืชและลดเนื้อสัตว์ในมื้ออาหารสามารถช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพได้ นักวิจัยคาดว่า หากปรับพฤติกรรมนี้อย่างกว้างขวางจะสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ถึง 1.6 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.6 ล้านล้านบาทต่อปี พร้อมทั้งสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรักษาสมดุลของโลกอย่างยั่งยืน (4)
การเปลี่ยนพฤติกรรมการกินไม่จำเป็นต้องทำแบบสุดโต่งหรือยกเครื่องใหม่ทั้งหมด ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงวันหรือสองวันต่อสัปดาห์ เป็นวิธีที่ง่ายและไม่สร้างความกดดัน นอกจากนี้ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกจากพืช เช่น อาหารจากพืช ไส้กรอก หรือผลิตภัณฑ์นมทางเลือกอย่างนมอัลมอนด์และโยเกิร์ตมะพร้าว ยังช่วยให้การปรับตัวเป็นเรื่องที่ไม่น่าเบื่อและสร้างความหลากหลายในมื้ออาหารอีกด้วย (5)
สำหรับผู้ที่เริ่มต้น การลองค้นหาร้านอาหารที่มีเมนูอาหารมังสวิรัติหรือวีแกนในละแวกใกล้บ้าน หรือลองทำอาหารง่าย ๆ ที่ลดเนื้อสัตว์โดยเพิ่มถั่วแทนนับเป็นตัวเลือกที่ดี นอกจากนี้ การวางแผนมื้ออาหารล่วงหน้าจะช่วยให้การเปลี่ยนมาสู่การบริโภคแบบยืดหยุ่นทำได้ง่ายขึ้น และยังช่วยให้ผู้บริโภคมีโอกาสสนุกกับการทดลองสูตรอาหารใหม่ ๆ ที่ทั้งอร่อย และดีต่อสุขภาพ (5)
ในอนาคต การกินมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น หรือ Flexitarian อาจกลายเป็นแนวทางหลักที่กำหนดทิศทางการบริโภคอาหารทั่วโลก การปรับลดการบริโภคเนื้อสัตว์และเพิ่มอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้ส่งผลดีต่อสุขภาพของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ การมีส่วนร่วมของทุกคนในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค แม้เพียงเล็กน้อย สามารถสร้างผลลัพธ์เชิงบวกที่ยิ่งใหญ่ และยั่งยืนต่ออนาคตของโลกใบนี้ได้

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) Flexitarianism : flexible or part-time vegetarianism. Department of Economic and Social Affiars : Sustainable Development. United Nations
(2) Plant-heavy ‘flexitarian’ diets could help limit global heating, study finds. The Guardian.
(3) Vegan, Vegetarian or flexitarian? 3 ways to eat more sustainably. Industries in Depth. WORLD ECONOMIC FORUM.
(4) iGreen. ปลุกกระแส ‘ปฏิรูประบบอาหาร’ ลดก๊าซมีเทนรับมือ Climate Change
(5) Part-time vegan : The case for going flexitariann in 2024. The New Zealand herald.

ประกาศรายชื่อโรงเรียนที่ผ่านการพิจารณาสมัครเข้าร่วมโครงการโรงเรียนอีโคสคูล ระดับสูง (Eco-School Advance) รอบการสมัครปี 2567

ประกาศรายชื่อโรงเรียนที่ผ่านการพิจารณาสมัครเข้าร่วมโครงการโรงเรียนอีโคสคูล ระดับกลาง (Eco-School Intermediate) รอบการสมัครปี 2567

เปลี่ยนขยะอาหารเป็นปุ๋ยหมัก สร้างสังคมคาร์บอนต่ำสู่ลูกหลาน

ขยะอาหาร (Food Waste) ที่มีปริมาณมากขึ้นและกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องจัดการ มาจากหลายปัจจัยทั้งการเพิ่มขึ้นของประชากรเมือง ประเภทอาหารที่หลากหลายและการบริโภคมากขึ้น ฯลฯ แต่อีกสาเหตุและมีส่วนสำคัญก็คือการไม่คัดแยกขยะ ไม่นำเศษอาหารที่เหลือจากการบริโภคไปใช้ประโยชน์ต่อ ทำให้ขยะอาหารกลายเป็นปฏิกูลที่ต้องจัดการด้วยการฝังกลบเป็นจำนวนมาก
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษปี 2566 ประเทศไทยผลิตขยะมูลฝอยรวมกว่า 25.70 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 70,411 ตันต่อวัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นขยะอินทรีย์ เช่น ขยะเน่าเสียและย่อยสลายได้เร็วอย่างเศษอาหารมีสัดส่วนสูงถึง 49.03% ในจำนวนนี้มีขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างถูกวิธีเพียง 38% ส่วนที่เหลือถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องหรือปล่อยตกค้าง และก่อให้เกิดมลพิษต่อดิน น้ำ และอากาศ (1)
หากเราไม่มีความเข้าใจมากพอก็อาจทำให้เชื่อไปในทำนองว่า เมื่อขยะเน่าเสียเหล่านี้ถูกขนไปฝังกลบ ปัญหาก็จบลงแค่นั้น หารู้ไม่ว่าการจัดการขยะอินทรีย์ด้วยวิธีการฝังกลบในหลุมจะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 60% ของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากพื้นที่ฝังกลบ ซึ่งถือเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในบริเวณชุมชนใกล้เคียงไม่ว่าแหล่งน้ำหรือดิน ตลอดจนมีผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้อยู่อาศัยใกล้บ่อขยะ โดยข้อมูลของ IPCC ระบุว่า แหล่งฝังกลบขยะเป็นแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนจากกิจกรรมมนุษย์ที่สูงเป็นอันดับสามของโลก (1)
คนไทยสร้างขยะอาหารเฉลี่ยปีละ 86 กิโลกรัมต่อคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 79 กิโลกรัมต่อคน โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคเกินความจำเป็น การซื้ออาหารที่มากเกินไป รวมถึงการจัดเก็บอาหารที่ไม่เหมาะสม ซึ่งนั่นเท่ากับการบริโภคอาหารที่มากขึ้นเป็นหนึ่งในสาเหตุการสร้างมลภาวะและสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าอยู่อาศัย (2)
ขยะอาหารที่เกิดขึ้นไม่ได้เพียงส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม ข้อมูลจากรายงาน Food Waste Index 2024 ระบุว่า ขยะอาหารทั่วโลกมีปริมาณมากถึง 1,052 ล้านตัน หรือคิดเป็น 19% ของอาหารทั้งหมดในตลาด แต่ในขณะเดียวกันยังมีประชากรกว่า 783 ล้านคนทั่วโลกที่ยังคงประสบปัญหาความหิวโหย (3)
องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดเป้าหมายให้ทุกประเทศต้องลดปริมาณขยะอาหารให้ได้ 50% ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งภายในปีเดียวกันนี้ไทยเองก็ได้ตั้งเป้าลดขยะอาหารลงครึ่งหนึ่งด้วย หรือประมาณ 3 ล้านตันต่อปี เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ UN รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากขยะอาหาร และสร้างความมั่นคงด้านอาหาร (2)
แนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะอาหารเพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำก็คือ “การหมักเศษอาหาร” หรือการเปลี่ยนขยะอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถนำไปใช้ในภาคเกษตรได้ ซึ่งการใช้ถังหมักเศษอาหารในครัวเรือนช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน และช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ถึง 14 เท่า เมื่อเทียบกับการฝังกลบ (4) อีกแนวทางสำคัญคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เช่น การซื้ออาหารตามความจำเป็น การจัดเก็บอาหารให้เหมาะสม และการนำอาหารเหลือมาแปรรูปเป็นเมนูใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะอาหารตั้งแต่ต้นทาง (5)
ในระดับชุมชน มีการจัดตั้งโครงการธนาคารอาหาร เช่น โครงการ “ไม่เทรวม” และ “ธนาคารอาหาร” ซึ่งเป็นตัวอย่างของความพยายามในการลดปริมาณขยะ โครงการเหล่านี้เน้นการส่งต่ออาหารส่วนเกินไปยังกลุ่มเปราะบางในสังคม พร้อมทั้งรณรงค์การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดอาหารส่วนเกิน และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมด้วย (5)
ในต่างประเทศอย่างเช่น ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ได้พัฒนามาตรการลดขยะอาหารที่ประสบความสำเร็จ โดยฝรั่งเศสออกกฎหมายบังคับให้ร้านค้าบริจาคอาหารส่วนเกิน ขณะที่ญี่ปุ่นใช้เทคโนโลยีในการติดตามและลดขยะอาหารทำให้สามารถลดขยะได้ถึง 31% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (3) (5)
หากเราไม่เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ รู้หรือไม่ว่าอาหารทุกจานที่รับประทานเข้าไปส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยคิดเป็น 8-10% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก โดยการผลิตอาหารเหล่านั้นต้องใช้พื้นที่เกษตรกรรมเกือบ 30% ของโลก ดังนั้นเพื่อช่วยดูแลโลกให้น่าอยู่ การทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารจึงเป็นอีกวิธีการที่ไม่ยากและสามารถลดผลกระทบได้ อย่างน้อยที่สุดการหมักขยะอินทรีย์จะช่วยเบี่ยงเบนขยะจากการฝังกลบ ซึ่งเท่ากับช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนและป้องกันมลพิษต่าง ๆ เช่น ไฟไหม้และกลิ่นเหม็นไปในตัว นอกจากนี้ ปุ๋ยหมักยังนำไปปรับปรุงคุณภาพดิน และสามารถทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีได้อีกด้วย (7) (8)
การทำปุ๋ยหมักสามารถทำได้ทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชนที่มีพื้นที่เอื้ออำนวย โดยการใช้ภาชนะ เช่น ถังน้ำ หม้อดินเผา หรือในระดับท้องถิ่นก็สามารถรวมกลุ่มกันทำปุ๋ยหมักในชุมชนได้ ซึ่งการนำขยะอาหารไปทำปุ๋ยหมักนั้นสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2,100 ล้านตัน ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) ถือเป็นวิธีการที่ยั่งยืน ลงมือทำได้ไม่ยาก และช่วยสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (7) (8)
การนำเทคโนโลยีมาช่วยก็มีความสะดวกในการลดขยะอาหารได้มาก เช่น ใช้แอปพลิเคชันช่วยเตือนวันหมดอายุอาหาร หรือวางแผนซื้ออาหารอย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจซื้ออาหารมีความสอดคล้องกับความต้องการบริโภคที่แท้จริง และจะช่วยลดปริมาณขยะอาหารอย่างเห็นผล (6)
นอกจากนี้ สามารถต่อยอดขยะอาหารเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ด้วย เช่น การแปรรูปขยะอาหารเป็นพลังงานชีวภาพ หรือการสร้างสินค้าใหม่จากวัสดุชีวมวล ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร แต่ยังสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับชุมชนได้ด้วย (2)
อย่างไรก็ตาม การลดขยะอาหารให้ประสบความสำเร็จ และสามารถก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนี้นอกจากคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนแล้วยังช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมไปพร้อม ๆ กัน
ความตระหนักต่อปัญหาขยะอาหารและการเริ่มต้นลงมือทำไม่มีคำว่าสายเกินไป ทั้งเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและลงมือเปลี่ยนขยะให้เป็นปุ๋ย ผู้ลงมือทำในวันนี้จะเป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้นและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว นอกจากมีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังเป็นการส่งต่อความยั่งยืนสำหรับอนาคตของลูกหลานรุ่นต่อไปอีกด้วย

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) กรุงเทพมหานคร, ไม่เทรวม, คู่มือการจัดการขยะอินทรีย์
(2) ธนาคารกสิกรไทย, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, คนไทยสร้างขยะอาหาร (Food Waste) เฉลี่ย 86 กิโลกรัม/คน/ปี
(3) Food Waste Index Report 2024, UN : Environment Programme.
(4) กรุงเทพธุรกิจ, จะดีไหมถ้าเรามีถังหมักทำปุ๋ยจากขยะเศษอาหาร ที่ลดโลกร้อนได้
(5) TEI : Thailand Environment Institute, ลดโลกร้อน เริ่มต้นจาก “จานอาหาร” ของเรา
(6) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, 10 วิธีลดขยะอาหาร (Food Waste) ลดโลกร้อน
(7) Composting : Solution to Food Loss and Waste., UN : Environment Programme.
(8) United Nations., วันรณรงค์ลดการสูญเสียและขยะอาหารสากล 29 กันยายน

สัญญาณดีสู้โลกร้อน Climate Risk Index 2025 ไทยหลุดอันดับประเทศเสี่ยงสูง จาก 9 ไป 30

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยข้อมูล จากรายงาน Climate Risk Index 2025 โดย Germanwatch จัดอันดับประเทศเสี่ยงสูงด้านสภาพภูมิอากาศระยะยาวในช่วง 30 ปี (1993-2022) โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 30 ลดลงจากอันดับ 9 เทียบกับ 4 ปีที่แล้ว (ช่วงปี 2000-2019) แต่ยังต้องเตรียมพร้อมตั้งรับและปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนภายใต้ภาวะโลกเดือดอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากรายงาน Climate Risk Index 2025 โดย Germanwatch ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้ระบุว่าในช่วงปี 1993-2022 ภัยพิบัติทางธรรมชาติคร่าชีวิตคนกว่า 765,000 คน และสร้างความเสียหายเกือบ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นผลโดยตรงจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วมากกว่า 9,400 ครั้ง ซึ่งผลกระทบที่สำคัญที่สุดจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ได้แก่ พายุ (35%) คลื่นความร้อน (30%) และอุทกภัย (27%) ที่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต โดยอุทกภัยส่งผลกระทบต่อประชากรมากที่สุด คิดเป็นครึ่งหนึ่งของผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด ขณะที่พายุก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากที่สุด คิดเป็น 56% ของมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งหมด หรือประมาณ 2.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือ อุทกภัย คิดเป็น 32% หรือประมาณ 1.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ จัดทำขึ้นโดยใช้ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ฐานข้อมูลเหตุการณ์ภัยพิบัติระดับสากล (EM-DAT) ธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยพิจารณาจากตัวชี้วัดหลัก ได้แก่ จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบ และความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น พายุ น้ำท่วม คลื่นความร้อน ภัยแล้ง ไฟป่า วิธีการนี้จะสามารถเปรียบเทียบผลกระทบของภัยพิบัติในประเทศต่าง ๆ และสะท้อนถึงแนวโน้มของความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในแต่ละปี และแนวโน้มระยะยาว 30 ปี
รายงานฉบับนี้ ระบุว่า ในปี 2022 ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง 10 อันดับ ได้แก่ ปากีสถาน เบลีซ อิตาลี กรีซ สเปน เปอร์โตริโก สหรัฐอเมริกา ไนจีเรีย โปรตุเกส และบัลแกเรีย ตามลำดับ ซึ่งทุกประเทศล้วนเผชิญกับพายุ น้ำท่วม และคลื่นความร้อนที่รุนแรง ในกรณีของปากีสถานเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,700 คน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ส่วนอิตาลีและกรีซต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และเกิดไฟป่าขนาดใหญ่ที่สร้างความเสียหายอย่างหนัก สำหรับดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศระยะยาว (1993-2022) ประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุด แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นอย่างผิดปกติอย่างรุนแรง เช่น โดมินิกา ฮอนดูรัส เมียนมา และวานูอาตู 2) ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เช่น จีน อินเดีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งรายงานเตือนว่า แนวโน้มสภาพอากาศสุดขั้วกำลังกลายเป็น “ความปกติใหม่” โดยเหตุการณ์ที่เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ กำลังกลายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ ได้ระบุว่า ในปี 2022 ประเทศไทยมีค่าดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Index: CRI) อยู่ในอันดับที่ 72 แสดงถึงผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วของไทยลดลง เมื่อเทียบกับปี 2019 ที่อยู่ในอันดับ 34 ในขณะที่ค่าดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศระยะยาว ที่ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในช่วงระยะเวลา 30 ปี (1993-2022) พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 30 แสดงถึงผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วของไทยในระยะยาว ลดลงเมื่อเทียบกับ 4 ปีที่แล้ว ที่อยู่ในอันดับ 9 โดยขณะนั้นเป็นการประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในช่วงระยะเวลา 20 ปี (2000-2019) ซึ่งสาเหตุที่อันดับของประเทศไทยลดลงอย่างมาก มาจากหลายปัจจัย เช่น ตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ประเทศอื่น ๆ เผชิญกับความสูญเสียและความเสียหายจากภัยพิบัติทางสภาพอากาศที่รุนแรงกว่า สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยลดลงเนื่องจากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับปรุงวิธีการประเมินดัชนีความเสี่ยง ซึ่งเพิ่มตัวชี้วัดจำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบ และปรับเปลี่ยนช่วงระยะเวลาที่นำมาใช้ในการประเมินดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศระยะยาว จากเดิม 20 ปี เป็น 30 ปี
“ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ติดอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงแล้ว แต่ประเทศไทยจะยังคงเผชิญกับผลกระทบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น อุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงฤดูร้อน ภัยแล้ง ปริมาณฝนที่ตกหนักผิดปกติ จนส่งผลให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม เป็นต้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเตรียมความพร้อมรับมือและการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพระบบเตือนภัยล่วงหน้า ให้มีความแม่นยำ การสื่อสารที่เข้าถึงประชาชนอย่างทันท่วงที การพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยลดอุณหภูมิโลก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยและคนไทยมีภูมิคุ้มกันต่อภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ท่ามกลางภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต” ดร.พิรุณ กล่าวทิ้งท้าย

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

รายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับการอบรม หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 12 (ปธส.12)

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้พิจารณาคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการอบรมหลักสูตรดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว จึงขอประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 12 (ปธส.12) ขอให้ผู้ได้รับการคัดเลือกเข้ารับการอบรม กรอกรายละเอียดในแบบตอบรับการเข้าร่วม
การอบรมและแบบแสดงความจำนงเข้าร่วมพิธีเปิดและปฐมนิเทศ รายละเอียดตามเอกสารแนบท้ายประกาศ และส่งกลับภายในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 16.30 น. หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ขอถือว่าท่านสละสิทธิ์เข้ารับการอบรม

กรมลดโลกร้อน ลงพื้นที่ส่งเสริมโรงเรียนต้นแบบการจัดการขยะที่ต้นทาง พร้อมมุ่งสู่โรงเรียนคาร์บอนต่ำ

วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ดร.นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นำทีมเจ้าหน้าที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) โรงเรียนเทศบาล 2 วัดปราสาททอง เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ของโรงเรียน ให้กำลังใจศูนย์เรียนรู้โรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) โรงเรียนเทศบาล 2 วัดปราสาททอง พร้อมให้ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนเทศบาล 2 วัดปราสาททอง ยกระดับเป็นต้นแบบโรงเรียนคาร์บอนต่ำ เป็นโรงเรียนต้นแบบให้แก่โรงเรียนอื่นๆเพื่อเข้ามาศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อยกระดับโรงเรียนคาร์บอนต่ำให้คลอบคลุมทุกภูมิภาค ของประเทศไทยพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้า “carbon neutrality” ภายในปี 2050 และ บรรลุเป้า “net zero emissions” ภายในปี 2065 ต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ภาพรวม… แผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573

เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (หรือ NDC) ที่ร้อยละ 30 – 40 จากกรณีปกติ ณ ปี พ.ศ.2573 โดยแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ.2564 – 2573 นี้ จัดเป็นแผนระดับ 3 ที่บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรับผิดชอบหลักรายสาขา ทั้ง 5 สาขา ดังนี้
– สาขาพลังงาน โดยสำนักงานโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน
– สาขาคมนาคมขนส่ง โดยสำนักงานนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง (สนข.) กระทรวงคมนาคม
– สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม
– สาขาการจัดการของเสียชุมชนและน้ำเสียอุตสาหกรรม โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ
– สาขาเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยมีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) เป็นหน่วยประสานงานกลางของประเทศ
คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 โดยกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไว้ที่ 222.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) หรือ ร้อยละ 40 ณ ปี พ.ศ. 2573 ซึ่งแบ่งเป็น… เป้าหมายที่ สามารถดำเนินการได้เองในประเทศ (หรือ Unconditional) 184.8 MtCO2eq (หรือร้อยละ 33.3)
เป้าหมายที่สามารถดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อ ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ (หรือ Conditional) 37.5 MtCO2eq (หรือร้อยละ 6.7)
** ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แผนฉบับนี้ได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกอีก ไม่เกินร้อยละ 3 ในกรณีที่ใช้กลไกบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ Article 6
โดยเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ณ ปี พ.ศ. 2573 ที่ประเทศไทยต้องดำเนินการเองให้ได้ คือ 184.8 MtCO2eq (หรือร้อยละ 33.3) แบ่งเป็นสาขาต่าง ๆ ดังนี้
– สาขาพลังงาน 124.6 MtCO2eq
– สาขาคมนาคมขนส่ง 45.6 MtCO2eq
– สาขาการจัดการของเสียชุมชนและน้ำเสียอุตสาหกรรม 9.1 MtCO2eq
– สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมฯ 1.4 MtCO2eq
– สาขาเกษตร 4.1 MtCO2eq
ในส่วนของเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลงอีก 6.7 % และ 3% ประเทศไทยจะสามารถดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ และใช้กลไก Article 6

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

NDC Action Plan 2021-2030_Final (2025.04.09)

โจทย์ท้าทาย COP28 สู่ COP29 การเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิล

ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP28 เมื่อปี 2566 ซึ่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้บรรลุข้อตกลง “เปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิล” (Transition away from fossil fuel) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อพยายามไม่ให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเลวร้ายลงไปกว่านี้ และจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส (°C) เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยสาระสำคัญภายใต้ข้อตกลงนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนเป็นสามเท่าทั่วโลก ภายในปี พ.ศ.2573 และเพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยเฉลี่ยทั่วโลกเป็นสองเท่า ภายในปี พ.ศ.2573 (1)
การตั้งเป้า Triple UP, Double Down หรือการเพิ่มปริมาณพลังงานสะอาดให้ได้สามเท่าและพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานให้ดีขึ้นสองเท่าที่ว่า จำเป็นต้องเกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมีภาคเอกชนเข้ามาช่วยเติม และนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเร่ง แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากประเทศที่ไม่มีคนและเทคโนโลยีพร้อม จะให้เลิกใช้ฟอสซิลทันทีคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นในการประชุม COP29 จึงจะมีการเปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น ชนพื้นเมือง เยาวชน กลุ่มคนในพื้นที่ขัดแย้ง หรือกลุ่มอาชีพที่อยู่ในอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม (A Just and Equitable Energy Transition) ซึ่งกลุ่มประเทศตะวันออกกลางยอมรับว่ายังไงก็ไม่สามารถออกจากฟอสซิลได้ คำว่า Transition ของเขาคือ ลด ละ แต่ไม่เลิก แค่จะไม่เสพติดพลังงานจากฟอสซิลอีกต่อไป (2)
ทำให้การประชุม COP29 ทั่วโลกจับตามองกระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มุ่งเน้นการลดการใช้พลังงานฟอสซิลและหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่มากขึ้น แต่ทว่าอุตสาหกรรมพลังงานโลกยังมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติที่อาจเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในขณะนั้นประธาน COP28 จึงได้ริเริ่มโครงการ “Energy Transition Changemakers” มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือจากภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการลดการปล่อยมลพิษที่มีนวัตกรรมและขยายผลได้ทั่วโลก พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงวิธีการแก้ปัญหาที่ช่วยสนับสนุน และเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (3)
บริษัทและองค์กรทุกขนาดจากทั่วโลกสามารถสมัครเข้าร่วมได้ โดยโครงการทุกประเภทในสี่ภาคส่วนสำคัญมีสิทธิ์จะได้รับการพิจารณา ได้แก่ การใช้พลังงานทดแทน การบูรณาการพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ และภาคการปล่อยก๊าซหนัก เช่น เหล็ก ซีเมนต์ และอลูมิเนียม ทว่าในหลายประเทศยังมีแหล่งพลังงานหลักมาจากฟอสซิล (3)
การประชุม COP28 ได้ปิดฉากพร้อมกับข้อตกลงที่ส่งสัญญาณถึง “จุดเริ่มต้นของจุดสิ้นสุด” ยุคเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยปูทางสู่การเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็ว เป็นธรรม และเท่าเทียม สนับสนุนด้วยการลดการปล่อยมลพิษอย่างจริงจังและการระดมทุนที่เพิ่มขึ้น ในสัญลักษณ์ของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระดับโลกจากผู้แทนเกือบ 200 ประเทศที่ไปรวมตัวกันที่ดูไบ และมีมติร่วมกันเกี่ยวกับ “การทบทวนระดับโลก” เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มระดับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศก่อนสิ้นทศวรรษนี้ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อรักษาขีดจำกัดอุณหภูมิโลกที่ไม่เกิน 1.5°C (4)
การทบทวนระดับโลก (Global Stocktake) ถือเป็นผลลัพธ์สำคัญของ COP28 เนื่องจากครอบคลุมองค์ประกอบทุกด้านที่อยู่ระหว่างการเจรจา และจะถูกนำไปใช้โดยประเทศต่าง ๆ ในการพัฒนาแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งมีกำหนดส่งภายในปี 2568 การทบทวนดังกล่าวยอมรับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกต้องลดลง 43% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับระดับในปี 2562 เพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5°C ซึ่งจะว่าไปในขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ยังไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายความตกลงปารีสได้ (4)
การทบทวนเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการระดับโลกเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้สามเท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นสองเท่าภายในปี 2573 รวมถึงเร่งลดการใช้พลังงานจากถ่านหิน โดยที่ไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อลดมลพิษหรือจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ และมาตรการอื่น ๆ ที่ช่วยผลักดันการเปลี่ยนผ่านพลังงานให้ปราศจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในลักษณะที่เป็นธรรม มีระเบียบ และเท่าเทียม ประเทศพัฒนาแล้วยังคงต้องเป็นผู้นำในการดำเนินการ (4)
ในระยะสั้น มีการสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ เสนอเป้าหมายการลดการปล่อยมลพิษที่ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุมก๊าซเรือนกระจกทุกชนิด ทุกภาคส่วน และทุกประเภท พร้อมทั้งสอดคล้องกับขีดจำกัด 1.5°C ในแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศรอบถัดไป (การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDC) ซึ่งจะต้องยื่นภายในปี 2568 (4)
ทว่าการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก อาทิ รัสเซียและซาอุดิอาระเบีย ซึ่งต้องเผชิญกับการปรับตัวอย่างเร่งด่วนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ (5)
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ความต้องการพลังงานโลกที่ยังคงสูงและยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การลดพลังงานฟอสซิลเป็นเรื่องท้าทาย แม้ว่าโลกจะมีความคืบหน้าในการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็วในบางภาคส่วน เช่น การผลิตไฟฟ้าและยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า แต่ยังมีภาคส่วนอื่น ๆ ที่ปรับเปลี่ยนได้ช้ากว่าที่คาดไว้ เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ปูนซีเมนต์ การขนส่งทางเรือ และการบิน การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนยังไม่เพียงพอที่จะทดแทนโครงสร้างพื้นฐานพลังงานฟอสซิลทั้งหมด ส่งผลให้การลดก๊าซเรือนกระจกไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากการขาดกฎระเบียบที่ชัดเจนและการลงทุนที่ต่อเนื่องทั่วโลก นอกจากนี้ ต้นทุนการเปลี่ยนแปลงยังสูงมาก ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาประสบปัญหาในการยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตโดยไม่เพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (6)
ดังนั้น ความสำคัญอยู่ที่การสร้างนโยบายที่มั่นคงและส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านนี้ดำเนินไปอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ แม้ว่าอาจต้องใช้เวลา แต่ความสำเร็จในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีสะอาดที่เกิดขึ้นจนถึงตอนนี้ถือเป็นสัญญาณบวกที่อาจช่วยให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึงในอนาคต (6)
การที่พลังงานหมุนเวียนยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนฟอสซิลได้เต็มรูปแบบนั้น เป็นเหตุผลที่หลายประเทศยังต้องคงการใช้พลังงานฟอสซิลไว้ ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายประเทศพยายามหาทางออกเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านพลังงานเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน และเป็นธรรมต่อประเทศที่ยังพึ่งพาแหล่งพลังงานเหล่านี้ (7)
อย่างไรก็ดี องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เชื่อว่าในระยะยาวการเปลี่ยนผ่านพลังงานจะเป็นไปได้ หากทุกประเทศมีการวางแผนที่ดีด้านนโยบายและได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน รวมถึงเทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจากนั้น ประเทศต่าง ๆ ยังต้องให้ความสำคัญกับการปรับตัวในระบบเศรษฐกิจเพื่อให้รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งรวมถึงการลดการพึ่งพาน้ำมันและการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเพื่อเป็นทางออกที่ยั่งยืนสำหรับการผลิตพลังงาน (8)
ท้ายที่สุดนี้ การเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลไม่ใช่แค่การเลือกใช้พลังงานสะอาดเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการวางแผนระบบพลังงานที่สมดุลและตอบโจทย์การใช้พลังงานที่ยังมีอยู่ การเปลี่ยนผ่านอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม เมื่อความท้าทายการเปลี่ยนผ่านพลังงานยังคงอยู่ การประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศโลกที่ผ่านมานี้จึงเป็นก้าวย่างสำคัญในการสร้างการพูดคุยระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อวางแผนและกำหนดทิศทางการใช้พลังงานให้เกิดความเป็นธรรม และไม่สร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. สถาบันการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (สพท.). ศูนย์องค์ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. Output/Outcomes COP28 โลกได้อะไร.
(2) iGreen. จับตา COP29 ลดพลังงานอย่างไร เมื่อกลุ่มตะวันออกกลางไม่เลิกฟอสซิล.
(3) COP28
(4) COP28 Agreement Signals “Beginning of the End” of the Fossil Fuel Era., UNFCCC : United Nations Framework Convention on Climate Change., United Nations Climate Change.
(5) Russia’ Great Energy Game in the Middle East., CARNEGIE : Endowment for International Peace.
(6) Why aren’t we reducing our reliance on fossil fuels faster?, World Economic Forum.
(7) Energy Transition Outlook : Renewables still not replacing fossil fuels in the global energy mix., DNV
(8) World Energy Outlook shows there are set to be almost 10 times as many electric cars on the road, with renewables nearing half of the global power mix, but much stronger policies needed for 1.5 °C., The energy world is set to change significantly by 2030, based on today’s policy settings alone., IEA