18 มีนาคม วันรีไซเคิลโลก Global Recycling Day

               วันรีไซเคิลโลกก่อตั้งครั้งแรกในปี 2558 โดย Global Recycling Foundation เพื่อส่งเสริมความสำคัญของการรีไซเคิลและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน และได้รับการยอมรับจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations) และ The Bureau of International Recycling ในปี 2561
               การรีไซเคิลเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ในแต่ละปีทรัพยากรที่รีไซเคิลได้ช่วยลดการปล่อย CO2 ได้มากกว่า 700 ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านตันภายในปี 2573 หากมีการมุ่งเน้นเรื่องรีไซเคิลทั่วโลก
               ในโอกาสนี้ กรมลดโลกร้อน จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่าน ร่วมกันคัดแยกขยะ เพื่อการนำไปกำจัดได้อย่างถูกวิธี และยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือรีไซเคิลได้ต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
– กรมประชาสัมพันธ์

ทส. ยกย่อง 81 เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน พัฒนาเมืองอย่างสมดุล พร้อมรับ-ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

               วันที่ 17 มีนาคม 2568 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดพิธีมอบรางวัล “เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” ประจำปี 2567 โดยมี นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวรายงาน เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ 81 เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ต้นแบบพัฒนาเมืองอย่างสมดุล พร้อมตั้งรับ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
               นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี กล่าวว่า ภูมิอากาศและสภาวะสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เข้าสู่ภาวะวิกฤต ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจ และสังคมเป็นอย่างมาก การแก้ไขและการปรับตัวต่อปัญหาดังกล่าว ควรใช้หลัก “ภูมิสังคม” รวมทั้งการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จะก่อให้เกิดการพัฒนาปัญญา อีกทั้ง ความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ นั้น จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดยเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่งที่ผ่านเข้าสู่การประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนระดับประเทศ นับว่าเป็นเมืองแนวหน้าของประเทศ ที่มีการพัฒนามุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ร่วมกับประชาคมโลก และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ จึงขอให้รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้คงอยู่อย่างต่อเนื่อง พร้อมยกระดับให้ดียิ่งขึ้น และที่สำคัญ เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศยอดเยี่ยมระดับประเทศ ปี 2567 ให้แก่เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ทั้ง 4 แห่ง ในโอกาสต่อไป
               ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานภาคีทั้งในส่วนกลาง และระดับพื้นที่ ดำเนินงานเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมอย่างบูรณาการและสมดุลในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานของหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ให้เกิดความยั่งยืนตามบริบทของพื้นที่ ด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ เมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน และเมืองแห่งการเรียนรู้และการบริหารจัดการที่ดี โดยให้ความสำคัญกับการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงการเป็นเมืองพร้อมรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสำหรับพิธีมอบรางวัลในวันนี้ รวมทั้งสิ้น 114 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนและรางวัลชนะเลิศองค์การบริหารส่วนตำบลน่าอยู่อย่างยั่งยืน ระดับประเทศ ปี 2567 จำนวน 4 เมือง ได้แก่ เทศบาลนครระยอง จังหวัดระยอง “นครระยองน่าอยู่ สู่สังคมแห่งความสุขและความปลอดภัย” เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ “กาฬสินธุ์เป็นเมืองอุดมสมบูรณ์” เทศบาลตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี “พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต เท่าเทียมสิทธิ์เข้าถึงการรักษา พัฒนาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล” และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ “องค์กรมีประสิทธิภาพ ทันสมัย ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ” อีกทั้งรางวัลรองชนะเลิศ 29 แห่ง รางวัลเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนระดับพื้นที่ 76 แห่ง และเทศบาลที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมโครงการรางวัลอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน ปี 2567 จำนวน 5 เมือง ได้แก่ เทศบาลนครปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา เทศบาลเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด และเทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอผลงานและนวัตกรรมการพัฒนาเมือง เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาเมืองอย่างสมดุล และมีความพร้อมในการตั้งรับให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

‘เกษตรฟื้นฟู’ ยืดอายุโลก วิถีผลิตอาหารช่วยกักเก็บคาร์บอน

               สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรงและวิกฤตโลกร้อนในปัจจุบันได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจาก “ภาคเกษตรกรรม” ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 1 ใน 3 ของปริมาณทั้งหมดในโลก (1) โดยภาคเกษตรกรรมของไทยเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 15.03% ของการปล่อยทั้งหมดในปี 2023 หรือประมาณ 67.87 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) โดยกิจกรรมหลักที่ก่อให้เกิดก๊าซเหล่านี้ ได้แก่ การปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ เช่น การปลูกข้าว การใช้ปุ๋ยเคมี และการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร การหมักในระบบย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง และการจัดการมูลสัตว์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในประเทศเพิ่มขึ้น (7)
               แนวทางการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่ใช้เครื่องจักรหนักและสารเคมีจำนวนมากไม่เพียงทำลายสมดุลของธรรมชาติ แต่ยังส่งผลให้ดินเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วและขาดความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งได้ส่งผลกระทบไปจนถึงความมั่นคงทางอาหาร และยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในระดับโลก โดยมีมูลค่าการสูญเสียถึง 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นักวิชาการคาดการณ์ว่า หากไม่เร่งฟื้นฟูดินและระบบเกษตรในปัจจุบัน ภายใน 50 ปีข้างหน้า อาจไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงดูประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (1)
               ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์โลกร้อนในปัจจุบันได้ก้าวข้ามจุดที่สามารถควบคุมได้ไปแล้ว ข้อมูลล่าสุดระบุว่าในปี 2023 โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1850 ซึ่งสูงกว่าช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.48 องศาเซลเซียส เป็นผลมาจากการใช้พลังงานฟอสซิลและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมมาตลอดระยะเวลากว่า 170 ปี ทำให้ปัญหาโลกร้อนไม่เพียงแต่จะยังคงอยู่ แต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นหากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรม (1)
               แนวทางใหม่ที่เรียกว่า “เกษตรฟื้นฟู” หรือ Regenerative Agriculture กำลังได้รับความสนใจในฐานะทางออกสำคัญที่สามารถบรรเทาผลกระทบจากภาคเกษตรกรรมต่อสิ่งแวดล้อม วิถีการเกษตรนี้มุ่งเน้นการฟื้นฟูดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ลดการใช้สารเคมี และสร้างสมดุลในระบบนิเวศอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ (1)
               เกษตรฟื้นฟูเป็นระบบการผลิตอาหารที่เน้นฟื้นฟูสุขภาพดินและสร้างความสมดุลในระบบนิเวศ ต่างจากเกษตรกรรมแบบเดิมที่มุ่งปริมาณผลผลิตแต่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมีและการไถพรวนหน้าดิน พร้อมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชหมุนเวียนและเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน ทำให้เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและความสามารถในการกักเก็บน้ำและคาร์บอนในดิน โดยดินที่ผ่านการฟื้นฟูสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน (2)
               แนวทางนี้ยังช่วยลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่รุนแรงในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา โดยพันธุ์พืชกว่า 90% และสัตว์เลี้ยงเพื่อการเกษตรครึ่งหนึ่งได้สูญหายไป ขณะที่พืชเพียง 9 ชนิดกลับครองสัดส่วน 66% ของการผลิตพืชผลทั่วโลก อีกทั้งยังเกี่ยวเนื่องไปจนถึงปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วนและทุพโภชนาการ (2)
               “ดิน” คือหัวใจของการเกษตร ดินที่มีสุขภาพดีไม่เพียงช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร แต่ยังทำหน้าที่สำคัญในการเก็บกักน้ำและคาร์บอน พร้อมทั้งสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะดินเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนับไม่ถ้วน และยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนขนาดใหญ่ที่ช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ แนวทางการเกษตรฟื้นฟูจึงมุ่งเน้นการฟื้นฟูและเพิ่มคุณภาพของดิน เช่น การลดการไถพรวน เพื่อลดการรบกวนจุลินทรีย์ในดินและช่วยกักเก็บคาร์บอนในระยะยาว (3)
               ปัจจุบันทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการเกษตรในหลากหลายภูมิภาค ทั้งในเอเชีย ละตินอเมริกา สหรัฐอเมริกา แคนาดา แอฟริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (3) ซึ่งมีตัวอย่างความสำเร็จของระบบเกษตรฟื้นฟูให้เห็นในหลายพื้นที่ เช่น ในแอฟริกา การนำระบบเกษตรฟื้นฟูมาใช้คาดว่าจะช่วยเพิ่มผลผลิตพืชได้ถึง 13% ภายในปี 2040 และจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 40% ในอนาคต ส่วนในยุโรปหากมีการนำระบบนี้ไปใช้ในพื้นที่เกษตรอย่างแพร่หลายจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 6% ต่อปี ไม่เพียงเท่านั้น ระบบเกษตรฟื้นฟูยังช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนับเป็นผลลัพธ์ที่สร้างประโยชน์ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (1)
               ในประเทศไทยเองก็มีตัวอย่างของการทำเกษตรฟื้นฟูที่น่าสนใจ อย่างเช่น อุดรออร์แกนิคฟาร์ม – Udon Organic Farm จังหวัดอุดรธานี ฟาร์มแห่งนี้มี “นิค” และ “เจน” สองพ่อลูกที่เริ่มต้นการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ก่อนจะเปลี่ยนแนวทางไปสู่เกษตรฟื้นฟู หลังจากพบว่าดินในพื้นที่เริ่มเสื่อมโทรมจนผลผลิตลดลง การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากลดการไถพรวนที่รบกวนโครงสร้างดิน และหันมาใช้วิธีปลูกพืชที่รักษาสมดุลธรรมชาติในดิน ผลลัพธ์ที่ได้คือดินค่อย ๆ ฟื้นตัว มีจุลินทรีย์เพิ่มขึ้น สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศกลับมาอาศัยในพื้นที่ และผลผลิตทางการเกษตรก็ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง (4)
               เกษตรฟื้นฟูไม่เพียงแต่ช่วยฟื้นฟูดินเท่านั้น แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มศักยภาพของดินในการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ดินที่มีสุขภาพดีสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าต้นไม้ถึง 3 เท่า (4)
               แต่ดินที่อุดมสมบูรณ์และดีต่อสุขภาพเป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ในเวลาอันสั้น เนื่องจากการสร้างดินที่สมบูรณ์เพียงครึ่งเซนติเมตรต้องใช้เวลาถึง 1,000 ปี การศึกษาหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า โลกกำลังสูญเสียดินในอัตราที่เร็วกว่าอัตราการฟื้นตัวถึง 50-100 เท่า โดย FAO ระบุว่า ดินที่เทียบเท่าสนามฟุตบอลหนึ่งสนามถูกกัดเซาะทุก ๆ 5 วินาที อย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ว่า การใช้สารอาหารที่เหมาะสมสามารถช่วยฟื้นฟูสุขภาพของดินและลดการเสื่อมโทรมได้ การจัดการสุขภาพของดินเป็นกุญแจสำคัญในความพยายามระดับโลกในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากภาคเกษตรกรรมครอบคลุมพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของโลก (5)
               เกษตรฟื้นฟูจึงถือเป็นอีกหนึ่งคำตอบของระบบการผลิตอาหารที่ใส่ใจทั้งคนปลูก คนกิน และสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการจัดการความหลากหลายของพืชและปศุสัตว์อย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ พร้อมกับใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างคุ้มค่า อีกทั้งยังช่วยปกป้องดิน น้ำ และสภาพภูมิอากาศ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และลดการปนเปื้อนจากสารเคมี และพืชดัดแปลงพันธุกรรม (6)
               ในฐานะผู้บริโภค การรู้ที่มาของอาหารที่เรากินไม่เพียงช่วยให้มั่นใจว่าอาหารปลอดภัยต่อสุขภาพ แต่ยังช่วยให้เราสนับสนุนเกษตรกรที่ใช้วิธีการผลิตที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม การเลือกบริโภคอาหารจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศอย่าง “เกษตรฟื้นฟู” จึงเป็นการดูแลสุขภาพของเรา พร้อมกับช่วยรักษาระบบนิเวศ และลดความเสี่ยงที่เกษตรกรต้องเผชิญจากการใช้สารเคมี นับเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กัน โดยที่โลกถูกทำร้ายน้อยลงอีกด้วย (6)

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) the sustain, “เกษตรฟื้นฟู” มีสำคัญยังไง ทำไมถึงเป็นทางออกของวิกฤตโลกร้อน
(2) BioThai, นิเวศเกษตร คือ อะไร
(3) EECi : เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก, Regenerative Agriculture ความยั่งยืนของดินเพื่อความยั่งยืนของโลก
(4) iGreen, ‘เกษตรฟื้นฟู’ ตัวจริง Carbon Neutral กักเก็บคาร์บอนมากกว่าป่าปลูก
(5) Ground Zero : why soil health is inegral to beating climate change., FOOD AND WATER, World Economic Forum.
(6) GREENPEACE, เกษตรกรรมเชิงนิเวศ
(7) องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน ด้วยการ “ปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

กรมลดโลกร้อน ร่วมเปิดงาน The Nova Expo 2025 ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมสีเขียวปฏิวัติโลก” (Green innovation Revolution)

               เมื่อวันพุธที่ 12 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน The Nova Expo 2025 มหกรรมการแสดงนวัตกรรมอาคารและความคิดสร้างสรรค์ เสริมสร้างความสุขและความปลอดภัยของชีวิต เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและโลกที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมสีเขียวปฏิวัติโลก” (Green innovation Revolution) พร้อมด้วยนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ ความท้าทายและโอกาสของธุรกิจไทยจาก พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา กรุงเทพฯ
               ทั้งนี้ กรมฯ ได้นำเสนอถึงความสำคัญและความเร่งด่วนของการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก และปัจจุบันอยู่ระหว่างการผลักดันให้มี พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเตรียมการจัดส่งเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับใหม่ หรือ NDC 3.0 ที่มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น พร้อมกับแผนการลงทุนสีเขียว นอกจากนี้ยังมี Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ที่ขยายความครอบคลุมไปยัง ภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์ และภาคเศรษฐกิจอื่นที่สำคัญ ได้แก่ ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคการจัดการของเสีย ซึ่งการขับเคลื่อนนวัตกรรมสีเขียวและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง งาน The Nova Expo 2025 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2568 นี้ จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคส่วนต่างๆ จะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ ในการออกแบบและก่อสร้างอาคารและเมือง ผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมกันส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน นำพาประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ที่เป็นทิศทางของโลกในปัจจุบัน ต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ทส. กางแผนรับมือฝุ่น PM2.5 ลดกระทบประชาชน-การท่องเที่ยว

               ฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกิดขึ้นในทุกปี กลายเป็นวิกฤตสภาพอากาศที่สร้างผลกระทบรุนแรง ทำให้บางจังหวัดของประเทศไทย อย่างเช่น กรุงเทพมหานครและเชียงใหม่ กลายเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศแย่ติดอันดับท็อป 10 ของโลก จากข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ของ IQAir ณ วันที่ 7 มีนาคม 2568 เชียงใหม่ ติดอันดับ 1 เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก ในขณะที่ก่อนนี้ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุดอันดับ 9 ของโลก (ข้อมูลอันดับดัชนีคุณภาพอากาศ AQI เป็นข้อมูลแบบเรียลไทม์อันดับจึงเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา) (1) (2)
               รายงานของธนาคารโลก ปี 2565 ระบุว่า ฝุ่น PM2.5 ทำให้คนไทยผู้เสียชีวิตจากมลพิษในอากาศก่อนวัยอันควรมากถึง 50,000 ราย เป็นวิกฤตที่เกิดต่อเนื่องมาหลายปี และดูจะยังไม่สามารถแก้ไขได้ในเร็ววัน ในขณะที่ภาพใหญ่ของปัญหามลพิษอากาศโลกประเมินว่า ประชากรโลกกว่า 80% ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงจากฝุ่น PM2.5 โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 8.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 6.1% ของ GDP โลก (4)
               ทั้งนี้ กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ซึ่งติดอันดับเมืองอันตรายจากฝุ่นพิษถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของไทย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ทั้งปี 2568 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย จำนวน 37.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.6% จากปี 2567 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีมูลค่า 1.78 ล้านล้านบาท เติบโต 6.5% จากปี 2567 โดยอัตราชะลอลงกว่าปี 2567 ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ, พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป และอื่น ๆ โดยรายได้การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 80% อยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก 3 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต และชลบุรี (3)
               จากการประเมินความเสียหายหรือผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 เฉพาะในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ประมาณ 3,000-6,000 ล้านบาทต่อเดือน โดยเฉพาะจากค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่น ต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวจากการสูดมลพิษ โดยที่การท่องเที่ยวเป็นธุรกิจได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะผลกระทบจากการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยว เช่น ภาคเหนือ และภาคอื่น ๆ ที่มีปัญหา PM2.5 สูง อีกทั้งมลพิษอากาศยังสร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศในสายตานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีความกังวล และจะไม่กล้าเดินทางมาท่องเที่ยวในระยะถัดไปด้วย หากปัญหาฝุ่น PM2.5 ในไทยยืดเยื้อจะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 5,500-10,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแน่นอนว่าความสูญเสียนี้ส่วนหนึ่งเป็นรายได้จากการท่องเที่ยว (4)
               นอกจากนี้จากการศึกษาผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในแต่ละช่วงระยะเวลาพบว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงในเดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคม หากดัชนีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากค่าเฉลี่ยรายเดือน จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพมหานคร ลดลง จำนวน 106,060 คน และจำนวน 659,368 คน ตามลำดับ และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เสียโอกาสจากนักท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 476.27 ล้านบาท และกรุงเทพมหานคร 4,105.13 ล้านบาท (5)
               อย่างไรก็ดี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อธิบายผ่านการตอบกระทู้ถามด่วนด้วยวาจาแทนนายกรัฐมนตรี เรื่อง ฝุ่นพิษส่งผลต่อพื้นฐานชีวิตประชาชนในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 9 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้ความสำคัญและยกระดับการทำงานเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีการดำเนินงานในเชิงรุก มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ที่มีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ พร้อมทั้งได้จัดตั้งคณะทำงานในระดับศูนย์ปฏิบัติการ อีก 3 ระดับ คือ 1) ระดับชาติ 2) ระดับภาค กรณีปัญหาฝุ่นเป็นการข้ามเขตป่าหรือเขตปกครอง และ 3) ระดับจังหวัด (7)
               นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ได้มีการประชุมซักซ้อมการป้องกันและรับมือปัญหาไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ประจำปี 2568 พร้อมเปิดศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังควบคุมไฟป่า และหมอกควันภาคเหนือ เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ณ จังหวัดเชียงใหม่ และวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ได้มีการประชุมร่วมกับนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และกรุงเทพมหานคร ตำรวจนครบาล ตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก เพื่อวางมาตรการแนวทางการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (7)
               สำหรับมาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 รัฐบาลได้มีมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นได้ขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยเร่งด่วน เช่น จัดให้มี Work from Home ยกเว้นค่าโดยสารรถไฟฟ้า – ค่ารถเมล์ ปฏิบัติการฝนเทียม ตรวจสอบทุกพื้นที่อย่างใกล้ชิด รวมถึงการจัดตั้งแอปพลิเคชันสำหรับรับแจ้งเหตุการเผา การกวดขันรถควันดำ และพื้นที่ก่อสร้างที่ไม่คลุมผ้าป้องกันฝุ่นตามกฎหมายโดยเคร่งครัด เป็นต้น (7)
มาตรการในระยะยาว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูแลรับผิดชอบในส่วนของพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ได้มีการวางมาตรการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 โดยมีเป้าหมายลดการเผาไหม้ในพื้นที่ป่าให้ได้ 25% จากปี 2567 (7)
               ในขณะที่เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ประจำปี 2568 ณ ห้องประชุมสโมสรยอดทัพ กองพลทหารราบที่ 7 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยระบุว่าปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM2.5 ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายองค์กรต่าง ๆ และความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน (10)
               ทั้งนี้ เพื่อให้สถานการณ์ฝุ่นละอองบรรเทาเบาบางลง โดยขอความร่วมมือภาคเอกชนในการช่วยอุดหนุนเกษตรกรให้เปลี่ยนผลผลิต เช่น นำซังข้าวโพดมาแปรรูปหรือใช้ทำเป็นพลังงาน โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยหามาตรการจูงใจเกษตรกรให้ทำการเกษตรปลอดการเผา มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหา และให้กรมวิชาการเกษตร สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกรถึงผลดีผลเสียของการเผาและไม่เผา รวมถึงการนำผลผลิตไปแปรรูปใช้ประโยชน์ทดแทนการเผาเพื่อให้เกิดรายได้เพิ่มกับเกษตรกร (10)
               มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พัฒนาระบบตรวจจับฝุ่นควันและระบบแจ้งเตือนประชาชน สำหรับเรื่องสุขภาพให้กระทรวงสาธารณสุขแจ้งประชาชนในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติให้ชัดเจน ทั้งนี้ มอบหมายให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ เตรียมความพร้อม เฝ้าระวัง รับมือ และกำหนดกรอบการดำเนินงานในพื้นที่ป่าให้ชัดเจนเมื่อมีแนวโน้มที่จะเกิดการเผาไหม้ ในพื้นที่อุทยานต่าง ๆ รวมถึงเพิ่มความระมัดระวังในการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและความสูญเสีย พร้อมเน้นย้ำให้บูรณาการความร่วมมือการทำงานในทุกภาคส่วน เพื่อการแก้ไขปัญหาและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ (9)
               ถัดมาที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ได้ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568 – 2570) และระยะ 5 ปีต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกินมาตรฐาน โดยขับเคลื่อนผ่าน 5 มาตรการหลัก ดังนี้ (8)
               1. การกำหนดพื้นที่ควบคุมพิเศษ (Low Emission Zone) ค่าธรรมเนียมการใช้ถนน การกำหนดให้การผลิตปล่อยมลพิษต่ำ
               2. การจัดทำผังเมืองและการก่อสร้างโดยคำนึงถึงการระบายอากาศและการสะสมมลพิษ
               3. การจัดทำแผนจัดการป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าชุมชนเพื่ออากาศสะอาด
               4. การปรับโครงสร้างการผลิตพืชลดความเสี่ยงการเผา และการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับควบคุมการเผา
               5. การกำหนดแนวทางลด/ระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเผา
               นอกจากนี้ยังมีแนวคิดการพัฒนาระบบบริหารจัดการมลพิษทางอากาศแบบบูรณาการ โดยการป้องกัน ลด และควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด เพื่อให้บุคคล ชุมชน และประชาชนมีสิทธิในอากาศสะอาด มุ่งเน้นการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดภาคอุตสาหกรรม ภาคคมนาคม ภาคป่าไม้ ภาคเกษตรกรรม ภาคเมือง พร้อมสร้างเครื่องมือ กลไก เทคโนโลยี กฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการจูงใจ มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ และการบังคับใช้กฎหมาย ครอบคลุมพื้นที่เมือง พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม และมลพิษข้ามแดน (8)
               ทั้งหมดนี้สอดคล้องและรองรับ พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด โดยมีเป้าหมายที่มุ่งเน้นให้ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และพื้นที่เผาไหม้ (Burnt scar) ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี (9)
               ทั้งนี้ มาตรการที่ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ครั้งที่ 1/2567 ที่มีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ปี 2568 ไว้ 5 มาตรการ ประกอบด้วย ดังนี้ (11)
               1. ให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติให้เป็นไปตามปฏิทินการปฏิบัติงานภายใต้มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568
               2. เห็นชอบในหลักการให้หน่วยงานที่มีความจำเป็นเสนอโครงการเพื่อขอรับการจัดสรรงบกลาง ไปยังสำนักงบประมาณเป็นการเร่งด่วนเพื่อให้ทันต่อการดำเนินงานรับมือกับสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ที่จะเกิดขึ้นในช่วง ม.ค. – พ.ค. 2568
               3. แต่งตั้งคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการ 14 กลุ่มป่าเป้าหมาย เพื่อบัญชาการ เฝ้าระวัง ควบคุมไฟป่าและหมอกควันแบบไร้รอยต่อเขตป่าหรือเขตปกครอง และบูรณาการความร่วมมือของชุมชนรอบป่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทหาร เน้นความปลอดภัย ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย
               4. แต่งตั้งคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 กรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ปัญหาในเขตเมือง
               5. แต่งตั้งคณะทำงานสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อเน้นการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทาง สร้างความรู้ ความเข้าใจ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวด้วย

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) กรุงเทพธุรกิจ, กรุงเทพฯ อันดับ 9 อากาศมีมลพิษมากที่สุดในโลก PM2.5 สูงกว่าเกณฑ์ 14.5 เท่า
(2) อีจัน, แทบสิ้นใจ! “เชียงใหม่” ฝุ่นพิษพุ่ง TOP 1 ของโลก
(3) ธนาคารกสิกรไทย, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, ต่างชาติเที่ยวไทยปี 2568 คาดแตะ 37.5 ล้านคน โตชะลอที่ 5.6% สร้ายรายได้ 1.78 ล้านล้านบาท
(4) The Standard : Stand Up for The People, เจาะลึกปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 ภัยร้ายที่กำลังทำลายเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่คิด
(5) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMUDC), ผลกระทบของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพมหานคร
(6) Thailand Can, สังคมและเศรษฐกิจไทย…เจ็บแค่ไหนจากฝุ่น PM2.5
(7) สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, “รมว.ทส. เฉลิมชัย” ตอบกระทู้ สว. ย้ำ แก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ต้องอาศัยความเข้มงวด และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งในพื้นที่ป่า – พื้นที่เกษตร – เมือง
(8) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, “รองนายก ประเสริฐ” แก้ปัญหา PM2.5 ผลักดันแผนแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ฉบับ 2 เร่งบังคับใช้ 2568 เป็นต้นไป
(9) Thai PBS, บอร์ดสิ่งแวดล้อมเคาะแผนแก้ฝุ่น ฉ.2 เตือน กทม. PM2.5 สีส้ม 6-9 ก.พ.
(10) สำนักรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, “เฉลิมชัย” รับ “นายกฯ แพทองธาร” มอบนโยบายแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน PM2.5 ปี ’68’ พร้อมสร้างขวัญกำลังใจกำลังพลร่วม เร่งสร้างอากาศสะอาด เพื่อคนไทยทุกคน
(11) กรุงเทพธุรกิจ, รัฐฯ ลุย 5 มาตรการ แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปี 2568 ควบคุมฝุ่นในเมือง ไฟป่า หมอกควัน

กรมลดโลกร้อน จัดประชุมหารือการกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาเกษตร ภายใต้ NDC 3.0 ของประเทศไทย

               เมื่อวันอังคารที่ 11 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ จัดประชุมหารือการกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาเกษตร โดยมีนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วยนายกิตติศักดิ์ พฤกษ์กานนท์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย หัวหน้าหน่วยวิจัยด้านพลังงานที่ยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงหน่วยงานรับผิดชอบหลัก (Sectoral focal point) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 14 หน่วยงาน เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุมกรรณิการ์-ราชาวดี (303 – 304) ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
               การประชุมในครั้งนี้มุ่งเน้นการหารือเกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาเกษตร ให้มีความชัดเจนและสะท้อนการดำเนินงานที่เป็นไปได้ในอนาคต ที่ประชุมร่วมกันให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่อการกำหนดสัดส่วนปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานเองภายในประเทศ (Unconditional target) และการได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศเพิ่มเติม (Conditional target) ภายใต้ค่าเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ณ ปี พ.ศ. 2578 (ค.ศ. 2035) เพื่อเร่งการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจก และยกระดับให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมครั้งนี้ไปพิจารณาและใช้เป็นข้อมูลประกอบการประชุมหารือระดับภาพรวมของทุกสาขา ในวันที่ 20 มีนาคม 2568 และจะดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับที่ 2 (NDC 3.0) ของประเทศไทย ในวันที่ 27 มีนาคม 2568 ต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน จัดประชุมหารือการกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สาขาของเสีย ภายใต้เป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับที่ 2 (NDC 3.0)

               เมื่อวันอังคารที่ 11 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ จัดประชุมหารือการกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สาขาของเสีย โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วยนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีฯ นายกิตติศักดิ์ พฤกษ์กานนท์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย หัวหน้าหน่วยวิจัยด้านพลังงานที่ยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงหน่วยงานรับผิดชอบหลัก (Sectoral focal point) เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุมกรรณิการ์-ราชาวดี (303 – 304) ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
               การประชุมในครั้งนี้มุ่งเน้นการหารือเกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกในสาขาของเสียให้มีความชัดเจนและสะท้อนการดำเนินงานที่เป็นไปได้ในอนาคต ที่ประชุมร่วมกันให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่อการกำหนดสัดส่วนปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานเองภายในประเทศ (Unconditional target) และการได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศเพิ่มเติม (Conditional target) ภายใต้ค่าเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ณ ปี พ.ศ. 2578 (ค.ศ. 2035) ของสาขาของเสีย เพื่อเร่งการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจก และยกระดับให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมครั้งนี้ไปพิจารณาและใช้เป็นข้อมูลประกอบการประชุมหารือระดับภาพรวมของทุกสาขาต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ถึงเวลาปฏิรูประบบอาหาร กุญแจดอกสำคัญต่อสู้โลกเดือด

               โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตอาหารที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ประชากรบางกลุ่มขาดแคลนอาหารทั้งในปริมาณและคุณค่าทางโภชนาการ ในปี 2566 จำนวนคนที่เผชิญความไม่มั่นคงด้านอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 345 ล้านคนใน 79 ประเทศ จาก 135 ล้านคนใน 53 ประเทศก่อนเกิดโรคระบาด ขณะนี้หลายคนต้องทนทุกข์จากภาวะทุพโภชนาการซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากวิกฤตนี้ไม่ได้รับการแก้ไข (1)
               ในปัจจุบันประชากรโลกมีมากถึง 7,900 ล้านคน และคาดว่าในปี 2593 ประชากรจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านคน การผลิตอาหารในรูปแบบปัจจุบันยังเน้นการเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชสำหรับอาหาร ซึ่งต้องใช้พื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เทียบได้กับขนาดพื้นที่ของประเทศไทย 12 ประเทศ นี่คือเหตุผลที่ต้องปฏิรูประบบอาหารเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตอาหารให้เกิดความยั่งยืน และสามารถรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต (2)
               วิกฤตอาหารเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ความขัดแย้งทางการเมือง สงคราม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และราคาอาหารที่สูงขึ้น โดยวิกฤตปัจจุบันได้รับผลกระทบจากสงครามในยูเครนและการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ราคาอาหาร เชื้อเพลิง และปุ๋ยพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น ภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ ไฟไหม้ และน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหาร และความมั่นคงทางอาหารในหลายภูมิภาค (1)
               ปัญหาเหล่านี้ทวีความรุนแรง ในขณะที่อาหารกว่าหนึ่งในสามของการผลิตทั่วโลกต้องสูญเปล่า หรือคิดเป็นปริมาณมหาศาลถึง 1,300 ล้านตันต่อปี ความสูญเสียนี้เกิดขึ้นในทุกประเภทอาหาร ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม อาหารทะเล หรือธัญพืช โดยบางส่วนเสียหายตั้งแต่ยังอยู่ในฟาร์ม บางส่วนเน่าเสียระหว่างขนส่ง และอีกจำนวนมากถูกทิ้งจากโรงแรม ร้านอาหาร และครัวเรือน ปัญหานี้ไม่เพียงสะท้อนถึงการสูญเสียทรัพยากรอันมีค่าเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศในวงกว้าง (3)
               การผลิตอาหารต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล ทั้งพลังงานและน้ำ ตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การขนส่ง ไปจนถึงการบรรจุหีบห่อ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่ออาหารเน่าเสียและไปจบในหลุมฝังกลบยังปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่รุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ การลดขยะอาหารเพียงอย่างเดียวสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกได้ถึง 6-8% ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาเพียงแห่งเดียว การผลิตอาหารที่สูญเปล่าก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมูลค่าเทียบเท่ากับรถยนต์ 32.6 ล้านคัน (3)
               ระบบอาหารของโลกตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการบริโภค มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงหนึ่งในสาม โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 25% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด ในขณะที่สหประชาชาติได้ประกาศว่า พันธกรณีระดับโลกในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5°C (4)
               การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเป็นกลยุทธ์สำคัญในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอาหารในระดับสูง การลดการบริโภคอาหารที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูง เช่น เนื้อแดงและผลิตภัณฑ์จากนม สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 29% (4)
               นอกจากนี้ การควบคุมการบริโภคมากเกินไปในภูมิภาคที่ไม่มีปัญหาความมั่นคงทางอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม การสร้างการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยแนวทางที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการพัฒนา “หลักการออกแบบทางเลือก” (Choice Architecture) ที่ออกแบบสภาพแวดล้อมให้ผู้คนเลือกทำสิ่งที่ยั่งยืนได้ง่ายขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจทางการเงินและการรณรงค์ให้ข้อมูล รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการขยะอาหาร และการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ (4)
               อีกหนึ่งวิธีคือ การเปลี่ยนไปพึ่งแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืนและสมดุลมากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มการบริโภคโปรตีนจากพืชควบคู่กับการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในระดับที่พอเหมาะ กระแส Flexitarian (คำที่ผสมระหว่าง Flexible และ Vegetarian คือการรับประทานมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืชเป็นหลัก) จึงเกิดขึ้น โดยเน้นการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของโปรตีนจากพืชสูงขึ้น โดยไม่ตัดสินใจเป็นมังสวิรัติหรือวีแกน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ตอบสนองต่อการเข้าใจ “เขตจำกัดของโลก” หรือ “Planetary Boundaries” และความสำคัญของการรักษาสุขภาพในระยะยาว (Healthspan) (2)
               การเปลี่ยนแปลงในการบริโภคอาหารดังกล่าวจะช่วยลดภาระทางสุขภาพ โดยมีการคาดการณ์ว่าหากมนุษย์หันมาบริโภคตามไกด์ไลน์ที่เหมาะสม จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ถึง 1.6 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.6 ล้านล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยลดปัญหาของโรคไม่ติดต่อและภาระทางการแพทย์ในอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญ (2)
               นอกจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อสุขภาพและความยั่งยืนแล้ว การปรับวิธีการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นก็มีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเช่นกัน โดยเฉพาะการจัดการปศุสัตว์แบบใหม่ เช่น การเปลี่ยนสูตรอาหารสัตว์ การเพิ่มอาหารเสริม และการปรับปรุงพันธุ์อย่างมีเป้าหมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากกระบวนการหมักในลำไส้ของสัตว์ นอกจากนี้ การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้ถ่านชีวภาพ (ไบโอชาร์) ก็ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และกักเก็บคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ (4)
               อีกหนึ่งวิธีที่ได้รับการแนะนำคือ การเพาะปลูกแบบไม่ไถพรวนดิน (No-till Farming) ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในดิน โดยการขุดหลุมหยอดเมล็ดแทนการไถพรวน การไม่ไถดินช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ประหยัดต้นทุนเครื่องจักร และลดมลพิษจากการใช้เชื้อเพลิงดีเซล แม้ว่าผลผลิตจะลดลงในช่วงแรก แต่ดินที่ไม่ถูกรบกวนจะช่วยเพิ่มการเติบโตของพืชในระยะยาว ซึ่งวิธีนี้สามารถ +ลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 30% (5)
               การประชุมนวัตกรรมการเกษตรและอาหารโลก 2024 (WAFI 2024) ที่กรุงปักกิ่ง ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของนวัตกรรมในการพัฒนาระบบการเกษตรที่ยืดหยุ่นและรับมือกับความท้าทายจากสภาพภูมิอากาศ โดยแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น เกษตรกรรมอัจฉริยะ การผสมพันธุ์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI และระบบปศุสัตว์และสัตว์น้ำที่ยั่งยืน (6)
               ในขณะเดียวกัน เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วจากวิกฤตโลกเดือด เช่น ความแห้งแล้ง น้ำท่วม และคลื่นความร้อน ย้อนกลับมาส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลผลิตทางการเกษตร ปศุสัตว์ และการประมง นำไปสู่การหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานอาหารและราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น การแก้ปัญหาต้องอาศัยมาตรการเร่งด่วน เช่น การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน การลดภาษีการนำเข้าอาหาร ควบคู่ไปกับนวัตกรรม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ การจัดการขยะอาหารและการสูญเสียตลอดห่วงโซ่การผลิตก็เป็นส่วนสำคัญในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (1)
               ในประเทศไทย ภาคเกษตรกรรมเผชิญความเสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น เอลนีโญ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาคเกษตรมูลค่ากว่า 2.85 ล้านล้านบาท หากไม่ได้รับการแก้ไข ภาคใต้และภาคตะวันออกเสี่ยงจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในปี 2588 ส่งผลต่อการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก เพื่อรับมือกับปัญหานี้จำเป็นต้องสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิต การให้ความรู้เพื่อลดผลกระทบ การเลือกปลูกพืชที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำ และการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาคุณภาพผลผลิต (1)
               การปฏิรูประบบอาหารไม่ใช่เพียงทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะช่วยรักษาโลกใบนี้ให้น่าอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไป แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงอาจดูเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ แต่ทุกการกระทำ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้บริโภค ไปจนถึงภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศ ด้วยการผสมผสานนวัตกรรมทางการเกษตร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และการปฏิรูประบบอาหารที่สามารถสร้างยั่งยืน ล้วนมีความสำคัญในการสร้างอนาคตที่ดีสำหรับทุกคน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) iGreen, ภาวะโลกร้อนเขย่าวิกฤตอาหารโลก ผลผลิตลด คนหิวโหย อันตรายถึงชีวิต
(2) iGreen, ปลุกกระแส ‘ปฏิรูประบบอาหาร’ ลดก๊าซมีเทนรับมือ Climate Change
(3) Fight climate change by preventing food waste., WWF.
(4) The food system is a vital part of the climate solution., Global Food Security : The UK cross-government programme on food security.
(5) SDG Move : Moving Towards Sustainable Future., วิธีการเพาะปลูกแบไม่ไถพรวนดิน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มปริมาณคาร์บอนที่เก็บในดิน
(6) China Focus : Chinese, foreign experts call for agricultural sci-tech innovation to combat climate change., XinhuaNet.

ข้อมูลสาระสำคัญในสัญญา (ใบสั่งจ้าง สลก.36/2568) จ้างดำเนินการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลฯ (มหาวิทยาลัยรังสิต) โดยวิธีเฉพาะเจาะจง

ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา จ้างมหาวิทยาลัยรังสิตดำเนินการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการและดำเนินการสรรหาและเลือกสรรพนักงานราชการทั่วไป โดยวิธีเฉพาะเจาะจง