ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา จ้างมหาวิทยาลัยรังสิตดำเนินการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการและดำเนินการสรรหาและเลือกสรรพนักงานราชการทั่วไป โดยวิธีเฉพาะเจาะจง

กรมลดโลกร้อน เปิดเวทีปรับปรุงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ยกระดับมาตรการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Adaptation)

               วันอังคารที่ 11 มีนาคม 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัท แอดเวนเทจ คอนซัลติ้ง จำกัด ที่ปรึกษาโครงการ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือการปรับปรุงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ครั้งที่ 3 : การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Adaptation) ยกระดับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์และทิศทางระดับโลก โดยมี นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ
               การหารือในครั้งนี้ มีการนำเสนอข้อมูลการทบทวนเป้าหมาย นโยบายด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยและในระดับสากล และแนวทางมาตรการ กลไกด้านการปรับตัวฯ ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ และแผนในระดับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้าร่วมประชุม เกี่ยวกับการพัฒนาและปรับปรุงร่างมาตรการและกลไกด้านการปรับตัวฯ และการมีส่วนร่วมทางสังคม เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางการดำเนินงานสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือการปรับปรุงแผนแม่บทฯ จะมีกำหนดจัดขึ้นครั้งต่อไป ครั้งที่ 4 ประเด็นด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ในวันที่ 21 มีนาคม 2568 ซึ่งหลังจากนี้จะมีการสรุปการจัดทำแผนแม่บทฯ ในภาพรวมพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

เดนมาร์กรักษ์โลกไม่รู้จักเบื่อ เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน พลิกเมืองสู่ความยั่งยืน

               ในยุคที่ขยะล้นเมืองและปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องใหญ่ทั่วโลก กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก สามารถหาวิธีการจัดการขยะได้อย่างสร้างสรรค์และเป็นมิตรกับทั้งคนและโลก เมืองนี้ไม่ได้มองว่าขยะคือภาระ แต่เป็นทรัพยากรที่สามารถเปลี่ยนให้กลายเป็นพลังงานสะอาดได้ และยังสร้างความสนุกสนานให้กับผู้คนในเวลาเดียวกัน (1)
               เป้าหมายใหญ่ของโคเปนเฮเกนคือ การเป็นเมืองปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี 2025 (พ.ศ. 2568) ซึ่งนั่นทำให้ “CopenHill” (โคเปนฮิลล์) หรือ “Amager Bakke” โรงงานผลิตพลังงานจากขยะที่ใหญ่ที่สุดและสะอาดที่สุดที่มนุษย์เคยสร้าง กลายเป็นหัวใจสำคัญของแผนการนี้ (1)
               CopenHill ไม่ใช่แค่โรงเผาขยะธรรมดา แต่มีนวัตกรรมสุดล้ำ เป็นพื้นที่ที่ดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวและชาวเมืองให้มาสัมผัสความสนุกสนานแบบยั่งยืน ภายในโรงงานมีเนินสกีเทียมที่เล่นได้ตลอดทั้งปี เส้นทางวิ่ง และผนังปีนผาที่สูงที่สุดในโลกถึง 100 เมตร นอกจากนี้ยังปลูกต้นไม้บนดาดฟ้า เปลี่ยนโรงงานที่ดูออกจะน่าเบื่อให้กลายเป็นจุดเช็กอินสุดคูล การออกแบบนี้มาจากแนวคิด “Hedonistic Sustainability” หรือการผสมผสานความสุขกับความยั่งยืน เพราะ Bjarke Ingels สถาปนิกผู้ออกแบบเชื่อว่า ความยั่งยืนไม่จำเป็นต้องน่าเบื่ออีกต่อไป (1)
               ในแง่การทำงาน CopenHill คือโรงงานเผาขยะที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สามารถเผาขยะได้ถึง 485,000 ตันในทุก ๆ ปี และเปลี่ยนพลังงานจากขยะเหล่านี้ให้กลายเป็นไฟฟ้าป้อนครัวเรือนได้กว่า 30,000 ครัวเรือน และความร้อนที่ส่งตรงถึงบ้านเรือนกว่า 72,000 ครัวเรือน สิ่งที่น่าทึ่งกว่าก็คือไม่มีสารพิษหรือมลพิษเล็ดลอดออกมาจากปล่องโรงงาน มีเพียงไอน้ำสะอาดที่ลอยออกไปในอากาศเท่านั้น (1)
               หนึ่งในจุดเด่นของ CopenHill คือการเชื่อมโยงระบบผลิตพลังงานกับระบบทำความร้อนเขตพื้นที่ (District Heating System) ที่ครอบคลุมทั้งเมืองโคเปนเฮเกน ขณะที่ก๊าซไอเสียจากการเผาขยะถูกทำให้เย็นลงโดยใช้เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน พลังงานความร้อนที่เหลือจึงถูกส่งตรงไปยังบ้านเรือนในเมืองถึง 99% ทำให้เดนมาร์กสามารถลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในฤดูหนาวลงได้อย่างมาก (1)
               การสร้างโรงงานในพื้นที่ใกล้ชุมชนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่โคเปนเฮเกนสามารถรับมือได้อย่างชาญฉลาด โดย CopenHill ถูกออกแบบให้กลมกลืนกับวิถีชีวิตของผู้คน ด้วยพื้นที่สันทนาการบนดาดฟ้า เช่น ลานสกีและสวนสาธารณะ ซึ่งไม่เพียงลดความขัดแย้ง แต่ยังทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอย่างแท้จริง ตั้งแต่การจัดการเศษอาหารไปจนถึงขยะอันตราย ก่อนนำเข้าสู่ระบบการเผาที่สามารถนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (2)
               CopenHill ยังเป็นตัวอย่างของการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการคัดแยกขยะที่เข้มงวดตั้งแต่แหล่งกำเนิด ก่อนนำเข้าสู่ระบบการเผาที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ระบบ DynaGrate® ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ ลดมลพิษ และกู้โลหะจากขยะเพื่อรีไซเคิลได้อย่างคุ้มค่า โดยในปี 2020 CopenHill สามารถเปลี่ยนขยะจำนวน 599,000 ตันให้กลายเป็นพลังงานความร้อนและไฟฟ้า ซึ่ง 23% ของขยะทั้งหมดมาจากเชื้อเพลิงขยะที่ถูกเผา ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ (2)
               อีกทั้งเทคโนโลยีทำความสะอาดก๊าซไอเสียยังช่วยลดสารตกค้างที่เป็นของแข็งถึง 45% และสามารถกู้น้ำคืนได้ 100 ล้านลิตรต่อปี รวมทั้งยังสามารถนำขี้เถ้าจากการเผา 100,000 ตัน มาใช้เป็นวัสดุในการทำถนนได้อีกด้วย (1)(2)
               โรงงานแห่งนี้ไม่ได้จำกัดการจัดการขยะเฉพาะในเดนมาร์ก แต่ยังรับขยะจากประเทศอื่น ๆ ด้วย เช่น สหราชอาณาจักร ที่มีปัญหาหลุมฝังกลบล้น ขยะเหล่านั้นถูกนำมาเปลี่ยนเป็นพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดย CopenHill สามารถเผาขยะได้เฉลี่ยถึง 560,000 ตันต่อปี และยังมีแผนติดตั้งระบบดักจับคาร์บอนที่คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 500,000 ตันต่อปี ซึ่งเป็นการยกระดับความยั่งยืนไปอีกขั้น (3)
               อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของเดนมาร์กไม่ได้อยู่แค่โรงงานเผาขยะ เรื่องเล็ก ๆ อย่างการลดการใช้พลาสติกก็เป็นจุดที่ทำให้คนทั้งโลกต้องยกนิ้วให้ ตั้งแต่ปี 1993 เดนมาร์กได้ออกกฎหมายเก็บภาษีถุงพลาสติก ทำให้ปัจจุบันคนเดนมาร์กใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งเพียง 4 ใบต่อปี และใช้ถุงซ้ำมากขึ้นอย่างน่าประทับใจ การรีไซเคิลขวดและกระป๋องก็เป็นอีกเรื่องที่คนเดนมาร์กทำจนเป็นนิสัย ด้วยระบบคืนเงินที่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการลดขยะ (4)
               โพลสำรวจในปี 2017 พบว่า ชาวเดนมาร์กกว่า 68% สนับสนุนแนวทางการรีไซเคิลพลาสติกและมองว่าเป็นเรื่องดี โครงการนำถุงพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำของซุปเปอร์มาร์เก็ตยังสร้างความสำเร็จจนประเทศอื่น ๆ ต้องทำตาม ซึ่งเป็นอีกตัวอย่างของการสร้างสรรค์ที่ทำให้เดนมาร์กเป็นผู้นำด้านการลดขยะ (4)
               CopenHill จึงไม่ได้เป็นเพียงโรงงานเผาขยะธรรมดา แต่เป็นสัญลักษณ์ของการจัดการเมืองที่มองไปข้างหน้า โคเปนเฮเกนแสดงให้โลกเห็นว่า การจัดการขยะสามารถกลายเป็นโอกาสในการสร้างพลังงาน สร้างความสนุก และเชื่อมโยงชุมชนเข้าด้วยกันได้อย่างน่าทึ่ง เดนมาร์กจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกเมืองทั่วโลกมุ่งสู่ความยั่งยืนในแบบที่ไม่เคยรู้สึกเบื่อ

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) National Geographic, Sustainability, โคเปนเฮเกน (Copenhagen) เมืองที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากโรงเผาขยะที่สะอาดและสนุกที่สุดในโลก, โคเปนเฮเกน เส้นทางสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2025 ด้วยการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และ CopenHill โรงงานผลิตพลังงานจากขยะที่ปลอดมลพิษที่สุดในโลก
(2) Waste-to-Energy and Social Acceptance : Copenhill WtE plant in Copenhagen., IEA Bioenergy : Task 36, IEA Bioenergy : Technology Collaboration Programme.
(3) Amager Bakke : A Look into the Future of Waste Incineration., Business & Environment, Harvard Business School.
(4) National Geographic, Sustainability, ชีวิตคนเดนมาร์กใช้พลาสติกน้อยมาก พวกเขาทำได้อย่างไร?, ชีวิตคนเดนมาร์ก ใช้พลาสติกน้อยมาก พวกเขาทำได้อย่างไร?

ทส. ร่วม ก.พ. จัดการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2568 ขานรับนโยบายรัฐบาล พร้อมสนับสนุนทุกหน่วยงานขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

               วันนี้ (10 มีนาคม 2568) เวลา 11.30 น. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2568 ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และคณะผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงฯ ให้การต้อนรับ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมฯ และหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ที่เข้าร่วมประชุมฯ เพื่อรับมอบนโยบายสำคัญจากนายกรัฐมนตรี
               โดย นายจตุพร ปลัด ทส. ได้กล่าวขอบคุณทุกส่วนราชการที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ผ่านมาให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ทั้งการปรับปรุงอัตรากำลังและโครงสร้างของหน่วยงานในกระทรวงฯ การผลักดันกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนงบประมาณโครงการตามเป้าหมายภารกิจของ ทส. ทุนการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงร่วมผลักดันการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญต่าง ๆ อาทิ การจับกุมดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแก้ไขปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการจัดการขยะมูลฝอย ปัญหามลพิษ และการจัดการน้ำเสีย โดย ทส. ได้เตรียมพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานต่อไป ทั้งการจัดทำแผนที่ธรณีพิบัติภัย แผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่ม ข้อมูลการแจ้งเตือนภัยพิบัติ การเร่งรัดการอนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 และล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 รวมถึงการสนับสนุนการจัดหาน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนให้พื้นที่ขาดแคลน การสนับสนุนกล้าไม้ให้กับประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานต่อไป
               ทั้งนี้ มีประเด็นที่ ทส. ขอความร่วมมือจากทุกส่วนราชการเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน อาทิ การร่วมผลักดันเป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะต้องบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้บันทึกความร่วมมือ 7 กระทรวง การผลักดัน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกองทุน Climate Fund การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ทั้งในพื้นที่เมือง พื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า รวมถึงการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งการจัดการขยะมูลฝอยโดยการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ การจัดการของเสียอันตรายในสถานประกอบการ และการจัดการน้ำเสียชุมชนและโรงงานอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังขอให้ทุกส่วนราชการร่วมกันปลูกป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนและภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการปลูกป่าและปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมและสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น และประชาชน ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

การพึ่งพาเทคโนโลยีลดคาร์บอน นวัตกรรมโอบอุ้มโลกสู่ Net Zero

               ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ภัยแล้ง น้ำท่วม และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดบ่อยและรุนแรงมากขึ้น ปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลก (1) เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว การดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ. 2050) จึงเป็นพันธกิจเร่งด่วนที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมทั่วโลกต้องร่วมมือกันผลักดัน
               ความหวังสำคัญในการรับมือความเปลี่ยนแปลงที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นนี้คงต้องพึ่งพาการพัฒนา “เทคโนโลยีลดคาร์บอน” ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหา หนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญคือ การกักเก็บอากาศโดยตรง (Direct Air Capture: DAC) ซึ่งสามารถช่วยดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศและนำไปผลิตวัสดุที่ยั่งยืน เช่น เชื้อเพลิงและคอนกรีต DAC นั้นมีความสามารถพิเศษในการลดการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรมหนักและการขนส่งทางไกล แม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ยังมีต้นที่ทุนสูง แต่คาดว่าด้วยการเรียนรู้จากการใช้งานจริง ต้นทุนจะค่อย ๆ ลดลงจนอยู่ในระดับที่คุ้มค่าในอนาคต (2)
               เทคโนโลยีที่โดดเด่นอีกด้านคือ การหลีกเลี่ยงการปล่อยคาร์บอน (Carbon Avoidance Technologies) ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าและวัตถุดิบที่ปราศจากคาร์บอนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ซีเมนต์และเหล็ก เทคโนโลยีนี้ไม่เพียงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทันที แต่ยังลดความยุ่งยากในการจัดการคาร์บอนหลังการปล่อยออกสู่บรรยากาศ (2)
               พลังงานหมุนเวียนและการจัดเก็บพลังงานระยะยาว (Long-Duration Energy Storage: LDES) เป็นอีกทางเลือกและเป็นหัวใจสำคัญของระบบพลังงานสะอาด ซึ่ง LDES ช่วยกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์และลมในระยะยาวเพื่อนำมาใช้ในช่วงที่การผลิตพลังงานไม่ต่อเนื่อง เทคโนโลยีนี้ยังช่วยลดต้นทุนพลังงานไฟฟ้าและเพิ่มเสถียรภาพของโครงข่ายพลังงานในระดับโลก (2)
               ในขณะเดียวกันที่นวัตกรรมการจัดการขยะ อย่างเครื่องแปลงเศษอาหารเป็นดินอินทรีย์ และตู้รับคืนขยะรีไซเคิลอัตโนมัติก็สามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากขยะต้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างในประเทศไทย เช่น เครื่องแปลงเศษอาหารเป็นปุ๋ยใน 24 ชั่วโมง ไม่เพียงลดปริมาณขยะมูลฝอย แต่ยังลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากหลุมฝังกลบอีกด้วย (3)
               อีกหนึ่งเทคโนโลยีใหม่ที่มีศักยภาพสูงคือ พลังงานไฮโดรเจนสะอาด ซึ่งจะต้องเพิ่มการผลิตถึง 7 เท่าภายในปี 2593 เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (4) ขณะที่แหล่งพลังงานสะอาดที่รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมีต้นทุนลดลงอย่างมากจากการพัฒนาของเทคโนโลยี ทำให้สามารถแข่งขันกับพลังงานฟอสซิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ (5)
               ในภาคอุตสาหกรรม Green Steel ก็เป็นอีกนวัตกรรมที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง โดยโครงการ HybriT ในสวีเดนได้พัฒนากระบวนการผลิตเหล็กแบบใหม่ที่ใช้ไฮโดรเจนแทนถ่านหิน ซึ่งถือเป็นการพลิกโฉมการผลิตเหล็กในระดับโลก กระบวนการดังกล่าวช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้สวีเดนสามารถพัฒนาเหล็กรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า เหล็กกล้าสีเขียว (Green Steel) ซึ่งเป็นการผลิตเหล็กโดยไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลใด ๆ ทั้งสิ้น (6)
               ปัจจุบัน HybriT ยังได้พัฒนาโรงเก็บไฮโดรเจนต้นแบบที่ลึกกว่า 30 เมตรใต้ดิน ซึ่งสามารถกักเก็บไฮโดรเจนได้ถึง 100 ลูกบาศก์เมตร และมีแผนเพิ่มความจุเป็น 120,000 ลูกบาศก์เมตรในอนาคต สวีเดนคาดการณ์ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศลงได้ถึง 10% และตั้งเป้าส่งออก Green Steel สู่ตลาดอุตสาหกรรมในปี 2569 (6)
               อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญของเทคโนโลยีลดคาร์บอน คือการพัฒนาจนสามารถนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแพร่หลาย โดยรายงานของ International Energy Agency (IEA) ระบุว่า 35% ของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่ได้เปิดตัวในตลาด (5)
               ความก้าวหน้าและความสำเร็จของเทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน เช่น การกำหนดราคาคาร์บอน การสนับสนุนทางการเงิน และการกำหนดมาตรฐานที่ส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่น โครงการ ReFuelEU Aviation ของสหภาพยุโรปที่บังคับใช้สัดส่วนเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนในสนามบิน (SAF) เพื่อกระตุ้นความต้องการและการลงทุน (5)
               สำหรับในประเทศไทย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566–2570) ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เน้นการใช้ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต” สร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมและบริการ พร้อมส่งเสริมการลดมลพิษและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมผ่านการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น การรีไซเคิลและพลังงานสะอาด เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน และการลดก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด (7)
               อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยียังมีบทบาทสำคัญในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้ระบบสารสนเทศดูแลป่าไม้และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แผนฯ ดังกล่าวยังมุ่งลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเร่งด่วน เช่น การลดขยะพลาสติกและฝุ่น PM2.5 และการลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2573 ตามความตกลงปารีส (7)
               ความท้าทายการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษที่เพิ่มขึ้น นอกจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง การนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะช่วยสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม หากผลักดันสำเร็จได้ตามเป้าหมาย ประเทศไทยก็จะเป็นผู้นำในภูมิภาคและสามารถสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับคนรุ่นถัดไปได้ (7)

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) Droughts and floods in a changing climate and implications for multi-hazard urban planning., ScienceDirect.
(2) These new technologies will accelerate the transition to net zero., Emerging Technologies., World Economic Forum.
(3) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม, 3 เทคโนโลยีลดคาร์บอนจาก..ขยะ
(4) Delivering the climate technologies needed for net zero., McKinsey Sustainability.
(5) Why climate tech is key to net zero., CFA Institute.
(6) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, รวม 5 นวัตกรรมสิ่งแวดล้อม พร้อมกู้โลกจาก Climate Change.
(7) ฐานเศรษฐกิจ, ทิศทางขับเคลื่อน “สังคมคาร์บอนต่ำ” ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13

ขยะพลาสติก 7 ประเภท รีไซเคิลได้ ประหยัดงบฯ ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก

               นอกจากการลดการใช้แล้ว (Reduce) กระบวนการรีไซเคิล (Recycle) และนำพลาสติกมาใช้ซ้ำ (Reuse) เป็นทางเลือกที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดทางหนึ่งในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก แม้การรีไซเคิลผลิตภัณฑ์พลาสติกจะมีขั้นตอนยุ่งยากและต้องมีค่าใช้จ่าย เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้แล้วส่วนใหญ่มีการปนเปื้อน ดังนั้นเพื่อให้การรีไซเคิลขยะพลาสติกเกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด จำเป็นจะต้องรู้จักประเภทขยะพลาสติก และเริ่มต้นด้วยการคัดแยกขยะแต่ละชนิดให้เป็นเสียก่อน (1)
               มาทำความเข้าใจขยะพลาสติก 7 ประเภท ตามประกาศกรมควบคุมมลพิษเรื่อง คุณลักษณะเศษพลาสติกที่เหมาะสมในการนำไปรีไซเคิล พ.ศ. 2565 ซึ่งมีจุดประสงค์ในการส่งเสริมนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การนำเศษพลาสติกภายในประเทศกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ยกระดับคุณภาพเศษพลาสติกในประเทศให้มีปริมาณเพียงพอต่อการนำไปเป็นวัตถุดิบในภาคธุรกิจรีไซเคิล และเพื่อให้ประชาชน ครัวเรือน ซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่า และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการคัดแยก รวบรวมเศษพลาสติกที่มีคุณภาพและมีคุณลักษณะเหมาะสมในการนำไปรีไซเคิล (2)
               ลักษณะของพลาสติกที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้นี้จะมีตัวอักษร ข้อความ ตัวเลข และเครื่องหมายระบุชนิด/ประเภท เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการคัดแยก รวบรวม และนำไปรีไซเคิลกำกับไว้ อย่างเช่น พลาสติกในประเภทที่ 1 (PETE/PET) ก็จะมีสัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 1 อยู่ด้านข้างบรรจุภัณฑ์ โดยพลาสติกทั้ง 7 ประเภท ประกอบด้วย ดังนี้ (2)
               1. พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate : PETE/PET) เป็นพลาสติกใสแข็ง ทนแรงกระแทกดี ไม่เปราะแตกง่าย และกันแก๊สซึมผ่านดี นิยมใช้ทําขวดบรรจุน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำมันพืช ขวดน้ำปลา สามารถนํามารีไซเคิลเป็นเส้นใยสําหรับทําเสื้อกันหนาว พรม และใยสังเคราะห์หมอนหนุนนอน
               2. พอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High-density Polyethylene : HDPE) เป็นพลาสติกที่เหนียวและแตกยาก ค่อนข้างแข็งแต่ยืดได้มาก ทนทานต่อสารเคมีและสามารถขึ้นรูปทรงต่าง ๆ ได้ง่าย ใช้ทําขวดนม ขวดน้ำและบรรจุภัณฑ์สําหรับน้ำยาทําความสะอาด ยาสระผม ขวดแชมพู ขวดแป้งเด็ก ขวดนม ขวดน้ำยาล้างจาน ขวดน้ำยาซักผ้า สามารถนํามารีไซเคิลเป็นขวดน้ำมันเครื่อง ท่อ ลังพลาสติก ไม้เทียม
               3. พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride : PVC) ใช้ทําท่อน้ำประปา สายยางใส แผ่นฟิล์มสําหรับห่ออาหาร แผ่นพลาสติกสําหรับทําประตูหน้าต่าง หนังเทียม ฉนวนหุ้มสายไฟ แฟ้มใส่เอกสาร บัตรพลาสติก สามารถนํามารีไซเคิลเป็นท่อน้ำประปาหรือรางน้ำสําหรับการเกษตร กรวยจราจร เฟอร์นิเจอร์ม้านั่งพลาสติก ตลับเทป เคเบิล หรือแผ่นไม้เทียม
               4. พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low Density Polyethylene : LDPE) เป็นพลาสติกที่มีความนิ่มเหนียว ยืดตัวได้มาก ใส ทนทาน แต่ไม่ค่อยทนต่อความร้อน ใช้ทําฟิล์มห่ออาหารและห่อของ ถุงใส่ขนมปัง ถุงเย็นสําหรับบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ สามารถนํามารีไซเคิลเป็นถุงดําสําหรับใส่ขยะ ถุงหูหิ้วถังขยะ กระเบื้องปูพื้น เฟอร์นิเจอร์แท่งไม้เทียม
               5. พอลิพรอพิลีน (Polypropylene : PP) เป็นพลาสติกที่มีความใส ทนทานต่อความร้อน คงรูป เหนียว และทนแรงกระแทกได้ดี ทนต่อสารเคมีและน้ำมัน ใช้ทําภาชนะบรรจุอาหาร เช่น ถ้วยบะหมี่กึ่งสําเร็จรูปแบบแข็ง กล่อง ชามจาน ถัง ตะกร้า กระบอกใส่น้ำแช่เย็น ขวดซอส แก้วโยเกิร์ต ขวดบรรจุยา ถุงร้อน หลอดดูด สามารถนํามารีไซเคิลเป็นไม้กวาดพลาสติก แปรง กล่องแบตเตอรี่ในรถยนต์ชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น กันชน กรวยสําหรับน้ำมันไฟท้าย เป็นต้น
               6. พอลิสไตรีน (Polystyrene : PS) เป็นพลาสติกที่มีความใส แต่เปราะและแตกง่าย ใช้ทําภาชนะบรรจุของใช้ต่าง ๆ หรือโฟมใส่อาหาร กล่องใส ช้อนส้อมพลาสติก สามารถนํามารีไซเคิลเป็นไม้แขวนเสื้อ กล่องวิดีโอ ไม้บรรทัด กระเปาะเทอร์โมมิเตอร์ แผงสวิตช์ไฟ ฉนวนความร้อน ถาดใส่ไข่ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ
               7. พลาสติกอื่นที่ไม่ใช่ 6 ชนิดข้างต้น (จะมีชื่อของพลาสติกนั้นไว้ใต้สัญลักษณ์เบอร์ 7) เป็นพลาสติกแข็งใช้ซ้ำได้ เช่น Polycarbonate (PC) เคสโทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนนาฬิกา Acrylonitrile butadiene styrene (ABS) กันชนรถยนต์ เป็นพลาสติกที่นํามาหลอมใหม่ได้
               ทั้งนี้ ลักษณะเศษพลาสติกที่เหมาะจะนําไปรีไซเคิลเหล่านี้ต้องสะอาด ไม่ปนเปื้อนเศษอาหาร สารเคมีหรือวัตถุอันตราย ต้องไม่ตากแดดเป็นระยะเวลานาน หรือไม่ทิ้งไว้ในสภาวะอากาศทั่วไป เพราะจะทําให้คุณสมบัติของเศษพลาสติกในการยืด รีด ดึง ลดลง และต้องไม่เป็นเศษพลาสติกที่มาจากสถานที่ฝังกลบขยะ โดยในประกาศฉบับดังกล่าวนี้ได้กำหนดวิธีการคัดแยกให้ได้เศษพลาสติกที่มีคุณลักษณะเหมาะสมในการรีไซเคิลไว้ด้วย ดังนี้ (2)

ประชาชน-ครัวเรือน
               1. คัดแยกเศษพลาสติก ไม่ทิ้งรวมกับขยะเศษอาหารและขยะอันตรายเพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อน
               2. หากมีการปนเปื้อนให้ล้างทําความสะอาด ดึงเทปกาว กระดาษ หรือสติกเกอร์ออก
               3. คัดแยกเศษพลาสติก รวบรวมจําหน่ายให้ร้านรับซื้อของเก่า หรือส่งจุด Drop Point หรือรวบรวม
ซาเล้ง
               1. สังเกตสัญลักษณ์เพื่อแยกชนิดเศษพลาสติกไม่ให้ปะปนกัน
               2. สังเกตสีเพื่อแยกเศษพลาสติกออกเป็นกลุ่มตามสีของเศษพลาสติก
               3. คัดแยกเศษพลาสติกแบบแยกชนิดรวบรวมจําหน่ายให้ร้านรับซื้อของเก่า
ร้านรับซื้อของเก่า
               1. สังเกตสัญลักษณ์เพื่อแยกชนิดเศษพลาสติกไม่ให้ปะปนกัน
               2. สังเกตสีเพื่อแยกเศษพลาสติกออกเป็นกลุ่มตามสีของเศษพลาสติก
               3. เก็บรวบรวมแบบแยกชนิดไว้ในสถานที่ที่กันแดดกันฝนได้ เพื่อให้มีความสดใหม่ (Freshness) ความชื้นไม่เกินเกณฑ์ที่โรงงานรีไซเคิลกําหนด
               4. การบด บีบอัด ต้องไม่ทําบนพื้นดิน และอุปกรณ์บีบอัดต้องมีความสะอาด
               อย่างไรก็ดี ในภาพรวมการจัดการขยะของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมามีการคัดแยกขยะรีไซเคิล ณ สถานที่คัดแยกขยะมูลฝอยหรือสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยอยู่ที่ 4 ล้านตัน หรือคิดเป็นประมาณ 16% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำ (3) เป็นเหตุผลที่ทำให้ไทยติดกลุ่มประเทศผลิตขยะพลาสติกอยู่อันดับ 12 ของโลก และเป็นประเทศที่ทิ้งขยะเหล่านี้ลงสู่ทะเลมากที่สุดติดอันดับ 10 ของโลก เพื่อเป็นการเร่งแก้ไขปัญหาดังล่าว เมื่อปี 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติแบนพลาสติก 4 ชนิด และจะต้องไม่มีบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ใช้อีกภายในปี 2565 ประกอบด้วย 1. ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน 2. กล่องโฟมบรรจุอาหาร (ไม่รวมโฟมกันกระแทกในภาคอุตสาหกรรม) 3. แก้วพลาสติกความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และ 4. หลอดพลาสติกทั้งหมด (ยกเว้นในการใช้กับคนชรา และคนป่วยเท่านั้น) (4)
               ก่อนหน้านั้น ครม.ได้เห็นชอบให้ยกเลิกการใช้พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ไมโครบีด (ภายในปี 2562) มาแล้ว และได้กำหนดให้หันไปใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงได้ตั้งเป้าให้ขยะพลาสติกทั้ง 7 ชนิด สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% ภายในปี 2570 (5) ซึ่งกล่าวกันตามข้อมูลและพฤติกรรมการบริโภคที่สะดวกสบายมากขึ้นจะพบว่า ปริมาณขยะพลาสติกมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งความสะดวกสบายเหล่านี้ถือเป็นการสร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมที่น่าวิตก โดยเฉพาะปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์อาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง (6)
               อย่างไรก็ตาม หากสามารถดำเนินการตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก ปี 2561-2573 และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ปี 2561-2573 ได้ตามเป้าหมาย ประเทศไทยจะลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี และประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3,900 ล้านบาทต่อปี ประหยัดพื้นที่รองรับ และกำจัดขยะมูลฝอยได้ประมาณ 2,500 ไร่ (1)
               ขณะเดียวกันยังสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 1.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือถ้านำขยะพลาสติกไปเป็นพลังงานจะก่อให้เกิดพลังงาน 1,830 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง หรือเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 230 เมกะวัตต์ หรือสามารถประหยัดพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติในกระบวนการผลิต เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้วัตถุดิบใหม่ โดยประหยัดพลังงานได้ 43.6 ล้านล้านบีทียูหรือคิดเป็นน้ำมันดิบประมาณ 7.54 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท (1)
แม้การรีไซเคิลผลิตภัณฑ์พลาสติกจะมีขั้นตอนยุ่งยากและต้องมีค่าใช้จ่าย แต่เพื่อให้การรีไซเคิลขยะพลาสติกเกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ทุกคนจึงจำเป็นจะต้องรู้จักประเภทขยะพลาสติก และลงมือคัดแยกขยะด้วยตัวเองในทุกวัน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) กรมควบคุมมลพิษ, Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573.
(2) กรมควบคุมมลพิษ, ประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง คุณลักษณะเศษพลาสติกที่เหมาะสมในการนำไปรีไซเคิล พ.ศ. 2565.
(3) กรมควบคุมมลพิษ, แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2570)
(4) ไทยรัฐ ออนไลน์, Future Perfect, ดราม่าถุงพลาสติก สู่ปัญหา ขยะไมโครพลาสติก ไทยติดอันดับโลก!
(5) ธนาคารกสิกรไทย, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, ขยะพลาสติก 7 ชนิด ที่ต้อง Recycle 100%
(6) ฐานเศรษฐกิจ, “ฟู้ดเดลิเวอรี่” ความสะดวกสบายมาพร้อมภาระ “ขยะ” กับทางออกสู่ความยั่งยืน

7 วิธีลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เริ่มที่ตัวเรา โลกน่าอยู่ก็จะกลับมา

               หากเราไม่ดำเนินการขั้นเด็ดขาดเพื่อลดมลภาวะจากขยะพลาสติกตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการบริโภค มีการคาดการณ์กันว่าภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) จะมีพลาสติกในมหาสมุทรมากกว่าปลาเสียอีก โดยเฉพาะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastics) ที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในปริมาณมหาศาล ซึ่งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) แสดงให้เห็นว่าการรั่วไหลของมลพิษพลาสติกสู่ระบบนิเวศทางน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าภายในปี 2030 ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพมนุษย์ เศรษฐกิจโลก ความหลากหลายทางชีวภาพ และสภาพภูมิอากาศ (1) (2) (9)
               “พลาสติกถูกคิดค้นขึ้นมาให้มีความคงทน แต่เรากลับเลือกที่จะใช้วัสดุอันชาญฉลาดนี้ผิดวิธีและทิ้งไปหลังการใช้เพียงครั้งเดียว – ความสะดวกสบายของพลาสติก ทำให้เรามองไม่เห็นผลกระทบที่มันมีต่อโลก เราจำเป็นต้องนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจและสังคม เพื่อที่ทุกคนจะสามารถเห็นคุณค่าที่แท้จริงของพลาสติกได้” คาคุโกะ โยชิดะ (Kakuko Yoshida) ผู้ประสานงานระดับโลกด้านสารเคมี ของเสีย และคุณภาพอากาศของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุ (2)
               เมื่อคุณประโยชน์ของพลาสติกกลายเป็นผู้ร้ายทำลายโลกอย่างหนัก จำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนเชิงนโยบายของทุกประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกเป็นอันดับต้น ๆ รวมถึงทุก ๆ คนที่จะต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากผู้มีส่วนสร้างมลพิษให้กลายเป็น “พลเมืองสายกรีน” ด้วยการลุกขึ้นมาต่อสู้กับมลภาวะจากพลาสติก ซึ่งมีคำแนะนำที่ควรนำไปปฏิบัติ 7 ประการ ดังนี้ (1) (2)
1. ใช้ชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
               ในเบื้องต้นทุกภาคส่วนต้องทำความเข้าใจและยอมรับแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ว่าหมายถึงการที่ผลิตภัณฑ์และวัสดุที่ใช้ในการผลิตต้องถูกนำกลับมาใช้ซ้ำแทนที่จะถูกทิ้งเป็นขยะ ซึ่งปัจจุบันโลกเดินตามแนวทางนี้แค่เพียง 8.6% แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะปรับเปลี่ยนการผลิตและการบริโภคให้เดินหน้าไปสู่ความยั่งยืน ตัวอย่างที่พอจะเป็นไปได้ทันทีอย่างเช่น การใช้แก้วกาแฟ ขวดน้ำ และบรรจุภัณฑ์อาหารที่สามารถใช้ซ้ำ แม้กระทั่งผ้าอ้อมและผลิตภัณฑ์อนามัยแบบใช้ซ้ำ แปรงสีฟันไม้ไผ่ สบู่หรือแชมพูแบบก้อนที่จะช่วยปกป้องมหาสมุทรและโลกไปพร้อมกันได้ โดยเฉพาะช่วยลดปัญหาจากสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากการลดขยะ 1 กิโลกรัม จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 0.8 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (2) (6)
2. พกถุงผ้า Say No ถุงพลาสติก
               มีการใช้ถุงพลาสติกประมาณ 1 ล้านใบในทุก ๆ นาที หลายประเทศและเมืองต่าง ๆ จึงเริ่มห้ามใช้ถุงพลาสติก เช่น รวันดา, แคลิฟอร์เนีย หรือบ้างก็เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมและภาษี เช่น ไอร์แลนด์, วอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อจูงใจให้ลดการใช้พลาสติกและทำจนเป็นนิสัย โดยที่ทุกคนสามารถนำถุงผ้าแบบใช้ซ้ำติดตัวไปซื้อของ (หลีกเลี่ยงถุงไนลอนหรือโพลีเอสเตอร์เพราะทำจากพลาสติกเช่นกัน) (1)
3. พกพาขวดน้ำส่วนตัว
               การพกขวดน้ำหรือกระบอกน้ำดื่มส่วนตัวจะหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าพกใส่กระเป๋า หรือวางไว้บนโต๊ะทำงาน ซึ่งรวมถึงการมีแก้วสำหรับเครื่องดื่มร้อน และเครื่องดื่มเย็นด้วย เพราะถ้าไม่เริ่มปรับที่ตัวเรา นั่นเท่ากับเราเองนั่นแหละที่มีส่วนปล่อยให้ขวดพลาสติกที่ทำจากพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ตกอยู่ในสภาพแวดล้อมไปอีกกว่า 400 ปี (1)
4. เลิกใช้หลอดพลาสติก
               หลอดพลาสติกเป็นหนึ่งในขยะพลาสติกที่พบในมหาสมุทรมากที่สุดทั่วโลก ผู้บริโภคสามารถเลี่ยงการใช้หลอดพลาสติกหรือปฏิเสธมันได้ ไม่ว่าที่บ้าน ร้านอาหาร หรือคาเฟ่ ด้วยการพกหลอดดูดส่วนตัวไว้ใช้ เช่น หลอดที่ทำจากกระดาษ โลหะหรือหลอดไม้ไผ่ที่ปัจจุบันหาได้ง่ายขึ้น เพื่อจะได้เลิกใช้หลอดพลาสติกไปเลย (1)
5. เลี่ยงการซื้ออาหารที่ก่อขยะพลาสติก
               หากวันไหนจะต้องสั่งอาหารกลับบ้านให้เลือกร้านรักษ์โลก หรือไม่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกหรือใช้บรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์ที่ย่อยสลายได้ กรณีจัดงานเลี้ยงก็ให้เลือกอุปกรณ์รับประทานอาหารที่สามารถใช้ซ้ำได้ เช่น จานหรือแก้วน้ำ ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายห้ามใช้จาน ถ้วย และอุปกรณ์พลาสติกซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ไปเมื่อปี 2020 เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ย่อยสลายได้ โดยรวมของทางเลือกนี้ก็คือให้พึงระลึกไว้เสมอว่า เราจะมองหาทางเลือกใหม่ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองให้เป็นมิตรกับมหาสมุทรมากขึ้น (1) แต่ถ้าปัจจัยแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ต้องย้อนมาแก้ที่ตัวเรา นั่นคือเลี่ยงการบริโภคอาหารเมนูที่จะสร้างขยะพลาสติกในมื้อนั้น ๆ
6. สร้างทางเลือกใหม่ในการซื้อสินค้า
               การเลือกซื้อสินค้าที่มีส่วนประกอบของบรรจุภัณฑ์พลาสติกเข้าบ้านให้น้อยลงจะช่วยลดพลาสติกในชีวิตประจำวันได้ อาทิ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สเปรย์ระงับกลิ่นกาย ของใช้ส่วนตัวที่มีไมโครบีดส์ซึ่งสร้างความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล และอาจส่งผลต่อสุขภาพมนุษย์ หรือแม้กระทั่งการหลีกเลี่ยงซื้อเสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์ เพราะเมื่อซักจะปล่อยไมโครไฟเบอร์ลงน้ำ ซึ่งในที่สุดอาจไปจบที่มหาสมุทร และอาจกลายเป็นอาหารของปลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่นในทะเลที่หลงผิดกินเข้าไปเพราะเข้าใจว่าเป็นอาหาร (1) (2)
7. เลิกสูบบุหรี่
               การสูบบุหรี่ไม่เพียงเป็นภัยสุขภาพสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่อาจมีคนไม่ทราบว่าก้นกรองบุหรี่นั้นทำมาจากพลาสติกที่เรียกว่า เซลลูโลสอะซิเตท ซึ่งผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกซื้อบุหรี่ประมาณ 6.5 ล้านล้านมวนต่อปี หรือคิดเป็น 18,000 ล้านมวนต่อวัน ฉะนั้นเมื่อก้นบุหรี่ถูกทิ้งสู่สิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่พลาสติกเท่านั้นที่สร้างมลภาวะ แต่ยังรวมถึงนิโคติน โลหะหนัก และสารเคมีอื่น ๆ อีกมากมายที่สิ่งแวดล้อมต้องดูดซับไว้ โดยเฉพาะตามแนวชายหาดและในมหาสมุทรซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ทะเล (2) (3) โดยก้นบุหรี่พบได้บ่อยที่สุดในสิ่งแวดล้อม รองลงมาคือ บรรจุภัณฑ์อาหาร ขวดพลาสติก ฝาขวดพลาสติก ถุงพลาสติกใส่ของชำ หลอดพลาสติก และไม้คนของเหลวที่ทำจากพลาสติก (4)
               อย่างไรก็ดี แม้ทั่วโลกจะมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ แต่ยังจำเป็นต้องเพิ่มเครื่องมือที่เกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เข้มงวดมากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายการลดจำนวนที่ชัดเจนและให้แรงจูงใจในการหาทางเลือกของบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนควบคู่ไปด้วย ในขณะเดียวกันต้องได้รับความร่วมมือและความรับผิดชอบจากภาคอุตสาหกรรมในการจัดการผลิตภัณฑ์ในช่วงท้ายอายุการใช้งาน โดยเฉพาะการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยคำนึงถึงการรีไซเคิล และการนำกลับมาใช้ใหม่ (8)
               ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ อย่างเช่น ความร่วมมืออย่างจริงจังกับผู้รีไซเคิล ผู้ให้บริการเทคโนโลยี และนักสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาและดำเนินการโซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน รวมถึงการลงทุนในงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการรณรงค์เพิ่มความตระหนักของสาธารณะเกี่ยวกับผลกระทบที่เป็นอันตรายจากมลพิษพลาสติก และข้อดีของเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคไปสู่ทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่ยั่งยืน และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ การสร้างความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานการจัดการขยะที่ดี เพื่อการจัดการที่มีประสิทธิภาพ (8)
               ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดในปี 2568 จากรายงานระบุว่า ประเทศต่าง ๆ ทิ้งขยะลงทะเลรวมกันคิดเป็นกว่า 80% ของขยะพลาสติกทั้งหมดที่ถูกปล่อยลงทะเลทั่วโลก (5) ประเทศไทยเริ่มประกาศเจตนารมณ์ลดการใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 2562 โดยดึงภาคเอกชนงดแจกถุงพลาสติก และได้ทำกันมาต่อเนื่อง แต่ตัวเลขการใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายยากนี้ยังน่าวิตก โดยไทยมีการใช้ถุงพลาสติกอยู่เฉลี่ย 25 นาที ต่อ 1 ใบ ขณะที่ปี 2567 ซึ่งเป็นครึ่งทางของโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 และตั้งเป้าความสำเร็จไว้ภายในปี 2573 โดยในระยะที่ 2 ได้ตั้งเป้าลดการเลิกใช้พลาสติก และรีไซเคิลขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% ภายในปี 2570 (7)
               การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่าย ๆ ตลอดจนการกำหนดทิศทางและเครื่องมือในเชิงนโยบายที่ชัดเจนจะช่วยเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างทุกภาคส่วนกับพลาสติกได้ เมื่อการปฏิบัติทำได้อย่างต่อเนื่องเราก็จะเป็นหนึ่งในผู้ลงมือหยุดยั้งมลพิษพลาสติก ในขณะเดียวกันเมื่อการขับเคลื่อนนโยบายเดินเข้าใกล้เป้าหมายที่วางไว้ ปริมาณมลพิษพลาสติกในระบบนิเวศจะค่อย ๆ ลดลง โลกดี ๆ ที่น่าอยู่ก็จะหวนกลับมา

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) Five things you can do to end plastic pollution., World Bank Blogs., WORLD BANK GROUP.
(2) 7 ways you can counter the scourge of single-use plastics., United Nations : Environment Programme.
(3) Cigarette butts are toxic plastic pollution. Should they be banned?, National Geographic.
(4) iGreen, โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน
(5) Ocean Pollution Facts : Statistics & Rankings (2025)., GreenMatch.
(6) Thai PBS, 5 วิธีลด “ขยะพลาสติก” ลดภาวะโลกเดือด
(7) Thai PBS, ทั่วโลกใช้ “ถุงพลาสติก” นาทีละ 1 ล้านใบ
(8) Closing the loop : A framework for tackling single-use plastic waste in the food and beverage industry through circular economy., ScienceDirect.
(9) Thai PBS, งานวิจัยเผยปี 2050 ปริมาณขยะพลาสติกมากกว่าจำนวนปลาในมหาสมุทรทั่วโลก

เปิดรับสมัคร เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ 1 ตำแหน่ง ทำงาน ณ กลุ่มบัญชีก๊าซเรือนกระจก กองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

โลกรีไซเคิลขวด PET

               ขยะพลาสติกอันตรายมากกว่าที่คิดและมันก็เพิ่มขึ้นทุกปีด้วยความตระหนักและความร่วมมือในการลด และเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics) ยังอยู่ในอัตราต่ำ มีการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกมากเกินความจําเป็น ทำให้มีขยะพลาสติกบางส่วนหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำและทะเล ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในทะเล อีกทั้งการคัดแยกขยะจากชุมชนและครัวเรือนยังไม่เป็นไปตามเป้า ทำให้การรวบรวมขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทำได้แค่บางส่วน (1) หรือสามารถนำขยะมาวนใช้ประโยชน์ซ้ำในอัตราที่ต่ำ อย่างข้อมูลปี 2566 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยประมาณ 26.95 ล้านตัน สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 9.31 ล้านตัน (2)
               กรมควบคุมมลพิษจึงจัดทําแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 –2570) เพื่อขับเคลื่อนการดําเนินงานการจัดการขยะพลาสติกโดยตั้งเป้าให้ปริมาณขยะพลาสติกเป้าหมาย (เช่น ขวดพลาสติก ฝาขวด และถุงพลาสติกหูหิ้ว) เข้าสู่ระบบฝังกลบขยะลดลงร้อยละ 100 และผลิตภัณฑ์พลาสติกเป้าหมายเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ร้อยละ 100 รวมถึงลดปริมาณขยะพลาสติกที่มีโอกาสหลุดรอดลงสู่ทะเล ร้อยละ 50 (3)
               ในขณะที่ภาคเอกชนที่ดำเนินการได้โดดเด่น ยกตัวอย่างเช่น บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส ตั้งเป้าปี 2573 รีไซเคิลพลาสติกปีละ 1 แสนล้านขวด (6) บริษัท ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป จะรับซื้อขวด PET สูงสุด 30,000 ตันต่อปี หรือ 1,500 ล้านขวด (7)
               ทว่า ภาพรวมทั่วโลกพบว่า ขยะพลาสติกทั่วโลกที่ถูกรวบรวมเพื่อการรีไซเคิลมีเพียง 9% ของขยะพลาสติกทั้งหมด ที่เหลืออีก 91% ถูกนำเข้าสู่กระบวนการฝังกลบ เผาทำลาย หรือกลายเป็นขยะในสิ่งแวดล้อม (4) โดยมี 10 ประเทศผู้นำการรีไซเคิลขวด PET ประกอบด้วย เยอรมนี 98% นอร์เวย์ 97% ญี่ปุ่น 77% ฝรั่งเศส 58.2% สหราชอาณาจักร 57.6% เกาหลีใต้ 54.4% อิตาลี 45% ออสเตรเลีย 31.8% สหรัฐ 29.3% แคนาดา 9% โดยอุตสาหกรรมรีไซเคิลขวดพลาสติกทั่วโลกมีมูลค่า 3,200 ล้านปอนด์ ปอนด์ (ประมาณ 4,047 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2022 และคาดว่าจะเติบโตที่อัตราต่อปีแบบทบต้น (CAGR) 5.3% ตั้งแต่ปี 2023 ถึงปี 2031 และจะแตะระดับ 5,100 ล้านปอนด์ (ประมาณ 6,451 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในสิ้นปี 2031 (5)
               ปัจจุบันประมาณการว่ามีพลาสติกกว่า 8-14 ล้านตัน ถูกทิ้งลงในมหาสมุทรทุกปี ซึ่งการจัดการขยะพลาสติกในอัตราที่ต่ำกว่าเกณฑ์ส่งผลให้แต่ละปีมีสัตว์ทะเลถูกสังเวยจากมลพิษพลาสติกกว่า 1 ล้านตัว อย่างไรก็ดี หากทั่วโลกสามารถนำขวด PET มาใช้ซ้ำได้จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 94.4 กิโลกรัมต่อปี (8)

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) กรมควบคุมมลพิษ, แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570)
(2) ThaiPBS, “ขยะล้นเมือง” คนไทยสร้างขยะเฉลี่ย 7.3 หมื่นตัน/วัน
(3) MGR Online, ครม. อนุมัติแผนปฏิบัติการจัดการขยะพลาสติกระยะ 2 ใช้หลัก ศก.หมุนเวียน คลอด 4 มาตรการ
(4) Finally, a solution to plastic pollution that’s not just recycling, Vox.
(5) Plastic Bottle Recycling : Is It A Solution to the Global Plastic Waste Problem?, GreenMatch.
(6) กรุงเทพธุรกิจ, ‘อินโดรามา’ ลงทุนเทคโนโลยี ตั้งเป้ารีไซเคิล PET แสนล้านขวดต่อปี
(7) ThaiPlastic Recycle, THAIPLASTIC RECYCLE GROUP ชุบชีวิตขวด PET สู่เกล็ดพลาสติกสร้างมูลค่า
(8) Plastic Waste Facts and Statistics, Business Waste.

Save โลกด้วยวิถี 3Rs : Reduce Reuse Recycle

               หลักการ 3Rs – Reduce, Reuse, Recycle หรือลดการใช้, ใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นหลักการลดขยะตั้งแต่ต้นทางด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนและสังคมซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก (1)
               หากทุกคนไม่ปรับตัว เมินเฉย และไม่เห็นความสำคัญของ 3Rs ผลที่ตามมาก็คือ ในแต่ละปีจะมีปริมาณขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรกว่า 10 ล้านตัน และมีสัตว์ทะเลต้องเสียชีวิตจากมลพิษพลาสติกกว่า 1 ล้านตัวต่อปี (2)
               ปี 2566 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 26.95 ล้านตัน หรือประมาณ 73,840 ตัน/วัน เฉลี่ยเท่ากับ 1.12 กิโลกรัม/คน/วัน ขณะทั้งหมดถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ซ้ำเพียง 9.31 ล้านตัน กรุงเทพมหานคร มีขยะมากที่สุด 12,748 ตัน/วัน (สร้างขยะเฉลี่ย 1.53 กก./คน/วัน) (3) (5)
               ธนาคารโลกประเมินว่าในปี 2025 จำนวนประชากรเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,300 ล้านคน และจะสร้างขยะประมาณวันละ 1.42 กิโลกรัม/คน/วัน หรือรวมประมาณ 2,200 ล้านตัน/ปี คาดว่าต้นทุนการจัดการขยะเหล่านี้จะเพิ่มจากปีละ 205,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 375,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศยากจนจะต้องใช้เงินจัดการขยะในชุมชนเมืองมากกว่าประเทศร่ำรวย หรือพบว่าประเทศมีรายได้สูงมีความสามารถในการจัดเก็บขยะเฉลี่ย 98% ของขยะทั้งหมดที่มี แต่ประเทศที่มีรายได้น้อยจะจัดเก็บขยะได้เฉลี่ย 41% (4)
               เมื่อย้อนมาดูงบประมาณการกำจัดขยะในประเทศไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้ข้อมูลว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะถึงปีละ 13,000 ล้านบาท ส่วนกรุงเทพฯ มีค่าจัดการขยะปีละ 7,000 ล้าน รวมกันสูงถึงปีละ 20,000 ล้านบาท แต่ อปท.จัดเก็บรายได้จากขยะเพียง 2,300 ล้านบาท/ปี และกรุงเทพฯ จัดเก็บได้เพียง 500 ล้านบาท/ปี ดังนั้นทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรุงเทพฯ ขาดทุนรวมกันราว 17,200 ล้านบาท (6)
               อย่างไรก็ดี หากทุกช่วยกันปรับพฤติกรรมด้วยหลักการ 3Rs อย่างเช่นลดการสร้างขยะลง 1 ใน 4 จากปกติ หรือพยายามลดลงให้ได้ลงครึ่งหนึ่ง ปริมาณขยะต่อวันก็จะลดลงได้จำนวนมหาศาล นั่นเท่ากับจะช่วยลดงบประมาณการจัดการขยะลงมากกว่าที่เป็นอยู่ต่อปี

ก่อนจะปรับตัวตามหลักการ 3Rs ทุกคนควรต้องลงมือเริ่มต้นจากการคัดแยกขยะออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ (7)
1. ขยะอินทรีย์ : ขยะเศษอาหารและย่อยสลายได้เร็ว เช่น เศษผัก เปลือกผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้
2. ขยะรีไซเคิล : ขยะเหลือใช้ที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น ขวดน้ำดื่ม แก้ว กระดาษ กระป๋อง
3. ขยะทั่วไป : ขยะที่ไม่คุ้มค่าในการนำกลับมาใช้ใหม่ และย่อยสลายยาก เช่น โฟม ถุงพลาสติก ซองขนม
4. ขยะอันตราย : ขยะที่มีสารอันตรายและจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่

3Rs สู่วิถีกรีน
Reduce – การลดปริมาณขยะ (7) (8) (9)
               อันดับแรกของการเริ่มปรับพฤติกรรรมเพื่อช่วยโลกลดปริมาณขยะก็คือ การลดการบริโภคซึ่งเป็นขั้นตอนแรกที่ทำได้ง่ายที่สุด เพราะเมื่อเราบริโภคน้อยขยะก็น้อยลง ซึ่งจะเป็นวิธีที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด โดยให้เข้าใจว่าวิธีการนี้หมายถึงความตั้งใจของเราเองในการลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานที่ไม่จำเป็นลงหรือบริโภคเท่าที่จำเป็นหรืออย่างพอเหมาะ
     ตัวอย่างการ Reduce มีอะไรบ้าง:
               – การเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคชนิดเติม อย่างเช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาซักผ้า น้ำยาทำความสะอาด ซึ่งจะช่วยลดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์เหล่านี้
               – ปฏิเสธถุงพลาสติกด้วยการใช้ถุงผ้าหรือถุงสำหรับใช้บรรจุสิ่งของที่มีความคงทนและใช้ซ้ำได้นาน
               – พกแก้วน้ำและหลอดดูดติดตัวเมื่อออกนอกบ้าน รวมถึงมีแก้วน้ำส่วนตัวใช้ในที่ทำงาน
               – ใช้กระดาษรีไซเคิลหรือพิมพ์เอกสารสองหน้า
Reuse – การใช้ซ้ำ (7) (8) (9)
               การนำของที่ยังใช้ได้กลับมาใช้ซ้ำอีกครั้งซึ่งหมายถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่ต้องทิ้ง ใช้แล้วใช้อีก ใช้อย่างรู้ค่า และคุ้มค่ามากที่สุด อย่างเช่น นำวัสดุเหลือใช้มาผลิตเป็นกระถางปลูกต้นไม้ เลือกซื้อหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้มากกว่า 1 ครั้ง บำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้สามารถใช้ได้ยาวนาน ดัดแปลงสิ่งของให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ ซ่อมแซมเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ซ้ำ ๆ
     ตัวอย่าง Reuse มีอะไรบ้าง:
               – นำถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาเก็ตมาใส่ขยะ
               – นำขวดน้ำพลาสติกใช้แล้วมาใส่น้ำใช้อีกครั้ง
               – นำกล่องคุกกี้มาใส่ของใช้
               – ใช้เสื้อผ้าจากร้านมือสอง, นำเสื้อผ้าเก่ามาดัดแปลงเป็นของใช้อื่น ๆ หรือนำเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วไปบริจาคตามจุดรับเสื้อผ้า
               – บริจาคของเล่นและหนังสือที่ไม่ใช้แล้วให้กับสถานที่ที่เปิดรับบริจาค
               – ใช้ภาชนะพลาสติกสำหรับแช่แข็งหรือเก็บอาหาร หรือนำภาชนะพลาสติกติดตัวสำหรับการซื้ออาหารเปียก
               – เก็บกระดาษห่อของขวัญ เชือกรัดของ และกล่องกระดาษไว้ใช้ใหม่
               – ใช้ขวดโหลเก่าสำหรับเก็บของ
               – นำเอกสารเก่า ๆ ที่ไม่ใช้แล้วมาดัดแปลงทำเป็นสมุดบันทึก
Recycle – การนำกลับมาใช้ใหม่ (7) (8) (9)
               การรีไซเคิล คือการเปลี่ยนวัสดุที่ใช้แล้วให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือนำวัสดุมาแปรรูปให้เป็นวัตถุดิบใหม่ และผลิตเป็นสิ่งใหม่ที่สามารถใช้งานได้
     ตัวอย่าง Recycle มีอะไรบ้าง :
               – ขวดน้ำพลาสติก หรือขวด PET ชนิดอื่นสามารถส่งต่อเข้าสู่กระบวนการย่อยเป็นเม็ดพลาสติกแล้วนำมาผลิตเสื้อผ้าหรือของใช้อื่น ๆ ได้
               – การนำกระดาษที่ใช้แล้วมาปั่นทำเป็นกระดาษใหม่
               – นำกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วไปหลอมใหม่เพื่อผลิตกระป๋องใหม่
               – นำแก้วที่ใช้แล้วมาหลอมและขึ้นรูปใหม่เป็นผลิตภัณฑ์อื่น
               ข้อดีของการรีไซเคิลก็คือ ลดการใช้พลังงาน ลดการใช้วัตถุดิบใหม่ ลดมลพิษทางอากาศและน้ำ (จากการฝังกลบขยะ) ที่สำคัญช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุภาวะโลกร้อนได้นั่นเอง

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) Hate Waste : ขยะใครใครก็ไม่รัก, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
(2) Plastic Waste Facts and Statistics, Plastic Waste Management, Business Waste.
(3) Thai PBS, “ขยะล้นเมือง” คนไทยสร้างขยะเฉลี่ย 7.3 หมื่นตัว/วัน
(4) THAIPUBLICA ไทยพับลิก้า : กล้าพูดความจริง, วิกฤต “ขยะ” ชุมชนเมือง คนเอเชียสร้างขยะ 1 กก./วัน คาดปริมาณเพิ่มอีก 2 เท่า ภายในปี 2025
(5) THAIPUBLICA ไทยพับลิก้า : กล้าพูดความจริง, กรุงเทพฯ เมืองสร้างขยะมากสุด 9,900 ตัน/วัน หนึ่งคน ผลิต 1.53 กก./วัน ใช้คนเก็บขน 10,221 คน
(6) Think Forward Center : ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต, ปัญหามลพิษจากขยะมูลฝอยและข้อเสนอเชิงนโยบาย
(7) คู่มือประชารัฐร่วมใจ ประเทศไทยไร้ขยะ, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
(8) iURBAN : เรื่องราวสร้างสรรค์ ของสังคมทันสมัย, Reduce, Reuse, Recycle, Repair และ Upcycle คือ อะไรและทำอย่างไร
(9) The 5 R’s of Waste Management, Greenbank : Recycling Solutions