กรมลดโลกร้อน MOU กฟภ. อบก. และ มช. สร้างความร่วมมือบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

               วันพุธที่ 5 มีนาคม 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการศึกษา วิเคราะห์ แนวทางการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี/แพลตฟอร์มในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ โถงอาคาร LED ชั้น 1 กฟภ. (สำนักงานใหญ่) ถนนงามวงศ์วาน กรุงเทพมหานคร
               สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ดังกล่าว จัดทำขึ้นโดย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านการศึกษา วิเคราะห์ แนวทางการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งร่วมกันศึกษาแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างแพลตฟอร์มในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่พัฒนาขึ้น ภายใต้ชื่อCARBONFORM ที่ใช้สำหรับประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรและเป็นเครื่องมือการขับเคลื่อนเป้าหมาย Carbon Neutrality สำหรับให้บริการหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจหรือจำเป็นต้องประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นับเป็นการออกแบบมาเพื่อช่วยให้องค์กรต่างๆ บริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สามารถช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ในปี ค.ศ. 2065 ตามที่ประกาศเจตนารมณ์ไว้ได้

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ถอดบทเรียนเมืองต้นแบบ คัดแยกขยะ-รีไซเคิล-ขยะเหลือศูนย์

               ปัญหาขยะล้นโลกกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกประเทศต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยาก ขยะอาหารที่สูญเปล่า หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขยะเหล่านี้สร้างผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของมนุษย์ และทรัพยากรธรรมชาติที่ลดน้อยลงเรื่อย ๆ ข้อมูลจากรายงาน Global Waste Management Outlook 2024 โดย UNEP ระบุว่า ปริมาณขยะมูลฝอยทั่วโลกจะเพิ่มจาก 2,300 ล้านตันในปี 2023 เป็น 3,800 ล้านตันในปี 2050 หากไร้การจัดการที่เหมาะสม (1)
               แนวคิด “Zero Waste” หรือการลดขยะให้เหลือศูนย์เป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างยั่งยืน ด้วยการเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นทรัพยากร และการลดการผลิตขยะตั้งแต่ต้นทาง หลายเมืองและประเทศทั่วโลกได้พิสูจน์แล้วว่า แนวคิดนี้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนได้
               บนเกาะบอร์นโฮล์ม เดนมาร์ก ซึ่งมีประชากรเพียง 40,000 คน โครงการ “เกาะไร้ขยะ” ได้เริ่มต้นขึ้นด้วยเป้าหมายที่ท้าทายคือ การเป็นเกาะปลอดขยะภายในปี 2032 เกาะนี้ได้พัฒนาระบบคัดแยกขยะที่ทันสมัย และสร้างความร่วมมือจากประชาชนและนักท่องเที่ยว ด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะอย่างถูกวิธี และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรซ้ำในชุมชน
               ไม่เพียงแค่นั้น เกาะบอร์นโฮล์มยังได้ลงทุนในเทคโนโลยีรีไซเคิลที่สามารถนำขยะกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ เป้าหมายนี้ไม่เพียงแต่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงยั่งยืนด้วย ซึ่งมีผู้คนมาเยี่ยมชมเกาะแห่งนี้เป็นประจำทุกปีสูงกว่า 600,000 คน (2)
               อีกหนึ่งตัวอย่างที่โดดเด่นคือ บ้านปลอดขยะในเมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย บ้านแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยใช้วัสดุรีไซเคิลทั้งหมด พร้อมระบบพลังงานแสงอาทิตย์และระบบน้ำฝนที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรในครัวเรือน ภายในบ้านยังมีระบบหมุนเวียนทรัพยากร เช่น ระบบคอมโพสต์ ระบบการปลูกพืชด้วยน้ำหมุนเวียน และการจัดการขยะอินทรีย์อย่างครบวงจร บ้านนี้เป็นต้นแบบที่พิสูจน์ว่า การอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนสามารถทำได้จริง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับครอบครัวในเมืองใหญ่ทั่วโลก (2)
               หากพูดถึงเมืองต้นแบบ “Kamikatsu” (คามิคัตสึ) เมืองเล็ก ๆ ในหุบเขาของญี่ปุ่นที่มีประชากรแค่ 1,500 คน มักถูกกล่าวถึงเสมอ เมืองปราศจากขยะแห่งนี้เริ่มต้นแนวคิด Zero Waste ตั้งแต่ปี 2003 โดยมีกลไกการคัดแยกขยะที่ละเอียดและเคร่งครัดถึง 45 ประเภท ทำให้เมืองนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยคาดการณ์ว่า จะสามารถบรรลุเป้าหมายเกิน 80% ในการบรรลุเป้าหมายขยะเป็นศูนย์ภายในปี 2030 (2)
               ชาวเมืองคามิคัตสึจะต้องแยกขยะตั้งแต่ในครัวเรือน และนำไปที่สถานีจัดการขยะที่จัดเตรียมไว้ นอกจากการแยกขยะแล้ว เมืองยังได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับขยะ (Zero Waste Academy) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ให้ความรู้และสนับสนุนชุมชนในการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เมืองนี้สามารถนำขยะกว่า 80% กลับมาใช้ใหม่ เทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่สามารถรีไซเคิลได้เพียง 20% เท่านั้น และกำลังมุ่งสู่เป้าหมายการลดขยะเหลือศูนย์อย่างสมบูรณ์ (3)(4)
               ในช่วงปี 1950 ญี่ปุ่นเริ่มให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลอย่างจริงจัง แต่เมื่อเศรษฐกิจเติบโตหลังสงคราม โรงงานต่าง ๆ ก็เริ่มทิ้งขยะอุตสาหกรรมจำนวนมาก และการพัฒนาเมืองก็สร้างเศษวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น ทำให้ขยะในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึงห้าเท่าในช่วง 20 ปี จาก 8.9 ล้านตันในปี 1960 เป็น 43.9 ล้านตันในปี 1980 ตามรายงานของกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น ขยะในปี 2016 สูงถึง 43.2 ล้านตัน หรือเท่ากับสนามเบสบอลโตเกียวโดม 116 สนาม เพื่อจัดการขยะนี้ เทศบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศต้องลงทุนสร้างเตาเผาขยะ และหาวิธีจัดเก็บขยะให้ทันกับปริมาณที่เพิ่มขึ้น (5)
               นอกจากการจัดการขยะในระดับครัวเรือนแล้ว คามิคัตสึยังมีร้าน Kuru Kuru ที่เปิดโอกาสให้ชาวเมืองนำสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วมาบริจาค และผู้ที่ต้องการสามารถนำไปใช้ต่อได้ฟรี นอกจากนี้ เมืองยังสร้างระบบสะสมแต้มสำหรับผู้ที่คัดแยกขยะอย่างถูกต้อง ซึ่งแต้มเหล่านี้สามารถนำไปแลกสิ่งของ เช่น กระเป๋า หมวก หรือกระติกน้ำ วิธีการเหล่านี้ไม่เพียงช่วยลดขยะ แต่ยังสร้างความสามัคคี และความร่วมมือในชุมชนได้อย่างดีเยี่ยม (2)
               ในขณะเดียวกัน แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ก็ได้รับความสนใจจากหลายประเทศ เช่น คอสตาริกา สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชน ประเทศคอสตาริกาได้ยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง และส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ สิงคโปร์มีแผนแม่บทขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste Master Plan) ที่มุ่งลดปริมาณขยะที่จะส่งไปยังพื้นที่ฝังกลบลงหนึ่งในสาม ภายในปี 2030 และเนเธอร์แลนด์ได้ตั้งเป้าหมายลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลง 50% ภายในปี 2030 พร้อมส่งเสริมการใช้วัตถุดิบรีไซเคิลในกระบวนการผลิต (6)
               “ไม่มีสิ่งใดเป็นขยะ หากสิ่งนั้นอยู่ถูกที่” คือหลักการสำคัญที่สวีเดนยึดถือในการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศนี้แทบจะปราศจากขยะไปโดยสิ้นเชิง ผ่านการดำเนินงานที่ครอบคลุมทั้งระดับนโยบาย กฎหมาย และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม (7)
               สวีเดนเป็นประเทศแรกของโลกที่บังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 1967 และยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนพลังงานไฟฟ้ากว่า 60% ของประเทศมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน วันนี้สวีเดนกำลังเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นประเทศที่ปราศจากเชื้อเพลิงฟอสซิล 100% ภายในปี 2045 ด้วยการออกนโยบายที่เข้มงวด เช่น การเก็บภาษีขยะฝังกลบ การกำหนดให้ผู้ผลิตรับผิดชอบตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ และการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ให้คุณค่ากับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทุกมาตรการเหล่านี้ช่วยให้สวีเดนยังคงรักษามาตรฐานสูงสุดในการจัดการขยะและปกป้องสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน และน่าทึ่งในระดับโลก (7)
               ตัวอย่างเมืองต้นแบบเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ความร่วมมือจากชุมชนและภาครัฐคือหัวใจสำคัญของความสำเร็จในการจัดการขยะเหลือศูนย์ การผสานเทคโนโลยี ระบบที่มีประสิทธิภาพ และการส่งเสริมวัฒนธรรมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สามารถเปลี่ยนแนวคิดและสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต การเรียนรู้จากเมืองและประเทศต้นแบบเหล่านี้จึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับทุกพื้นที่ที่ต้องการสร้างโลกยั่งยืนที่ปลอดมลพิษจากขยะ

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) SDG MOVE : Moving Towards Sustainable Future, รายงาน UNEP เตือน ภายในปี 2593 ‘ขยะมูลฝอยชุมชน’ จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.8 พันล้านตัน – หากไม่มีการจัดการอย่างเร่งด่วน
(2) 6 Best Zero-Waste Projects in the World., Sensoneo
(3) The Cloud : The Magazine on Cloud about Local, Creatuve Culture, Better Living., Kamikatsu Model ถอดความสำเร็จของ Kamikatsu เมืองเล็กกลางหุบเขาที่ขยะกว่า 80% รีไซเคิลได้ และชาวเมืองมุ่งสู่เป้าหมาย Zero Waste ร่วมกัน
(4) a day, สัมผัสชีวิตปลอดขยะท่ามกลางหุบเขา ในคามิคัตสึ เมืองต้นแบบ Zero Waste อันดับหนึ่งของโลก
(5) The Kamikatsu Zero Waste Campaign : How a Little Town Achieved a Top Recycling Rate., nippon : Your Doorway to Japan.
(6) UN Global Compact : Global Compact Network Thailand., นโยบาย Circular Economy จาก 3 ประเทศต้นแบบที่สร้างทางรอดให้ชาติ การดำเนินธุรกิจ การใช้ชีวิตของผู้คน
(7) True Corporation, อ่านแนวคิด “สวีเดนโมเดล” ต้นแบบของโลกด้านการจัดการขยะ มุ่งเป้าสุดหิน 100% Fossil Fuel-Free! รับความท้าทายเป็นประเทศแรกของโลก สู่โอกาสของไทยในการพลิกฟื้น e-Waste

กรมลดโลกร้อน ให้สัมภาษณ์ รายการ “เคลียร์คัด ชัดเจน” NBT2HD “ไทยหลุดประเทศเสี่ยงสูง อากาศสุดขั้ว”

               วันที่ 4 มีนาคม 2568 เวลา 15.00 น. นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม บันทึกเทป รายการ “เคลียร์คัด ชัดเจน” เรื่อง “ไทยหลุดประเทศเสี่ยงสูง อากาศสุดขั้ว” ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย โดยมีคุณนันทิญา จิตตโสภาวดี เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ การจัดอันดับ Climate Risk Index 2025 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว การเลื่อนอันดับความเสี่ยงของประเทศไทยและปัจจัยสำคัญในการลดอันดับความเสี่ยง แนวทางดำเนินงานและแผนการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย รวมถึงได้ขอให้ประชาชนเตรียมรับมือกับผลกระทบในช่วงฤดูร้อนและภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งขอความร่วมมือของทุกภาคส่วน ร่วมกันปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อให้ฝ่าวิกฤตและลดผลกระทบจากโลกเดือดที่จะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ทั้งนี้ สามารถติดตามรับชมรายการ “เคลียร์คัด ชัดเจน” เรื่อง “ไทยหลุดประเทศเสี่ยงสูง อากาศสุดขั้ว” ได้ในวันพฤหัสบดี ที่ 6 มีนาคม 2568 เวลา 14.30-15.00 น. ทางช่อง NBT 2HD และ Facebook live : NBT-เอ็นบีที

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

4 มีนาคม วันปะการัง (Coral Day)

               วันปะการัง กำหนดขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของปะการังที่ช่วยระบบนิเวศทางทะเลให้มีความสมดุลต่อสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล โดยวันปะการังถูกกำหนดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2539 ที่เมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น และได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยป้องกันแนวปะการังขึ้นในปี 2543 ที่เกาะชิระโฮะ เมืองอิชิกากิ จังหวัดโอกินาวา
               โดยปะการัง มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก เพราะสามารถเป็นได้ทั้งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร ที่หลบภัย เป็นแหล่งอนุบาลสำหรับสัตว์น้ำอีกหลายชนิด และยังเป็นแหล่งศึกษาวิจัยค้นคว้าทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้สามารถส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ระดับที่เพิ่มขึ้นของน้ำทะเลนี้ ทำให้หลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้รับผลกระทบทั้งทางด้านกายภาพและชีวภาพ โดยการเกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวก็เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน เนื่องจากปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำ โดยอุณหภูมิของน้ำที่สูงขึ้นเพียง 2-3 องศาเซลเซียส สามารถส่งผลให้ปะการังตายได้
               ถ้าเราไม่เริ่มปรับพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันนี้ ผลกระทบที่ตามมาสุดท้ายจะย้อนกลับมาสู่เรา เมื่อปะการังได้รับผลกระทบ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่พึ่งพาแนวปะการังก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทำให้เราสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดี รวมทั้งเศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวอีกมากมายที่จะสูญหายไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
– กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
– โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช

3 มีนาคม วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก

               ประเทศไทย ได้เสนอต่อที่ประชุมให้วันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day)” โดยที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบตามที่ประเทศไทยเสนอ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2516 ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาในวันที่ 20 ธันวาคม 2556 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 68 ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีมติให้การรับรองและประกาศให้วันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก” อย่างเป็นทางการ เพื่อเฉลิมฉลองและสร้างความตระหนักถึงความหลากหลายของสัตว์ป่าและพืชป่า อีกทั้งยังเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตเหล่านี้
               ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่ก็เผชิญกับปัญหาการคุกคามสัตว์ป่าและพืชป่า เช่น การล่าสัตว์ การค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย และในปัจจุบันยังต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมากอีกด้วย
               มาร่วมกันอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชป่าโลก ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ช่วยลดโลกร้อน ซึ่งเป็นหนึ่งในภัยคุกคามสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก รวมทั้ง หยุดล่า และค้าสัตว์ป่าพืชป่าผิดกฎหมาย เพื่อรักษาระบบนิเวศให้คงไว้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
– กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ ในตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ (วุฒิปริญญาตรี) ตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ (วุฒิปริญญาโท) ตำแหน่งนักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ ตำแหน่งนักวิชาการพัสดุปฏิบัติการ ตำแหน่งนิติกรปฏิบัติการ และตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน

สาระสำคัญในสัญญา จ้างส่งเสริมการบริการร้านอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Restaurant)

จ้างผลิตและเผยแพร่คลิปรายงานความโปร่งใสรายสองปี ด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

DCCE ร่วมงาน TikTok สานต่อความมุ่งมั่นในประเทศไทย

               วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2568) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นางสาวระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เข้าร่วมงานแถลงข่าว “TikTok สานต่อความมุ่งมั่นในประเทศไทย ประกาศลงทุน 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ” โดยมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
               ในปัจจุบันมีชาวไทยมากกว่า 50 ล้านคนใช้ TikTok เป็นประจำทุกเดือนเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ สร้างและต่อยอดธุรกิจ ตลอดจนสร้างการรับรู้ผ่านคอนเทนต์ที่หลากหลาย ดังนั้น TikTok จึงได้ประกาศการลงทุนล่าสุด 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3.05 แสนล้านบาท) สำหรับ Data Center Hosting ในประเทศไทยในช่วงระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า (เริ่มปี พ.ศ. 2569-2573) การลงทุนนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการเสริมศักยภาพของแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการผู้ใช้ในประเทศไทย รวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
               นอกจากนี้ TikTok ได้เผยถึงโครงการด้านการศึกษาที่วางเป้าหมายเสริมทักษะเชิงดิจิทัลที่ครอบคลุมทุกช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ พร้อมเริ่มดำเนินงานทั่วประเทศ อาทิ
               – โครงการสำหรับเยาวชน TikTok ร่วมมือกับมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ (Saturday School Foundation) และกรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดตัวโครงการ BMA Digital Learning Hub ซึ่งเป็นโครงการที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านดิจิทัลให้กับนักเรียนในชั้นระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในกรุงเทพฯ โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปีนี้
               – พัฒนาหลักสูตรพลเมืองดิจิทัลและความรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศ 6 แห่ง เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้เยาวชนเหล่านี้มีทักษะด้านดิจิทัลที่สำคัญสำหรับความต้องการของตลาดในอนาคต
               ทั้งนี้ TikTok จะดำเนินงานร่วมกับรัฐบาลไทยและพันธมิตรทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาเทคโยโลยีและสนับสนุนผู้คน โดย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จะดำเนินการสร้างการรับรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของกรมฯ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริม เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ พัฒนาศักยภาพ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”