บทเรียนแผ่นดินไหว เขย่าระบบเตือนภัยไทย

               เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาครั้งรุนแรงเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายระลอก ทำให้ทุกฝ่ายเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติว่า เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คาดคิด และจากเหตุการณ์นี้ประเทศไทยได้ตกอยู่ในความไม่ปลอดภัยจากแรงสั่นสะเทือนใต้ดินที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ซึ่งต้องเตรียมการรับมืออย่างเป็นระบบ
               แผ่นดินไหวรุนแรง ขนาด 8.2 ในเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลาประมาณ 13.20 น. ตามเวลาประเทศไทย (1) มีศูนย์กลางอยู่ใกล้เมืองมันดาเลย์ ห่างจากเมืองสะกายไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเพียง 16 กิโลเมตร ด้วยระดับความลึกเพียง 10 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์นี้รับรู้ได้เป็นวงกว้าง ครอบคลุมหลายพื้นที่ของไทยทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า จุดศูนย์กลางเกิดอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1,100 กิโลเมตร (2)
               แผ่นดินไหวในครั้งนี้เกิดจาก “รอยเลื่อนสะกาย” (Sagaing Fault) หนึ่งในรอยเลื่อนที่ทรงพลังและอันตรายที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทอดตัวยาวกว่า 1,200 กิโลเมตร ผ่ากลางเมียนมาและพาดผ่านเมืองสำคัญอย่างมัณฑะเลย์ เนปิดอว์ และย่างกุ้ง รอยเลื่อนนี้เคยก่อให้เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง เช่น ในปี 2455 ขนาด 8.0 ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ส่งผลให้เจดีย์สำคัญพังทลาย และแรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงภาคเหนือและกรุงเทพมหานครของไทย ต่อมาในปี 2473 ก็เกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนเดียวกันนี้ขนาด 7.3 ที่เมืองพะโค ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน (2) นักธรณีวิทยาเตือนว่าแม้จะดูเงียบสงบในบางช่วง แต่รอยเลื่อนนี้กำลังสะสมพลังงาน และอาจปลดปล่อยออกมาอย่างรุนแรงอีกครั้ง (3)
               หากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 – 8.0 บริเวณรอยเลื่อนสะกายจะเกิดผลกระทบลามถึงไทย โดยเฉพาะภาคเหนือที่อาจเผชิญแรงสั่นสะเทือนในระดับ 4 – 5 ทำให้หน้าต่างสั่น ผนังมีเสียงลั่น หรือของตกหล่นจากชั้นวาง ในบางกรณี แรงสั่นสะเทือนอาจรับรู้ได้ถึงภาคกลางและกรุงเทพฯ เหตุการณ์นี้เป็นสัญญาณเตือนว่า แม้ประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนหลักก็อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้านได้ทุกเมื่อ (3)
               รอยเลื่อนสะกายมีโอกาสสูงถึง 90 – 100% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 (มาตราโมเมนต์ : Moment magnitude) ภายใน 50 ปี และยังมีความเป็นไปได้ 60 – 70% ที่แผ่นดินไหวขนาด 7.0 จะเกิดขึ้นในช่วงเมืองมิตจีนาถึงตอนเหนือของมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นจุดที่มีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุด ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ตามแนวรอยเลื่อนนี้มีโอกาสต่ำกว่า 50% (4)
               หากพิจารณาในระดับเมือง เมืองมิตจีนาและเนปิดอว์มีความเสี่ยงสูงที่สุด โดยมีโอกาส 40 – 60% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ในอีก 50 – 100 ปี ขณะที่มัณฑะเลย์และย่างกุ้ง แม้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่มีประชากรหนาแน่น แต่กลับมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ต่ำกว่า 10% ภายใน 100 ปี อย่างไรก็ตาม การสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวบริเวณรอยเลื่อนสะกายอาจส่งแรงกระเพื่อมไปยังพื้นที่อื่นรวมถึงประเทศไทย ซึ่งจำเป็นต้องเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น (4)
               แม้ประเทศไทยจะไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวขอบแผ่นเปลือกโลก แต่ยังคงมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนมีพลังที่กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันตก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีแนวรอยเลื่อนสำคัญ เช่น รอยเลื่อนแม่จัน, แม่อิง, แม่ฮ่องสอน, เมย, แม่ทา, เถิน, พะเยา, ปัว, อุตรดิตถ์, เจดีย์สามองค์, ศรีสวัสดิ์, ระนอง, คลองมะรุ่ย, เพชรบูรณ์, แม่ลาว และเวียงแห รอยเลื่อนเหล่านี้สามารถปลดปล่อยพลังงานและก่อให้เกิดแผ่นดินไหวได้หากมีการสะสมพลังงานเพียงพอ (5)
               ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 6.3 ที่อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 นอกจากนี้ ยังเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ตามแนวรอยเลื่อนอื่น ๆ เช่น แผ่นดินไหว ขนาด 6.5 ที่จังหวัดน่าน ในปี 2478 และ ขนาด 5.3, 5.9, 5.2 (3 ครั้ง) ที่อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ในปี 2526 แม้โอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในไทยจะไม่สูงเท่ากับประเทศที่อยู่ในแนว Ring of Fire แต่แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาและลาว อาจส่งผลกระทบถึงไทยได้ ดังเช่นเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 6.8 ในเมียนมา เมื่อปี 2554 และครั้งล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้น (5)
               แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการปลดปล่อยพลังงานในเปลือกโลก อันเป็นผลจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกตามแนวรอยเลื่อน หรือแรงกระทำจากปัจจัยอื่น เช่น การระเบิดของภูเขาไฟ หรือการยุบตัวของโพรงใต้ดิน แม้ว่าแผ่นดินไหวจะไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ แต่การศึกษาการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนและลักษณะทางธรณีวิทยาสามารถช่วยประเมินความเสี่ยงและวางแผนป้องกันล่วงหน้าได้ (6)
               การเตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหวเป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ประชาชนควรจัดบ้านเรือนให้ปลอดภัย โดยหลีกเลี่ยงการวางสิ่งของหนักบนที่สูง ติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ให้มั่นคง และจัดเตรียมแผนฉุกเฉินสำหรับการอพยพ ในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวขณะอยู่ในอาคาร ควรหาที่หลบที่แข็งแรง เช่น ใต้โต๊ะที่มั่นคง หรืออยู่ใกล้เสาอาคารที่แข็งแรง พร้อมหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีกระจกหรือของตกแต่งแขวนอยู่เพื่อป้องกันอันตรายจากการหล่นทับ (6)
               หากอยู่ภายนอกขณะเกิดแผ่นดินไหวควรหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง เช่น ใต้ต้นไม้ใหญ่ ใกล้เสาไฟฟ้า หรืออาคารสูงที่อาจถล่มได้ หากอยู่ในยานพาหนะควรหยุดรถในที่ปลอดภัยและหลีกเลี่ยงสะพานหรืออุโมงค์ที่อาจได้รับความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือน สำหรับผู้ที่อยู่ใกล้ชายฝั่งควรเฝ้าระวังความเสี่ยงจากคลื่นสึนามิที่อาจเกิดขึ้นตามมา และติดตามประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด (6)
               แผ่นดินไหวในเมียนมาครั้งนี้เป็นเครื่องเตือนว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้ปลอดภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะรอยเลื่อนสะกายที่ยังคงเป็นภัยเงียบและต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันประเทศไทยเองก็มีจุดเสี่ยงหลายแห่ง การเตรียมพร้อมของภาครัฐและประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับภาคเอกชนที่สามารถเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาระบบรับมือภัยพิบัติให้ดีขึ้น (7)
               ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ เช่น สตาร์ทอัปจากญี่ปุ่นที่พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ โดยใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย ฟุตเทจจากกล้องถนน ข้อมูลสภาพอากาศ และการจราจรแบบเรียลไทม์ ระบบสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลที่ได้รับการยืนยันภายใน 1 นาที ช่วยให้การติดตามภัยพิบัติแม่นยำและรวดเร็ว ปัจจุบันมีหน่วยงานท้องถิ่นและบริษัทกว่า 1,100 แห่งใช้งาน และมีแผนขยายสู่ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย เทคโนโลยีลักษณะนี้เป็นแนวทางที่ไทยสามารถนำมาปรับใช้ เพื่อยกระดับระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ และเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (7)

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) BBC News ไทย, แผ่นดินไหวขนาด 8.2 จากเมียนมา ทำตึกสูงย่านจตุจักรถล่ม พบผู้เสียชีวิตแล้ว 7 ราย และสูญหายอีก 85 ราย
(2) Facebook : National Geographic Thailand, “รอยเลื่อนสะกาย” Sagaing Fault ยักษ์หลับกลางเมืองพม่า
(3) Facebook : SpringNews, “รอยเลื่อนสะกาย” ยักษ์หลับกลางเมืองพม่า ต้นตอแผ่นดินไหววันนี้ ขนาด 7.7
(4) mitrearth : มิตรเอิร์ธ, นิสัยการเกิดแผ่นดินไหวของรอยเลื่อนสะกาย ประเทศพม่า
(5) ThaiPBS : The ACTIVE, ย้อนรอย ‘แผ่นดินไหวใหญ่’ ในไทย ตรงไหนยังเสี่ยง!
(6) กรมอุตุนิยมวิทยา, แผ่นดินไหว (Earthquake)
(7) Facebook : capitalread.co, จากบทเรียนแผ่นดินไหวปี 2011 สู่ Spectee Pro บริการจัดการวิกฤตของญี่ปุ่นที่พัฒนา AI รายงานภัยพิบัติแบบเรียลไทม์

ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการจ้างปรับปรุงพื้นที่ สำหรับจัดทำห้องศูนย์เรียนรู้และวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมติดตั้ง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)

doc12894420250409111618

ประกาศเลขที่ 38/2568 ประกวดราคาจ้างจัดกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ e-bidding

กรมลดโลกร้อน ร่วมเสวนา “โลกเดือด แผ่นดินขยับ : อยู่กับความเสี่ยงอย่างไร ให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน”

               วันนี้ (วันอังคารที่ 8 เมษายน 2568) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณี จัดเสวนาในหัวข้อ “โลกเดือด แผ่นดินขยับ : อยู่กับความเสี่ยงอย่างไร ให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และคณะผู้บริหารกระทรวงฯ เข้าร่วม
               การเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “อยู่กับความเสี่ยงอย่างไร ให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” โดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการเสวนา ในหัวข้อ “โลกเดือด แผ่นดินขยับ : อยู่กับความเสี่ยงภัยอย่างไร ให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” โดยผู้ทรงคุณวุฒิ และเชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ประกอบด้วย นายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นายนัฐวุฒิ แดนดี รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายวิชาการ นายสุวภาคย์ อิ่มสมุทร รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านธรณีวิทยาแผ่นดินไหว ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการองค์ความรู้และบทบาทการบริหารจัดการด้านธรณีพิบัติภัย ทั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีของการสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกภาคส่วนเกิดความเข้าใจอันจะนำไปสู่การลดความหวั่นวิตกและสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน และพัฒนาขีดความสามารถของทุกภาคส่วนในการเตรียมพร้อม รับมือกับธรณีพิบัติภัย และการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้หลักการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 คน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

รายงานความเสี่ยงโลก 2025 ชี้วิกฤตภูมิอากาศยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

รายงานความเสี่ยงโลก 2025 ชี้วิกฤตภูมิอากาศยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

            รายงานความเสี่ยงโลก 2025 (The Global Risks Report 2025) (ภาพที่ 1) ถูกเผยแพร่โดย World Economic Forum (WEF) เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2568 ได้รวบรวมข้อมูลจากแบบสำรวจความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญกว่า 900 คนทั่วโลกที่มีต่อความเสี่ยงโลกใน 3 ช่วงเวลา ได้แก่ 1.ความเสี่ยงปี 2025 2.ความเสี่ยงระยะสั้น ปี 2027 และ 3.ความเสี่ยงระยะยาว ปี 2035 ครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่ 1.ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ (Economic) 2.ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) 3.ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) 4.ความเสี่ยงด้านสังคม (Societal) 5.ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี (Technological)

ภาพที่ 1 รายงานความเสี่ยงโลก 2025 (The Global Risks Report 2025).

สรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  1. สภาพอากาศที่รุนแรงแบบสุดขั้ว อยู่ในอันดับที่ 2 ของความเสี่ยงปี 2025 (ภาพที่ 2) แม้ว่าอันดับจะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2024 ยังคงสะท้อนถึงปัญหาที่ยังคงมีความรุนแรงอยู่ เช่น คลื่นความร้อนในเอเชีย น้ำท่วมใหญ่ในบราซิล ไฟป่าในแคนาดา และพายุเฮอริเคนเฮลีนในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของระบบโลก (อันดับที่ 7) และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ (อันดับที่ 16) ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ห่วงโซ่อาหาร และระบบนิเวศ

 ภาพที่ 2 ความเสี่ยง ปี 2025

  1. สภาพอากาศที่รุนแรงแบบสุดขั้ว อยู่ในอันดับที่ 2 ของความเสี่ยงระยะสั้น ปี 2027 (ภาพที่ 3) ซึ่งยังคงรักษาอันดับต่อเนื่องเป็นปีที่สองติดต่อกันจากปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โลกกำลังเผชิญอยู่ และส่งสัญญาณเตือนให้เราตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคตอันใกล้นี้
  2. ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อยู่ใน 3 อันดับแรกของความเสี่ยงระยะยาว ปี 2035 ได้แก่ อันดับ 1.สภาพอากาศที่รุนแรงแบบสุดขั้ว อันดับ 2 การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ อันดับ 3 การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของระบบโลก (ภาพที่ 3) ซึ่งสอดคล้องกับความเสี่ยงระยะยาว ปี 2035 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ภาพที่ 4) ความเสี่ยงระยะยาวเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเตรียมการปรับตัวอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ภาพที่ 3 ความเสี่ยงระยะสั้น ปี 2027 และความเสี่ยงระยะยาว ปี 2035

ภาพที่ 4 ความเสี่ยงระยะยาว ปี 2035 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

            สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) เป็นเวทีระดับโลกที่ผู้นำจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมจากทั่วโลกมาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดทิศทางนโยบายในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาระหว่างประเทศ งานจะจัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนมกราคม ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยปีนี้เป็นการจัดงานครั้งที่ 55 ภายใต้หัวข้อ Collaboration for the Intelligent Age (ความร่วมมือเพื่อยุคแห่งปัญญา)

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม: https://reports.weforum.org/docs/WEF_Global_Risks_Report_2025.pdf

จัดทำโดย : กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

เรียบเรียงโดย : นางสาวสุชาดา ขำวรพันธ์

กลุ่มช่วยอำนวยการนักบริหาร รับสมัครจ้างเหมาบุคลากรช่วยปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป จำนวน 1 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 9 – 18 เมษายน 2568

ประกาศกำหนดวัน เวลา สถานที่สอบ และระเบียบเกี่ยวกับการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ ในตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ (วุฒิปริญญาตรี) ตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ (วุฒิปริญญาโท) ตำแหน่งนักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ ตำแหน่งนักวิชาการพัสดุปฏิบัติการ ตำแหน่งนิติกรปฏิบัติการ และตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน

ประกาศรายชื่อผู้สมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ ในตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ (วุฒิปริญญาตรี) ตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ (วุฒิปริญญาโท) ตำแหน่งนักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ ตำแหน่งนักวิชาการพัสดุปฏิบัติการ ตำแหน่งนิติกรปฏิบัติการ และตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน