กรมลดโลกร้อน ร่วมงานเฉลิมฉลอง 170 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย–สหราชอาณาจักร ผนึกกำลังเดินหน้าสู้วิกฤตโลกร้อน

               เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดย นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมงานฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร และ 170 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตราชอาณาจักรไทย-สหราชอาณาจักร ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมโฟร์ ซีซั่น กรุงเทพ จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย
               ในปัจจุบันประเทศไทยและสหราชอาณาจักรได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมมากมาย เช่น โครงการความร่วมมือ Thailand – UK PACT ที่ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนเชิงเทคนิคในการดำเนินงานด้านระบบการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (MRV) การวางยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับมาตรการ CBAM รวมถึงโครงการยกระดับขีดความสามารถในการปรับตัวฯ ในภาคการเกษตร ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรในการรับมือต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ฝ่ายสหราชอาณาจักรยินดีให้การสนับสนุนทั้งในด้านการจัดทำแผนการลงทุนเพื่อสนับสนุนการจัดดำเนินงานตาม NDC 3.0 รวมทั้งการขยายความร่วมมือด้านการปรับตัวฯ ให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ประกาศการขึ้นบัญชีและการยกเลิกบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ฯ

ประกาศกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เรื่อง การขึ้นบัญชีและการยกเลิกบัญชี
ผู้สอบแข่งขันได้ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ
ในตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ (วุฒิปริญญาตรี) ตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ (วุฒิปริญญาโท)
ตำแหน่งนักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ ตำแหน่งนักวิชาการพัสดุปฏิบัติการ
ตำแหน่งนิติกรปฏิบัติการ และตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน

ขอเรียนเชิญเจ้าหน้าที่ สส. เข้าร่วมงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2568 (Thailand Research Expo 2025)”


ระหว่างวันที่ 16-20 มิถุนายน 2568 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
โดย ศปส. นำผลงานวิจัยเข้าร่วมนำเสนอในภาคการประชุม และภาคนิทรรศการ ดังนี้

📆 ภาคการประชุม >> ในวันที่ 16 มิถุนายน 2568 เวลา 09.00 – 12.00 น. การประชุมเฉพาะเรื่อง “การวิเคราะห์ข้อมูลและนวัตกรรมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
               >> ในวันที่ 18 มิถุนายน 2568 เวลา 13.30 – 16.30 น. การประชุมขนาดใหญ่
“การพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชั้นนำเพื่อตอบสนองเป้าหมาย SDGs” 
📆 ภาคนิทรรศการ >> บูธ EM3 จัดนิทรรศการเรื่อง “กรอบและแผนงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”ระหว่างวันที่ 16-20 มิถุนายน 2568

“กรมลดโลกร้อน” ร่วมกับ “ช่องวัน 31” และ “GC” มอบเสื้อนิรภัยสะท้อนแสง Upcycle 100 ตัว จาก “โครงการ one แยก แลก สุข” เปลี่ยนขยะให้เป็นประโยชน์

               วันที่ 5 มิถุนายน 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมเป็นเกียรติใน “โครงการ one แยก แลก สุข” มอบเสื้อนิรภัยสะท้อนแสง Upcycle จำนวน 100 ตัว ให้กับพนักงานเก็บขยะ และพนักงานกวาดขยะ ในเขตวัฒนา ร่วมกับนายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพร์ส นายกิจชัย เฉลิมสุขสันต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฯ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีมูลค่าเพิ่ม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และผู้บริหารกรมฯ เข้าร่วม โดยมีนางสาวพิมพ์จุฑา สกุนสิทธิ์ธาดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตวัฒนา เป็นผู้แทนรับมอบ ณ อาคารจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพลส ชั้น 21 ห้อง Auditorium
               โครงการ “one แยก แลก สุข” ดังกล่าว เป็นโครงการที่ช่องวัน 31 ได้จัดทำขึ้นเพื่อรณรงค์ให้พนักงานในองค์กรร่วมกัน แยกขยะอย่างถูกวิธี ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนขยะให้เป็นประโยชน์” โดยขยะที่แยกได้จะถูกนำไปผ่านกระบวนการอัพไซเคิลผลิตเป็นเสื้อนิรภัยสะท้อนแสง โดยตลอดกิจกรรมสามารถรวบรวมขยะรีไซเคิลได้กว่า 4,500 กิโลกรัม ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ 14,800 kgCO2eq เทียบเท่าการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีของต้นไม้ 1,561 ต้น สะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนสังคมสีเขียวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีเพื่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ทส. จัดกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมโลก ปี 2568 ชวนคนไทย “ใช้พลาสติกอย่างเข้าใจ เปลี่ยนประเทศไทยให้ยั่งยืน”

               วันที่ 5 มิถุนายน 2568 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2568 ภายใต้แนวคิดระดับโลก “Beat Plastic Pollution: Ending global plastic pollution ใช้พลาสติกอย่างเข้าใจ เปลี่ยนประเทศไทยให้ยั่งยืน” ส่งเสริมความร่วมมือทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติกอย่างยั่งยืน โดยดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงฯ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย Ms. Marlene Nilsson รองผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ และ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวรายงานเปิดงาน ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
               นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกมากกว่า 400 ล้านตันต่อปี โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นพลาสติกใช้ครั้งเดียว และเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลไม่ถึง 10% รวมทั้งยังก่อให้เกิดไมโครพลาสติกปะปนในสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพลาสติก จะคิดเป็น 15% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ขณะที่ประเทศไทยผลิตพลาสติก 9 ล้านตันต่อปี โดย 36% เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ซึ่งในปี 2567 มีปริมาณขยะพลาสติกเกิดขึ้น 2.88 ล้านตัน และมีการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เพียง 25%
               นายนราพัฒน์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทย มี Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของประเทศ พ.ศ. 2561-2573 มีเป้าหมาย ลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และ การนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายใน ปี 2570 ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดและมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาพลาสติก โดยได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ.2563 – 2565) ที่ดำเนินการตามมาตรการแล้ว ได้แก่ ห้ามใช้พลาสติกบางประเภท ห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายไมโครบีดส์ (Microbeads) ยกเลิกการใช้แคปซีลบนฝาขวดน้ำดื่ม ถุงพลาสติกชนิดบางความหนา ต่ำกว่า 36 ไมครอน รวมถึงแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 – 2570) บริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรที่มุ่งเน้นส่งเสริมการรีไซเคิลขยะพลาสติก 100% อีกทั้ง ยังได้ร่วมกับภาคเอกชน กลุ่มผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านสะดวกซื้อ และกลุ่มผู้ประกอบการร้านกาแฟทั่วประเทศ จำนวน 45 หน่วยงาน รวม 31,637 ร้าน/สาขา ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือ ร่วมกันลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกหรือภาชนะแบบใช้ครั้งเดียว พร้อมส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้ามาทดแทน และนำทรัพยากรกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
               นอกจากนี้ ทส. ยังได้เดินหน้าผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน พ.ศ. .. ภายใต้หลักการ EPR ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่ของบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการให้เลขาธิการรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป อีกทั้ง ยังมีแนวคิดจะร่วมมือกับสมาคมฯ นำเสนอรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนซาเล้ง ให้เหมือนกับการขึ้นทะเบียนวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งจะทำให้ซาเล้งมีความเป็นระเบียบ น่าเชื่อถือ และในขณะเดียวกัน เราก็จะได้ผู้ช่วยด้านการจัดการขยะต้นทางมาช่วยงานเพิ่มอีกด้วย พร้อมกันนี้ จะมีการยกระดับร้านรับซื้อของเก่าให้มีระบบบริหารจัดการที่ดี และสร้างความเชื่อมโยงกับระบบคัดแยกขยะในชุมชน เพื่อให้กิจกรรมคัดแยกที่เกิดขึ้น มีผู้รับซื้อนำกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิลหรือการจัดการที่ถูกต้องต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้จะสอดคล้องกับรูปแบบ พ.ร.บ. EPR ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
               นายนราพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “เนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลกนี้ ขอเชิญชวนทุกภาคส่วน ร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ใช้พลาสติกอย่างเข้าใจ ใช้เท่าที่จำเป็น และคุ้มค่า และนำกลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้ยั่งยืน”
               ภายในงานมีการเสวนา Ted Talk ภายใต้แนวคิด “Beat Plastic Pollution: Ending global plastic pollution” ได้รับเกียรติจากคณะวิทยากรผู้มากประสบการณ์ ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ และแนวทางการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลอย่างยั่งยืนต่อไป อีกทั้ง กิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมทดสอบความรู้ ร่วมกันแก้ไขวิกฤตพลาสติกอย่างยั่งยืน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานรวมกว่า 800 คน พร้อมถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยการจัดงานครั้งนี้ เป็นการจัดงานแบบปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral Event) เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา จ้างซ่อมบำรุงรถยนต์ส่วนกลาง หมายเลขทะเบียน ฮฐ 8544 กรุงเทพมหานคร โดยวิธีเฉพาะเจาะจง