กรมลดโลกร้อน จัดประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอโครงการฯ กัดเซาะชายฝั่ง ครั้งที่ 1/2568

​ วันพุธที่ 29 มกราคม 2568 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอโครงการศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) ครั้งที่ 1/2568 ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีฯ และนางสาวระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในฐานะฝ่ายเลขานุการ โดยให้ความสำคัญเรื่องการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งและการปกป้องพื้นที่กรุงเทพมหานคร อันเป็นผลสืบเนื่องจากเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งประกอบด้วย
1. การศึกษาสถานการณ์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) ตั้งแต่อดีตถึง ปัจจุบัน แนวทางการแก้ไขปัญหาและช่องว่างของการดำเนินงานที่ผ่านมา
2. การจัดทำภาพฉายแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลบริเวณพื้นที่อ่าวไทย ตอนบน (กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) ภายใต้ฉากทัศน์การคาดการณ์ เศรษฐกิจและสังคมในอนาคตรูปแบบต่าง ๆ (Shared Socioeconomic Pathways: SSP) และแนวโน้มของการกัดเซาะชายฝั่งโดยพิจารณาร่วมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น แนวทางการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น รวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมที่อาจจะเกิดขึ้นของแต่ละฉากทัศน์
3. การศึกษาผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลต่อการเกิดเพิ่มขึ้นของ ระดับน้ำในแม่น้ำและการรุกตัวของน้ำเค็มพร้อมเสนอแนวทางจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว
4. การศึกษาความเหมาะสมของมาตรการฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่งที่สูญเสียจากการถูก กัดเซาะ บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) ตั้งแต่ อดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงศึกษาความจำเป็นและความเป็นไปได้ของการถมทะเล เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืนและป้องกันปัญหาการกัดเซาะและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในระยะยาว
5. การศึกษาความเหมาะสมของมาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) ในรูปแบบต่างๆ ทั้งมาตรการโครงสร้างแบบแข็ง (Hard Structure) เช่น เขื่อนกันคลื่น เป็นต้น และมาตรการโครงสร้างแบบอ่อน (Soft Structure) เช่น การเติมทราย เป็นต้น รวมถึงแนวคิดการประยุกต์ใช้แนวคิดการแก้ไขปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นฐาน (Nature-based Solution : NbS)
6. การเสนอทางเลือกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาและการวิเคราะห์เปรียบเทียบ ความคุ้มค่าของแต่ละทางเลือก โดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ทีครอบคลุมผลกระทบและผลประโยชน์ร่วมทั้ง ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การลดหรือการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก รวมถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
7. การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment : SEA) โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่
8. การจัดทำแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มขึ้น ของระดับน้ำทะเลเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) ซึ่งเป็นแผนระยะยาวที่สอดคล้องกับสถานการณ์การกัดเซาะ และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในแต่ละช่วงเวลา โดยแผนดังกล่าว ควรประกอบด้วย มาตรการที่เหมาะสม การสำรวจและออกแบบเบื้องต้น กรอบระยะเวลาดำเนินงาน งบประมาณ และการประเมินความคุ้มค่า ทางเศรษฐศาสตร์
9. การศึกษาโครงสร้างเชิงสถาบันหรือกลไกที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ตามแผนงานป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเนื่องจากการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ เช่น รูปแบบของการดำเนินงาน แหล่งงบประมาณ หน่วยงานที่รับผิดชอบ กฎหมาย หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น พร้อมรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอโครงการศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) และคณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาข้อมูลและผลการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปจัดทำข้อเสนอโครงการศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) ต่อไป ซึ่งการประชุมดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ จำนวน 60 คน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ตรุษจีนยั่งยืน สร้างโลกสีเขียว ลดโลกร้อน

“ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้” เทศกาลตรุษจีน เวียนมาบรรจบอีกครั้ง หรือเป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลองสู่การขึ้นปีใหม่ของผู้ที่มีเชื้อสายจีนทั่วโลก นำพาความสุขและความปิติมาสู่ทุกครัวเรือน แต่รู้หรือไม่ว่า ประเพณีที่เรารักและปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนานนั้น อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่รู้ตัว แล้วเราจะฉลองตรุษจีนอย่างไรให้มีความสุขและยังคงรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ?
(1) เปลี่ยนเสื้อแดงตัวเก่า ให้เป็นลุคใหม่ : การมีเสื้อผ้าใหม่ต้อนรับปีใหม่ก็เป็นเรื่องดี แต่การนำเสื้อผ้าที่มีอยู่มาปรับเปลี่ยนให้ดูใหม่ก็เป็นไอเดียที่เจ๋งไม่แพ้กันเลยค่ะ นอกจากจะประหยัดเงินแล้ว ยังเป็นการช่วยลดปริมาณขยะจากเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้
(2) จุดประทัดออนไลน์ : การจุดประทัดทำให้เกิดเขม่าควันจากการเผาไหม้ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงวัย การจุดประทัดออนไลน์จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ โดยการเปิดเสียงประทัดผ่านลำโพงในระดับเสียงที่เหมาะสม ทั้งยังเป็นการช่วยสืบสานแนวทางปฏิบัติแบบเดิมไว้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
(3) เปลี่ยนไปใช้ธูป/เทียนไฟฟ้า : ควันที่เกิดขึ้นจากการจุดธูปเทียนส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การเปลี่ยนมาใช้ธูปเทียนไฟฟ้าจึงเป็นอีหนึ่งทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะธูปเทียนไฟฟ้าไม่ก่อให้เกิดควันรวมทั้งสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง
(4) โอนเงินแทนซองแดง : ลดการใช้กระดาษโดยโอนเงินแทนซองแดง วิธีนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดการใช้กระดาษและลดขยะเท่านั้น แต่ยังสะดวกทั้งผู้ให้และผู้รับอีกด้วย การโอนเงินจึงเป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็ว
(5) ทำอาหารอย่างเหมาะสม : การจัดโต๊ะไหว้ให้มีความหมายและในปริมาณที่เหมาะสมกับจำนวนสมาชิกในครอบครัว เพื่อไม่ให้มีปริมาณอาหารเหลือทิ้ง เป็นการลดของเสียจากอาหารและลดปริมาณขยะอินทรีย์ในครัวเรือน ที่สำคัญยังช่วยลดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีส่วนทำให้โลกร้อนอีกด้วย
(6) car pool หรือใช้รถสาธารณะ : เป็นทางเลือกที่ดีในการประหยัดพลังงานและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานคร แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2.95 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
– Urbancreature
– Climate Care Collaboration Platform

จับตาแรงกดดันภายในสหรัฐ หลัง “ทรัมป์” ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีส

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (กรมลดโลกร้อน) โดย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ระบุยังต้องติดตามภาคเอกชนและมลรัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ ว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งประกาศให้สหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงปารีส โดยคำมั่นที่สหรัฐจะให้เงินแก่กองทุนภูมิอากาศสีเขียว 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะถูกระงับ ขณะที่ประเทศไทยยังต้องเดินหน้าเตรียมความพร้อมรับมือกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยากขึ้น รวมถึงการปรับตัวต่อกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรป
การประกาศนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เตรียมนำสหรัฐอเมริกาออกจากข้อตกลงปารีสไม่ได้สร้างความประหลาดใจ เนื่องจากยืนยันชัดเจนเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนเข้ารับตำแหน่งแล้ว โดยการถอนตัวอย่างเป็นทางการจะใช้ระยะเวลา 1 ปี หลังจากการยื่นเรื่อง ซึ่งระหว่างนี้สหรัฐยังคงเป็นภาคีในข้อตกลงดังกล่าว
ผลกระทบจากการถอนตัวของสหรัฐฯ มีหลายประการ โดยเฉพาะด้านการสนับสนุนทางการเงินต่อประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนเงินทุนกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund) ขององค์การสหประชาชาติ แต่เมื่อทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่ง เงินทุนดังกล่าวอาจถูกระงับ ส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยปัจจุบันสหรัฐ เป็นผู้สนับสนุนประมาณ 30% ของกองทุนนี้
อีกหนึ่งผลกระทบที่สำคัญคือ การลดความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างไทยและสหรัฐ ซึ่งอาจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงแนวทางการลงทุนในพลังงานสะอาดและโครงการด้านสิ่งแวดล้อมในไทยที่ต้องพึ่งพาเงินทุนจากภาคเอกชนและภาครัฐของสหรัฐ ก็อาจได้รับผลกระทบ
นโยบายของทรัมป์จะมีผลกระทบต่อการลงทุนและการดำเนินนโยบายภายใน โดยเฉพาะการลงทุนด้านพลังงานสะอาดในสหรัฐ ที่ชะลอตัวลง อย่างเช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage) อย่างไรก็ตามภายในสหรัฐฯ เอง ยังคงมีมลรัฐกว่า 26 แห่งที่เดินหน้าเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง เช่น แคลิฟอร์เนีย ซึ่งออกกฎหมายเข้มงวดกว่ากฎหมายของรัฐบาลกลาง ส่งผลให้ยังคงมีการดำเนินการในระดับท้องถิ่นและระดับภาคเอกชนต่อไป ขณะที่ภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft Google และ Amazon ที่ยังคงยืนยันเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเนื่องจากต้องแข่งขันในตลาดโลก ดังนั้นจึงต้องติดตามการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลกลางและการดำเนินงานของมลรัฐ รวมถึงภาคเอกชนว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป
สำหรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ อาจส่งผลต่อเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้กำหนดไว้ในปี 2035 ซึ่งตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซลง 61-66% จากระดับปี 2005 หากนโยบายทรัมป์ทำให้การลดการปล่อยก๊าซล่าช้า อาจส่งผลต่อความพยายามของประชาคมโลกในการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยต้องสร้างขีดความสามารถให้กับภาคธุรกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถแข่งขันและเข้าถึงแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงอาจต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร เช่น CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของสหภาพยุโรปซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2569 ขณะที่สหราชอาณาจักรมีมาตรการแบบเดียวกันซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2570
ทั้งนี้ แม้ว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส แต่ประเทศอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป จีน และอินเดีย ยังคงเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ศูนย์กลางเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Technology ก็จะมีการเปลี่ยนแปลง จากในรัฐบาลของไบเดนที่ต้องการเป็นผู้นำ ต่อไปจะย้ายศูนย์กลางไปที่สหภาพยุโรปและสแกนดิเนเวียน รวมถึงออสเตรเลียที่ต้องการเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาด้านนี้
สำหรับผลกระทบต่อเป้าหมายลดอุณหภูมิโลก หากสหรัฐฯ เปลี่ยนนโยบาย อาจส่งผลให้เป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสทำได้ยากขึ้น โดยปัจจุบันสหรัฐฯ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 ของโลก
อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตามองว่า ภาคเอกชนและมลรัฐในสหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศอย่างไรต่อไป แต่สิ่งสำคัญคือ ประเทศไทยต้องเร่งเสริมสร้างเครื่องมือทางกฎหมายและการเงินเพื่อรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงในอนาคต รวมถึงเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในตลาดโลกด้วย

DCCE & GIZ ร่วมหารือการดำเนินงานด้านการปรับตัวฯ และการสนับสนุนด้านการเงินจาก IKI

วันที่ 17 มกราคม 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมหารือการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และคณะผู้บริหารจากกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึง Dr. Ulf Jaeckel, Head of Division European and International Adaptation to climate change, BMUV , Dr. Timo Menniken ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทย และ ดร. อังคณา เฉลิมพงศ์ ผู้อำนวยการโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (CCMB) พร้อมเจ้าหน้าที่จาก GIZ ร่วมประชุม ณ ห้องวาสนา อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่ออัปเดตสถานะปัจจุบันของแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NAP) และการดำเนินงานตามแผนดังกล่าว รวมถึงการหารือประเด็นที่ประเทศไทยมีความต้องการการสนับสนุนจาก International Climate Initiative (IKI) ผ่าน IKI Thematic Call ซึ่งประกอบด้วย การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปรับตัวฯ ในระดับพื้นที่และรายสาขา การเสริมสร้างศักยภาพการประเมินความเสี่ยงให้บุคลากรในระดับส่วนกลางและพื้นที่ การเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินงานภายใต้ พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเงินสำหรับการดำเนินงานด้านปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน จับมือตลาดหลักทรัพย์ฯ นำร่องกฎหมาย Climate Change

วันที่ 16 มกราคม 2568 ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (อสส.) และ นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน ระหว่างกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมี นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ดร.กิตติศักดิ์ พฤกษ์กานนท์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ และนายศิวัช แก้วเจริญ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมทั้งเข้าร่วมงานสัมมนา SET Carbon: ดิจิทัลโซลูซันเพื่อธุรกิจยั่งยืน โดยท่าน อสส.ได้ให้เกียรติกล่าว Keynote Speech ในหัวข้อ “ความท้าทายและโอกาสของธุรกิจจากพ.ร.บ. Climate Change” ณ หอประชุมสังเวียน อินทรวิชัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมงานสัมมนาจำนวน 800 คน
การบรรยายครั้งนี้มุ่งเน้นให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะมีต่อภาคธุรกิจ โดยมุ่งเน้นประเด็นการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน พร้อมทั้ง นำเสนอแนวทางปรับตัวและสร้างโอกาสเติบโตภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ให้กับผู้บริหารระดับสูง ผู้ปฏิบัติงานจากบริษัทจดทะเบียน ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อประกอบการวางแผนกรอบการดำเนินงาน และนโยบายของบริษัทฯ ในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย Net Zero พร้อมร่วมมือกันพัฒนาโครงการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียนผ่านระบบ SET ESG Data Platform เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของประเทศในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและยั่งยืนต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

10 ภัยจากโลกเดือด ที่ไม่ควรมองข้าม ในปี 2025

ปี 2025 ปีที่มีความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความพยายามระดับโลกในการรักษาสมดุลของธรรมชาติและลดผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์จึงกลายเป็นหัวข้อสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอุณหภูมิโลกให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย การลดมลพิษจากพลาสติก การเพิ่มการลงทุนในเศรษฐกิจสะอาด การอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมถึงการรับมือกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ความมั่นคงทางอาหาร และการย้ายถิ่นฐานที่เกิดจากผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ และ 10 ภัยจากโลกเดือด ที่ไม่ควรมองข้าม ในปี 2025 มีอะไรบ้าง ไปดูกัน….
1. รักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5°C
เป้าหมาย “Keep 1.5 Alive” ยังคงสำคัญ โดย COP30 ที่เมืองเบเล็ม ประเทศบราซิล จะเน้นการบรรเทาผลกระทบ และมีความทะเยอทะยานในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันความเสี่ยงโดยเฉพาะในประเทศที่เป็นเกาะ
2. การลดมลพิษจากพลาสติก
ในปี 2025 มลพิษจากพลาสติกยังคงเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเจรจาสำคัญที่ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 2024 ได้เน้นข้อตกลงลดพลาสติกและส่งเสริมทางเลือกที่ยั่งยืน โดยครอบคลุมวงจรชีวิตของพลาสติกทั้งหมด พร้อมปรับปรุงระบบรีไซเคิลและส่งเสริมวัสดุที่ย่อยสลายได้ รวมทั้งการจัดหาเงินทุน
3. การจัดหาเงินทุนเศรษฐกิจสะอาด
เป้าหมายการเงินใหม่ที่ COP29 เรียกร้องระดมทุน 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2035 เพื่อสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และมาตรการการปรับตัวต่อสภาพอากาศ รวมทั้งการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
4. ปกป้องธรรมชาติ
การจัดประชุม COP30 ในป่าอเมซอนย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ระบบนิเวศและแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งมีความสำคัญในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการเจรจาที่กรุงโรมในเดือน ก.พ. ปี 2025 จะเน้นแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์ รวมทั้งปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและฟื้นฟูป่า
5. เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว
ความถี่และความรุนแรงจากเหตุการสภาพอากาศสุดขั้วคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2025 เช่น คลื่นความร้อนและพายุ ดังนั้นการเสริมระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติจะเป็นสิ่งสำคัญในการลดผลกระทบ
6. การขาดแคลนน้ำ
พื้นที่แห้งแล้งทั่วโลกจะเผชิญกับวิกฤตการขาดแคลนน้ำอย่างน้ำรุนแรงในปี 2025 ดังนั้นการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและการอนุรักษ์เป็นสิ่งจำเป็น
7. ความมั่นคงทางอาหาร
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อการเกษตรและการผลิตอาหาร ในปี 2025 อาจต้องเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ดังนั้นการเกษตรยั่งยืน เทคโนโลยีการเกษตรสร้างสรรค์ และความร่วมมือระหว่างประเทศจะช่วยบรรเทาปัญหาความมั่นคงทางอาหาร
8. มหาสมุทรเป็นกรด
CO2 ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความเป็นกรดในมหาสมุทรสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเล เช่น ปะการัง ในปี 2025 การแก้ไขปัญหานี้มีความสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางทะเล และสนับสนุนชุมชนที่พึ่งพาทะเล
9. การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
ในปี 2025 การอนุรักษ์จะต้องมุ่งเน้นไปที่การปกป้องชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ การฟื้นฟูที่อยู่อาศัย และสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
10. การย้ายถิ่นฐานจากสภาพภูมิอากาศ
ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การขาดแคลนทรัพยากร ทำให้ผู้คนจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐาน ดังนั้น ในปี 2025 การสนับสนุนชุมชนที่ถูกย้ายและการจัดการย้ายถิ่นฐานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญเพื่อความมั่นคงโลก

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

นี่แหละวิกฤตโลกร้อนของจริง ไทยหนาวสะท้านยาวนานที่สุด หิมะถล่มญี่ปุ่น ไฟป่าโหมแคลิฟอร์เนีย

ช่วงสัปดาห์นี้สภาพอากาศโลกแปรปรวนหนักมาก ในประเทศไทยเผชิญอากาศหนาวเย็นลงนานต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือที่อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 16-18 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นผลมาจากมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนที่แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ สภาพอากาศนี้ส่งผลให้ประชาชนต้องเผชิญกับหมอกบางในตอนเช้าและความเสี่ยงจากอากาศแห้งที่อาจก่อให้เกิดอัคคีภัยในหลายพื้นที่ (1)
กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศประจำวันที่ 13 มกราคม 2568 พบว่าเช้าวันนี้เป็นวันที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบปีนี้และหลายปีที่ผ่านมา โดยอุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 6.6 องศาเซลเซียส ที่จังหวัดสกลนคร ส่วนประเทศไทยตอนบนยังมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดหลายพื้นที่ รวมทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ที่ กทม.อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 14.8 องศาเซลเซียส และฤดูหนาวจะลากยาวไปจนถึงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2568 (2)
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ระหว่างวันที่ 16-18 มกราคม มวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะเคลื่อนตัวเข้ามาปกคลุมพื้นที่ตอนบนของประเทศไทย ภาคใต้ตอนบน และทะเลจีนใต้ มวลอากาศดังกล่าวจะส่งผลให้อุณหภูมิในบริเวณเหล่านี้ลดลง พร้อมกับมีลมแรงเกิดขึ้น (1)
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมชี้ว่า ในปี 2567 ประเทศจีนประสบกับอากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบ 30 ปี โดยอุณหภูมิที่เมืองโม่เหอในมณฑลต้าซิงอันหลิงลดลงถึง -53 องศาเซลเซียส พร้อมกับหิมะตกหนักเกือบทั่วประเทศ ปรากฏการณ์อากาศหนาวสุดขั้วนี้เกิดจาก “Polar Vortex” หรือกระแสลมกรดพัดล้อมรอบบริเวณที่มีอากาศเย็นจัด ซึ่งเป็นการแผ่ขยายของมวลอากาศเย็นจากขั้วโลกเหนือสู่ประเทศจีน โดยมีสาเหตุมาจากการที่โลกร้อนขึ้น ทำให้กระแสลม Polar Jet Stream เบี่ยงทิศทาง และทำให้กระแสลมกรดนี้ขยายลงมายังพื้นที่ทางใต้ (3)
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากการหมุนของลมขั้วโลกที่พัดจากทิศตะวันตกไปตะวันออก ซึ่งทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันไม่ให้มวลอากาศเย็นจากขั้วโลกแผ่ขยายลงมาทางใต้ แต่ด้วยการที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นกว่า 1.5 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้กระแสลมกรดดังกล่าวอ่อนกำลังลงและขยายไปยังประเทศจีนและภูมิภาคอื่น ๆ ส่งผลให้อากาศหนาวเย็นจัดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การที่มวลอากาศเย็นแผ่ขยายลงมาทางใต้ยังส่งผลให้เกิดความกดอากาศสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งทำให้เกิดอากาศหนาวเย็นผิดปกติ และยาวนานกว่าปีก่อน ๆ (3)
สภาพอากาศที่หนาวเย็นในไทยยังส่งผลให้ปัญหาฝุ่น PM2.5 รุนแรงขึ้น เนื่องจากมวลอากาศเย็นทำให้อากาศปิด การสะสมของฝุ่นละอองในเขตเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจ นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์ (3)
อีกฟากหนึ่งของโลก เกิดไฟป่าโหมไหม้บ้านเรือนประชาชนในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของลอสแอนเจลิส และได้คร่าชีวิตประชาชนไปอย่างน้อย 10 ราย เจ้าหน้าที่ต้องสั่งอพยพประชาชนเกือบ 180,000 คน และเผาผลาญพื้นที่ไปหลายแสนไร่ (5) (6)
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ไฟป่าเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงกว่าในอดีต ความร้อนและความแห้งแล้งในปีที่ผ่านมาเป็นตัวเร่งให้เกิดสถานการณ์ไฟป่าในปัจจุบัน แม้ว่าปริมาณฝนที่ตกมากในช่วงสองปีที่ผ่านมาในแคลิฟอร์เนียจะช่วยให้พืชพรรณเติบโต แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนและฤดูหนาวที่แห้งแล้ง พืชเหล่านี้กลับกลายเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้ไฟลุกลามได้ง่ายขึ้น (6)
ลมซานตาอานาที่พัดแรงถึง 129 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ไฟป่าในแคลิฟอร์เนียลุกลามอย่างรวดเร็ว ลมเหล่านี้นอกจากจะพัดเปลวไฟให้แพร่กระจายไปในวงกว้าง ยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่ต้องควบคุมไฟป่าในพื้นที่ลาดชัน (4)
ผลกระทบจากไฟป่าครั้งนี้ไม่เพียงสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ไว้ว่าสูงถึง 1.97 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ควันไฟที่ลอยฟุ้งไปไกลยังส่งผลต่อคุณภาพอากาศในพื้นที่ใกล้เคียง และสุขภาพของประชาชนในระยะยาว (5)
ในขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นต้องเผชิญกับหิมะตกหนักที่สุดในรอบปีที่โทไคและโฮคุริกุในภูมิภาคทางตอนเหนือและตะวันตกโดยบางพื้นที่หิมะสะสมสูงถึง 70 เซนติเมตร สภาพอากาศดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการเดินทาง รถไฟชินคันเซ็นในภูมิภาคโฮคุริกุต้องลดความเร็วลงหรือหยุดให้บริการชั่วคราวในบางสาย และทางด่วนบางส่วนต้องปิดเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การเตรียมพร้อมรับมือของญี่ปุ่นแม้จะมีประสิทธิภาพ แต่ภัยพิบัติเช่นนี้ได้สร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม (7) (8)
นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า สภาพอากาศสุดขั้วเหล่านี้คือผลพวงของภาวะโลกร้อนที่เร่งให้เกิดความผิดปกติของระบบภูมิอากาศโลก และเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน เช่น ฤดูหนาวที่หนาวจัดหรือฤดูร้อนที่ร้อนจัด ไม่เพียงกระทบต่อมนุษย์แต่ยังส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศอย่างรุนแรง (9)
วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนี้กำลังเตือนเราว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์เป็นทางรอดและจำเป็น การใช้พลังงานทดแทนและลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแนวทางที่จะช่วยบรรเทาวิกฤตนี้ได้ แต่หากยังไม่ลงมือทำ อนาคตของโลกอาจเต็มไปด้วยสภาพอากาศสุดขั้วที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้อีกต่อไป (10)

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) กรมอุตุนิยมวิทยา
(2) ฐานเศรษฐกิจ, กรมอุตุนิยมวิทยา เผยสภาพอากาศวันนี้ ไทยหนาวเย็นที่สุดในรอบปี
(3) ไทยโพสต์ : อิสรภาพแห่งความคิด, นักวิชาการ มีคำอธิบาย ‘ทำไม? ประเทศไทยปีนี้จึงหนาวเย็นมากกว่าปกติ’
(4) Why wildfires are becoming faster and more furious, BBC News.
(5) BBC News ไทย, ไฟป่าแคลิฟอร์เนีย : สถานการณ์ยังน่ากังวล เปิดสาเหตุไฟโหมรุนแรงหนัก, ไฟป่าแคลิฟอร์เนียโหมรุนแรง สาเหตุมาจากอะไร เรารู้อะไรแล้วบ้าง?
(6) BBC News ไทย, ไฟป่าแคลิฟอร์เนีย : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างฉับพลันเชื่อมโยงกับไฟป่าในแอลเอ, ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงฉับพลันเชื่อมโยงกับไฟป่ารุนแรงในแคลิฟอร์เนียอย่างไร?
(7) Sea of Japan coast braces for heavy snow, possible traffic disruption, JapanToday.
(8) Heavy snow hits north, west Japan, 100 vehicles temporarily stranded., Kyodo News+
(9) Climate Change Indicators : Weather and Climate, EPA : United States Environmental Protection Agency.
(10) Greenhouse gases emissions and global climate change : Examining the influence of CO2, CH4, and N2O., ScienceDirect.

กรมลดโลกร้อน จัดงาน Youth After COP29 Event เพื่อพัฒนางาน Climate Action ของเยาวชนในประเทศไทย

วันที่ 15 มกราคม 2568 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดงานสรุปผลการดำเนินงานของผู้แทนเยาวชนไทยในการเข้าร่วมงาน COP29 (Youth After COP29 Event) ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยได้รับเกียรติจาก นายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดและมอบนโยบาย พร้อมด้วย Ms.Niamh Collier – Smithผู้บริหารจาก UNDP Thailand และ Ms. IIaria Favero ผู้บริหารจาก UNICEF Thailand ที่ได้มากล่าวถึงแนวทางความร่วมมือในการสนับสนุนพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานของผู้แทนเยาวชนไทยจากการเข้าร่วมกิจกรรม ในงานประชุม COP29 ณ เมืองบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ที่ผ่านมา เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ร่วมกับเครือข่ายเยาวชนอื่นๆ เพื่อนำไปพัฒนาขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลการดำเนินงานต่างๆ สำหรับงานประชุม COP30 ณ ประเทศบราซิล ต่อไป โดยผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้แทนเยาวชนไทยที่เข้าร่วมงาน COP29 เครือข่ายเด็กและเยาวชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (CCE Children&Youth) คณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนยูนิเซฟ เครือข่ายเยาวชนที่ดำเนินโครงการ Local Conference of Youth (LCOY) ผู้แทนจากหน่วยงานภาคีความร่วมมือต่างๆ ได้แก่ Unicef Thailand , UNDP Thailand โครงการ SPAR6C และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จำนวนรวม 100 คน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

สส. เข้าร่วมรับเสด็จ รับพระราชทานโล่และฉายพระฉายาลักษณ์ร่วม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วันนี้ (14 ม.ค. 2568) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทรงเป็นประธานการประชุมมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ อาคารมูลนิธิขาเทียมฯ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมพระราชทานโล่ให้กับหน่วยงาน โดยมีนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนางสาวระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นผู้แทนเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จฯ รับโล่พระราชทาน และฉายพระฉายาลักษณ์ร่วม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

14 มกราคม วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ

คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้วันที่ 14 มกราคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงผลเสียหายที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า นอกจากนี้ “ป่าไม้” ยังเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถช่วยลดโลกร้อนได้ เนื่องจากเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน (carbon sinks) ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศโลก
ดังนั้น การตัดไม้ทำลายป่าสร้างผลกระทบอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เราทุกคนสามารถช่วยกันลดโลกร้อนได้ง่ายๆ โดยการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และลด ละ เลิก การบุกรุกแผ้วถางป่าและตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งร่วมกันปลูกต้นไม้ขึ้นมาทดแทนที่ถูกตัดทำลายไปให้มากที่สุด

แหล่งที่มา :
– กรมป่าไม้
– กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
– BBC

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”