กรมลดโลกร้อน จัดประชุมคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านการบูรณาการนโยบายและแผน ครั้งที่ 1/2568

               เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (กรมลดโลกร้อน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านการบูรณาการนโยบายและแผน ครั้งที่ 1/2568 โดย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานอนุกรรมการมอบหมายให้ นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติหน้าที่แทน และมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานอนุกรรมการคนที่ 1 นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นรองประธานอนุกรรมการคนที่ 2 นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมฯ ทำหน้าที่อนุกรรมการและเลขานุการ ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ คณะอนุกรรมการฯ รับทราบต่อแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2573 และความคืบหน้าการจัดทำนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย รวมถึงเห็นชอบการปรับปรุงองค์ประกอบคณะทำงานบูรณาการนโยบายและแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เห็นชอบหลักการต่อร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาและกลั่นกรองโครงการที่ขอรับการสนับสนุนทางการเงินในกรอบระหว่างประเทศ เพื่อมอบหมายกรมลดโลกร้อนจัดทำคำสั่งเสนอประธานอนุกรรมการฯ ลงนามต่อไป พร้อมทั้งเห็นชอบในหลักการโครงการเมืองคาร์บอนต่ำและการพัฒนาตลาดคาร์บอนของประเทศไทย (Low Carbon Cities & Carbon Market Development) เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเสนอต่อ ครม. หากเห็นมีมติชอบ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

“We can run: Fund for legs” ปี 2 ขยับขาเพื่อ 100 ขาเทียม ตั้งเป้ารวบรวมกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้ว 4.8 ล้านใบ ลดก๊าซเรือนกระจก 570 ตัน

               วันที่ 30 มีนาคม 2568 ณ บริเวณลานกลางท้องสนามหลวง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (กรมลดโลกร้อน) ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดกิจกรรม เดิน-วิ่ง มินิมาราธอน “we can run: Fund for legs” ปีที่ 2 ภายใต้โครงการ Recycle for Life เพื่อมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมด้วย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกระทรวงฯ และภาคีเครือข่าย ร่วมเปิดกิจกรรม และพิธีมอบการสนับสนุนขาเทียม 100 ขา ให้แก่ คุณกุลิศ สมบัติศิริ กรรมการมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้พิการ พร้อมตั้งเป้ารวบรวมกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล 4,800,000 ใบ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 570 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สร้างสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
               นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้บูรณาการการดำเนินงานหน่วยงานให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อให้ประเทศไทยเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกิจกรรม “we can run: Fund for legs” เพื่อมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครั้งนี้ เป็นปีที่ 2 ยังคงเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมสนับสนุนการผลิตขาเทียมแด่ผู้พิการให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยตั้งเป้าหมายสนับสนุนการผลิตขาเทียม 100 ขา คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,500,000 บาท และรวบรวมกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล 4,800,000 ใบ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 570 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (โดยเทียบการรีไซเคิลกระป๋องกับการขุดแร่ใหม่) ซึ่งจะมีการรวบรวมกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล จากจุดรับคืนกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วในห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี 192 สาขาทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ Recycle for Life เปลี่ยนขยะเป็นบุญ เพื่อมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รวมถึงจากนักวิ่งที่นำกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้ว 5 ใบ มาแลกรับเสื้อและบิบ เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนแลสุขภาพพร้อมดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน
               นายจตุพร กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมครั้งนี้เกิดจากพลังความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กรุงเทพมหานคร มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (มูลนิธิ 3R) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจ TCP บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด ช่อง 7HD ในโครงการ 7 สีปันรักษ์ให้โลก โดยถือเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบของผู้ผลิตในการสร้างสังคมรีไซเคิล ซึ่งครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักวิ่งสายบุญ รวมกว่า 4,800 คน อีกทั้งยังมี “คุณขวัญ ชรัญญา” Miss Climate Change รวมถึงดารานักแสดง อย่าง “คุณเบเบ้ ธันย์ชนก ฤทธินาคา” นักแสดงและผู้ประกาศข่าวช่อง 7HD ในโครงการ 7 สีปันรักให้โลก อาทิ “คุณหลุยส์ เฮส” “คุณจาด้า อินโตร์เร” “คุณศรสวรรค์ ภู่วิจิตร” และ “คุณศจี วงศ์อำไพ” เข้าร่วมกิจกรรม และที่สำคัญการจัดงานในวันนี้ เป็นการจัดงานแบบปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral Event) โดยมีการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำนวน 87.6 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย ทำให้มีก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์
               “ขอขอบคุณมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และภาคีเครือข่ายที่สนับสนุนการจัดกิจกรรม รวมถึงนักวิ่งทุกท่าน ที่ร่วมกันส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้พิการ พร้อมสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065” นายจตุพร กล่าว

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน มอบใบประกาศผู้สนับสนุนกิจกรรม “we can run : Fund for legs” ปีที่ 2

               วันที่ 29 มีนาคม 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดย นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มอบใบประกาศให้กับผู้สนับสนุนกิจกรรม ได้แก่ มูลนิธขาเทียม และภาคีเครือข่าย รวมจำนวน 30 หน่วยงาน ภายใต้กิจกรรม เดิน-วิ่ง มินิมาราธอน “we can run : Fund for legs” ปีที่ 2 โครงการ Recycle for Life เพื่อมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (30 มีนาคม 2568) ณ บริเวณลานกลางท้องสนามหลวง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
               การจัดงานในวันนี้มีบูธกิจกรรมต่างๆ มากมาย ทั้งการแลกรับเสื้อและ BIB การร่วมบริจาคกระป๋องอลูมิเนียม รวมถึงบูธกิจกรรมของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยประกอบไปด้วยกิจกรรมการให้ความรู้การรักษ์โลกในชีวิตประจำวัน ร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะพลาสติก เกมการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง แผนภูมิดัชนีความร้อน (heat index chart) และบูธกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ รวมกว่า 30 หน่วยงาน ซึ่งมีผู้มาร่วมกิจกรรมและเอากระป๋องมารับเสื้อและบิบ เป็นจำนวนกว่า 2,700 คน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน ร่วมเชิดชูเกียรติภาคีเครือข่าย 17 จังหวัด ภายใต้โครงการ “กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้”

               วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2567) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดย นางสาวระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประธานมอบโล่เกียรติยศและเกียรติบัตรในพิธีเชิดชูเกียรติ โครงการ “กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้” พร้อมด้วยนายปฏิญญา ศิลสุภดล ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด นายวัชรพงศ์ อึงศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการเขตประเทศไทย ลาว พม่าและกัมพูชา บริษัท เอสไอจี คอมบิบล็อก จำกัด โดยมีภาคีเครือข่าย 17 จังหวัด เข้ารับรางวัล ณ ห้องประชุมศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ชั้น 2 อาคารกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กรมฯ ได้ร่วมรณรงค์ในโครงการ “กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้” ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการจัดการกล่องยูเอชทีภายหลังจากการบริโภคอย่างถูกวิธี เพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการจัดการขยะที่ไม่เหมาะสม
               ปัจจุบันโครงการฯ รวบรวมกล่องยูเอชทีกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้กว่า 2,947 ตัน หรือ 294 ล้านกล่อง สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 12,539.96 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นอกจากนี้โครงการฯ สามารถต่อยอดถึงภาคประชาสังคม โดยการนำเยื่อกระดาษที่ได้จากการรีไซเคิลกล่องยูเอชทีที่รวบรวมได้ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ มาผลิตเป็นกระดาษรีไซเคิลคุณภาพดี เพื่อมอบเป็นอุปกรณ์การศึกษาแก่นักเรียนผู้มีความบกพร่องทางสายตา จาก 16 โรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศ นับเป็นการส่งเสริมการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ภายในงานมีภาคีเครือข่าย ครู นักเรียน เข้าร่วมจากทั่วประเทศกว่า 150 คน รวม 54 รางวัล

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ “NDC 3.0” ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 109.2 ล้านตัน ภายในปี 2578

               วันที่ 27 มีนาคม 2568 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมนำเสนอผลการศึกษา เป้าหมาย แนวทาง และมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ภายใต้ NDC 3.0 พร้อมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ฉบับที่ 2 หรือ “NDC 3.0” โดยจะยกระดับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกประเทศไทยให้ได้ 109.2 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี พ.ศ. 2578 เพื่อรักษาอุณภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุม และมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม หน่วยงานในระดับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท และผ่านระบบออนไลน์ รวมกว่า 250 คน
               ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยจะเดินหน้ายกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ NDC 3.0 ซึ่งมีกำหนดเสนอต่อสำนักเลขาธิการของ UNFCCC ภายในเดือนกันยายน 2568 ก่อนการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 30 (COP30) ณ สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2568 โดย NDC 3.0 จะเปลี่ยนรูปแบบการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ที่เปรียบเทียบกับกรณีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามปกติ ที่ไม่มีการดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก (Business as Usual: BAU) ไปเป็นการเปรียบเทียบกับระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริง ณ ปี ค.ศ. 2019 หรือ Absolute Emissions Reduction Target ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ (Economy-Wide) พร้อมตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ ไม่เกิน 152 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO₂e) ภายในปี ค.ศ. 2035 ซึ่งรวมการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์จากที่ดิน (LULUCF) ที่คาดว่าจะสามารถดูดกลับได้ ไม่น้อยกว่า 118 MtCO₂e จะทำให้ประเทศไทย ลดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินการเองในประเทศ (Unconditional Target) ได้ 76.4 MtCO₂e และจากการขอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศ (Conditional Target) อีก 32.8 MtCO₂e ซึ่งหากประเทศไทยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง ร้อยละ 60 จากปีฐาน ค.ศ. 2019 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญสู่เส้นทางการจำกัดอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
               ดร.พิรุณ กล่าวต่อว่า มาตรการสำคัญที่ประเทศไทยจะสามารถยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 60 นั้น มาจากการขยายผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 ซึ่งจะเป็นการดำเนินการเองได้ในภายในประเทศ และการขอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศในเทคโนโลยีที่มีการลงทุนสูง ได้แก่ เทคโนโลยีไฮโดรเจนในภาคการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรม Battery Energy storage System (BESS) เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactors: SMR) การผลิตปูนซีเมนต์แบบปล่อยคาร์บอนต่ำ เทคโนโลยีการกำจัดของเสียและสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปลูกข้าวแบบปล่อยคาร์บอนต่ำ การปรับปรุงพันธุ์และอาหารสัตว์ เป็นต้น

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน มอบรางวัล “233 G-Green” พัฒนาต้นแบบผู้ประกอบการไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมคาร์บอนต่ำ

               วันที่ 26 มีนาคม 2568 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (กรมลดโลกร้อน) จัดพิธีมอบรางวัลตราสัญลักษณ์ G – Green ระดับประเทศ เชิดชูเกียรติ สถานประกอบการและหน่วยงาน ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินรับรองความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปี 2567 ภายใต้ตราสัญลักษณ์ G – Green จำนวน 233 แห่ง โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธี ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
               นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในปี 2567 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดตัว Green Hotel Plus ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐาน Green Hotel ที่ Global Sustainable Tourism Council ให้การยอมรับ เทียบเท่าเกณฑ์ของ GSTC ระดับสากล เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่นและโอกาสทางธุรกิจให้กับประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สำหรับผู้ประกอบการ อีกทั้ง ได้ร่วมมือกับ มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนจังหวัดภูเก็ต และภาคีเครือข่าย ดำเนินโครงการ Green Hotel Plus Phuket Sandbox ส่งเสริมโรงแรมที่พักในจังหวัดภูเก็ตกว่า 600 แห่ง ให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน Green Hotel Plus เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก หรือ GSTC 2026 ที่จะจัดขึ้นในปีหน้า (วันที่ 31 มีนาคม – 4 เมษายน 2569) ณ จังหวัดภูเก็ต
               นายจตุพร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการขับเคลื่อนเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ การบรรลุเป้าหมายของประเทศ ไม่สามารถทำได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยภาคีเครือข่ายทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่พร้อมรับปรับตัวและปรับเปลี่ยนประเทศไทย สู่สังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน
               “รางวัลตราสัญลักษณ์ G-Green ในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์อันยาวไกล และความเป็นผู้นำองค์กรที่โดดเด่น กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง มีความตระหนักถึงสถานการณ์โลก และรับผิดชอบต่อสังคม ขอให้รักษามาตรฐานและร่วมเป็นภาคีขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ ร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมการฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ให้กับอนุชนรุ่นหลังต่อไป” นายจตุพร กล่าว
               ด้าน ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมลดโลกร้อน ได้ดำเนินการส่งเสริมการผลิตการบริการ และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (G Green) ประกอบด้วย “Green Production” การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “Green Hotel” โรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “Green National Park” อุทยานแห่งชาติสีเขียว “Green Office” สำนักงานสีเขียว “Green Restaurant” ร้านอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “Green Residence” ที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการขึ้นทะเบียนและรับรองผลิตภัณฑ์ในประเภท “ECO Plus” และ “UPCYCLE Circular Economy”
               โดยในวันนี้ มีสถานประกอบการและหน่วยงาน รับรางวัลตราสัญลักษณ์ G – Green ระดับประเทศ รวมจำนวน 233 แห่ง ประกอบด้วย “ระดับ G – Plus” จำนวน 13 แห่ง “ระดับดีเยี่ยม” จำนวน 96 แห่ง “ระดับดีมาก” จำนวน 86 แห่ง “ระดับดี” จำนวน 32 แห่ง “ผลิตภัณฑ์ G – Upcycle และผลิตภัณฑ์ ECO Plus” ที่ได้การรับรองความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 6 ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงาน เครือข่าย G – Green ได้แก่ นิทรรศการส่งเสริมการผลิต การบริการ และการบริโภคที่ยั่งยืน นิทรรศการ Green Hotel Plus จากโรงแรมสุโขทัย นิทรรศการ Green Office จาก องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย รวมถึงการนำเสนอตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Production เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี สร้างแรงบันดาลใจให้กับสถานประกอบการและองค์กรอื่น ๆ ในการริเริ่มพัฒนากิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน ร่วมจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

               วันที่ 25 มีนาคม 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ มหาวิทยาลัย Monash และกรุงเทพมหานคร จัดการประชุมนานาชาติเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านสภาพอากาศหลายประการ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งการประชุมนี้ เป็นการประชุมเกี่ยวกับแนวทางการนำธรรมชาติมาแก้ไขปัญหาในบริบทเมือง (Nature-based Solutions in Urban Contexts) ภายใต้โครงการ Resilient Urban Centres and Surrounds (RUCaS) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้าแห่งออสเตรเลีย (DFAT) และดำเนินการโดย Water Sensitive Cities Australia (WSCA) ภายใต้ สถาบันการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัย Monash (MSDI) และ ศูนย์การจัดการสิ่งแวดล้อมนานาชาติ (ICEM) โดยจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานครระหว่างวันที่ 25-27 มีนาคม โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม และองค์กรพัฒนาเอกชนจากกัมพูชา ลาว ไทย เวียดนาม และออสเตรเลีย รวมกว่า 140 คน
               ศาสตราจารย์ John Thwaites AM ประธาน MSDI กล่าวปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับบทบาทของการแก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติ (Nature-based Solutions: NbS) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) การแก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติ (Nature-based Solutions: NbS) เป็นแนวทางในการจัดการกับความท้าทายของสังคมโดยการปกป้อง จัดการอย่างยั่งยืน และฟื้นฟูระบบนิเวศธรรมชาติหรือระบบนิเวศที่มีการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว” (Green Infrastructure) เช่น การพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อจัดการน้ำท่วมและมลพิษ หรือการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองเพื่อลดมลพิษทางอากาศ และลดผลกระทบจากปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง ตัวอย่างของแนวทางนี้สามารถพบเห็นได้ที่ สวนเบญจกิติ และ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในกรุงเทพมหานคร
               นาย Ben Furmage ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ WSCA ภายใต้ MSDI กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือและผลักดันให้เกิดชุมชนที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง “ในการประชุมครั้งนี้ เราจะนำเสนอผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ที่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อมีการบูรณาการธรรมชาติ วัฒนธรรม และโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน” นาย Furmage กล่าว
               นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย กล่าวว่า มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ NbS ในการบริหารจัดการน้ำในเมือง เพื่อลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม ปรับปรุงคุณภาพน้ำ และเพิ่มความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
               “การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและมีความหมายเกิดขึ้นจากการพัฒนาแนวทางแก้ไขร่วมกัน โดยอาศัยการทำงานร่วมกันของชุมชน ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และผู้กำหนดนโยบายในทุกระดับของรัฐบาล” นายปวิชกล่าว
               ดร. Angela Macdonald เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับออสเตรเลียและประเทศในลุ่มน้ำโขงในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อช่วยพัฒนาชุมชนและภูมิภาคให้ดีขึ้น
               นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและหัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพฯ คุ้นเคยกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น พายุที่รุนแรงและถี่ขึ้น อุณหภูมิเมืองที่สูงขึ้น และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น
               “กลุ่มเปราะบางมักเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัญหาเหล่านี้ เมืองของเรากำลังใช้ NbS ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อยู่แล้ว ความท้าทายต่อไปคือการขยายขนาดให้ครอบคลุมมากขึ้น” นายพรพรหมกล่าว
ผู้บรรยายหลักและผู้ร่วมอภิปรายในการประชุม ได้แก่
               – ดร. Angela Macdonald เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย
               – นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย
               – นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและหัวหน้าฝ่ายความยั่งยืน
               – ฯพณฯ Pen Sophal รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการจัดการที่ดิน ผังเมือง และการก่อสร้าง ประเทศกัมพูชา
               – ศาสตราจารย์ John Thwaites ประธาน MSDI และอดีตรองนายกรัฐมนตรีรัฐวิกตอเรีย
               – นาย Pin Prakad รองผู้ว่าราชการจังหวัดบัตตัมบัง ประเทศกัมพูชา
               – นาย Ben Furmage CEO, WSCA มหาวิทยาลัย Monash
               – ดร. Jeremy Carew-Reid ผู้อำนวยการศูนย์การจัดการสิ่งแวดล้อมนานาชาติ (ICEM)
               – ผู้เชี่ยวชาญจาก UN, WWF, Stockholm Environment Institute, IUCN, World Bank, ADB, GRET, WaterAid, ADPC

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน เปิดเวทีปรับปรุงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ยกระดับมาตรการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (Climate Change Mitigation)

               เมื่อวันศุกร์ที่ 21 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัท แอดเวนเทจ คอนซัลติ้ง จำกัด ที่ปรึกษาโครงการ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือการปรับปรุงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. ครั้งที่ 4 การลดก๊าซเรือนกระจก (Climate Change Mitigation) ยกระดับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์และทิศทางระดับโลก โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยนายกิตติศักดิ์ พฤกษ์กานนท์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมหารือ ณ ห้องประชุม Platinum Hall ชั้น 3 โรงแรมอวานี รัชดา กรุงเทพมหานคร
               การหารือในครั้งนี้ มีการนำเสนอข้อมูลการทบทวนเป้าหมาย นโยบายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยและในระดับสากล และแนวทางมาตรการ กลไกด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ และแผนในระดับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้าร่วมประชุม เกี่ยวกับการพัฒนา และปรับปรุงร่างมาตรการและกลไกด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และการมีส่วนร่วมทางสังคม เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางการดำเนินงาน สร้างความสามารถในการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างยั่งยืน โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จะดำเนินการจัดทำสรุป และยกร่างแผนแม่บทฯ ในภาพรวม และกำหนดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 ต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน จัดกิจกรรมสร้างองค์ความรู้ “Carbon Free & Smog-Free” : ปลอดคาร์บอน ไร้หมอกควัน ลดโลกเดือด

               วันนี้ (วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม 2568) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมรณรงค์และเสริมสร้างองค์ความรู้ในการป้องกันการเผาในที่โล่ง ลดปัญหาหมอกควัน “Carbon Free & Smog-Free” : ปลอดคาร์บอน ไร้หมอกควัน ลดโลกเดือด โดยมี นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิด ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
               การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย การเสวนาในหัวข้อ “ปัญหาการเผาในที่โล่ง ไฟป่า และลดปัญหาหมอกและควัน” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายสุวิทย์ นิยมมาก ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สุพรรณบุรี ผศ.ดร.ปฏิพัทธ์ วงค์เรือง อาจารย์สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา นางสวณีย์ โพธิ์รัง ผู้จัดการนาแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม จ.สุพรรณบุรี และนางปรียวัท ภู่เกษแก้ว ส่วนงานด้านความยั่งยืน และ สื่อสารองค์กร บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Workshop เกษตรลดการเผา ลดโลกเดือด โดย ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา ที่ปรึกษา สถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเพิ่มองค์ความรู้ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เชื่อมโยงไปสู่การส่งเสริมป้องกันการเผาในที่โล่ง ลดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 ให้แก่เครือข่ายชุมชน โดยมีชุมชนศูนย์เรียนรู้ลดโลกร้อน นาแปลงใหญ่ เกษตรสมัยใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม จังหวัดสุพรรณบุรี เข้าร่วมกว่า 100 คน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”