กรมลดโลกร้อน ร่วมเสวนาเนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี พ.ศ. 2568 ภายใต้แนวคิด “น้ำคือชีวิต การอนุรักษ์น้ำและธารน้ำแข็งเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”

วันที่ 21 มีนาคม 2568 นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมเสวนาในหัวข้อ “Climate Change Adaptation” เนื่องในงานวันน้ำโลก ปี 2568 ณ ห้องแคทลียา ชั้น 1 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร จัดโดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “น้ำคือชีวิต การอนุรักษ์น้ำและธารน้ำแข็งเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” สอดรับกับประเด็น “Glacier Preservation” หรือ “การอนุรักษ์ธารน้ำแข็ง” ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนด ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน โดยในช่วงพิธีเปิดงานได้ฉายวิดีทัศน์การแถลงสารจากนายกรัฐมนตรี เพื่อประกาศนโยบายและเจตนารมณ์ในการรณรงค์ให้เกิดการอนุรักษ์แหล่งน้ำ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และร่วมปรับตัวต่อสถานการณ์น้ำของโลก
​               ในช่วงเสวนา หัวข้อ “Climate Change Adaptation” รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึง แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand’s National Adaptation Plan: NAP) ในสาขาการจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาระบบการเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System: EWS) ให้มีความแม่นยำและประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ซึ่งจะเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศได้อย่างเป็นรูปธรรม และเกิดการบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างหน่วยงานรัฐและทุกภาคส่วน ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมรับฟังเสวนาจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เอกอัครราชทูต ผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาชน จำนวนกว่า 300 คน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน จับมือ สกสว. สอวช. ทปอ. กำหนดทิศทางงานวิจัย เพิ่มความสามารถสังคมไทย มีภูมิคุ้มกันต่อวิกฤตโลกเดือด

              เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ณ โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (กรมลดโลกร้อน) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานสภานโยบายอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ร่วมแถลงความร่วมมือภายใต้บันทึกความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนงานวิจัย มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ เสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
               ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมลดโลกร้อน มีหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ผ่านกลไกการสนับสนุนและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ดังนั้น ความร่วมมือจึงเป็นส่วนสำคัญ โดยการเสริมสร้างขีดความสามารถ และสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของประเทศ รวมถึงการนำผลงานวิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ทั้งเชิงนโยบาย เชิงวิชาการ เชิงพาณิชย์ เชิงพื้นที่ อีกทั้งเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการบริหารจัดการระบบฐานข้อมูลนักวิจัย ฐานข้อมูลวิจัย และการผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้าง โดยความร่วมมือครั้งนี้ ได้จัดทำกรอบและแผนงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ เพื่อให้การวิจัย การพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศแบบคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประกอบด้วย (1) กรอบงานวิจัยด้านการลดก๊าซเรือนกระจกที่ยั่งยืน (2) กรอบงานวิจัยด้านการสร้างภูมิคุ้มกันและยืดหยุ่นต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (3) กรอบงานวิจัยด้านงานวิจัยเชิงระบบ ตามความสำคัญ เร่งด่วน และสามารถสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ โดยได้วางเป้าหมายการดำเนินงานในประเด็นสำคัญและเร่งด่วนของการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ อาศัยกลไกความร่วมมือของเครือข่ายภาคีด้านดำเนินการวิจัย ทั้งหน่วยงานกำหนดนโยบายด้านการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานจัดสรรทุนวิจัย และเครือข่ายการดำเนินงานวิจัย ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยผลักดัน ขับเคลื่อนการดำเนินงาน เสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป
               ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ให้กับหน่วยงานวิจัย (ทุนสนับสนุนงานมูลฐาน) และหน่วยบริหารและจัดการทุน (ทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์) ในการส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและนักวิจัยทำการวิจัยและพัฒนา สนับสนุนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และกำหนดท่าทีการเจรจาด้านการค้าการลงทุนและพันธกรณีระหว่างประเทศ การขับเคลื่อนนโยบายอย่างมีกลยุทธ์เพื่อการแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ตลอดจนการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความยืดหยุ่นต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทิศทางในการขับเคลื่อนงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ผลจากการวิจัยและนวัตกรรม มาพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมและระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมเท่าเทียม เพิ่มความสามารถของสังคมไทยในการสร้างภูมิคุ้มกันและยืดหยุ่นต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
               ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า สอวช. มีภารกิจออกแบบและจัดทำข้อเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) รวมถึงการจัดทำข้อเสนอการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบ อววน. และร่วมขับเคลื่อนกับภาคีเครือข่ายในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทางพลวัตของโลก เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมไทยได้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เสริมสร้างขีดความสามารถด้านนวัตกรรม และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ โดยใช้บทบาทการเป็นเลขานุการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อีกทั้ง สอวช. ยังมีบทบาทเป็นหน่วยงานประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (NDE) เป็นการดำเนินงานร่วมกับ กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และ กรมลดโลกร้อน เกี่ยวกับกลไกด้านเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เห็นแนวโน้มในระดับนานาชาติ ที่มีการมุ่งเน้นเชื่อมโยงกลไกต่าง ๆ กับระบบนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นส่วนหนึ่งและเป็นเรือธงของยุทธศาสตร์ด้าน อววน. ที่ สอวช. ขับเคลื่อนอยู่ ผ่านโครงการริเริ่มและทำงานผ่านแผน ววน. กับหน่วยงานอย่าง สกสว. และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ดังที่ปรากฏในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือฯ ที่ได้ดำเนินการร่วมกับ กรมลดโลกร้อน สกสว. และ ทปอ.
               ผศ.ดร.กฤษชัย ศรีบุญมา ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ทปอ. จะเป็นกลไกหลักในการผลักดันและส่งเสริมการทำงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Campus) นำไปสู่ Low Carbon and Climate Resilient Society เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงพื้นที่ รวมถึงพัฒนาบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญ (Upskill and Reskill) ผลิตที่ปรึกษาและผู้ตรวจประเมินภายนอก สำหรับการตรวจสอบความใช้ได้และการทวนสอบ (Validation and Verification) ด้านก๊าซเรือนกระจก และพัฒนาแพลตฟอร์มกลางติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเครือข่ายมหาวิทยาลัย ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยผลักดัน ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสริมสร้างขีดความสามารถ และสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของประเทศต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน จัดประชุมหารือการกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ภายใต้เป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับที่ 2 (NDC 3.0)

               วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมหารือการกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ภายใต้เป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับที่ 2 (NDC 3.0) โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมฯ นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นายกิตติศักดิ์ พฤกษ์กานนท์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย หัวหน้าหน่วยวิจัยพลังงานที่ยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายศิวัช แก้วเจริญ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 35 หน่วยงาน เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุม 203 ชั้น 2 อาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์
               การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบแนวทาง กรอบ และแผนการดำเนินงาน และร่วมกันพิจารณากำหนดค่าเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย รายสาขา ภายใต้เป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับที่ 2 (NDC 3.0 ) ณ ปี พ.ศ. 2578 (ค.ศ. 2035) ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบค่าเป้าหมาย ทั้งในกรณีที่มีการดำเนินงานเองภายในประเทศ (Unconditional target) และที่ต้องการการสนับสนุนจากต่างประเทศ (Conditional target) และเห็นชอบการกำหนดสาขาป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ภายใต้เป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับที่ 2 (NDC 3.0) โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จะกำหนดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ทส. เปิดตัว Miss Climate Change “ขวัญ ชรัญญา” นางสาวไทย พิษณุโลก 2568 ร่วมขับเคลื่อนภารกิจพิชิตโลกเดือด

               วันที่ 20 มีนาคม 2568 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มอบโล่เกียรติคุณ “Miss Climate Change” ให้แก่ นางสาว ชรัญญา เพชรสุวรรณนาคะ นางสาวไทย พิษณุโลก 2568 ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรม สร้างกระแสความตระหนักรู้ เปลี่ยนแปลงสังคมไทยสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำและภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีฯ พร้อมด้วย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกระทรวงฯ เข้าร่วมเป็นเกียรติ ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
               นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ส่งผลกระทบกับหลายประเทศทั่วโลก และถึงแม้ว่าประเทศไทย ได้หลุดจากอันดับประเทศเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากอันดับที่ 9 ไปสู่อันดับที่ 30 แต่ประเทศไทยยังคงต้องมีแผนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เห็นความสำคัญถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะบุคคลที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นพลังการสื่อสารสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมไทย เพื่อร่วมกันสร้างโลกที่ยั่งยืนต่อไป จึงได้มอบหมายให้ นางสาว ชรัญญา เพชรสุวรรณนาคะ นางสาวไทย พิษณุโลก 2568 เยาวชนจิตอาสา ที่มีความสามารถหลากหลาย เป็นนักกิจกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน สร้างการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ให้เกิดการพัฒนาทั้งในระดับชุมชน และระดับประเทศ เป็น “Miss Climate Change” โดยจะมาช่วยเป็นกระบอกเสียงและขับเคลื่อนกิจกรรมในการสร้างการรับรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิดเป็นกระแสสังคมในวงกว้าง นำไปสู่ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ์เป็นศูนย์ หรือ Net Zero รวมถึงมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน เตรียมพร้อมเครือข่าย ทสม. ทำแผนปฏิบัติการเครือข่าย ทสม.เชิงพื้นที่

               วันพุธที่ 19 มีนาคม 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และโรงแรมอลิซาเบธ กรุงเทพมหานคร โดยมี นายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน กล่าวให้กำลังเครือข่าย ทสม. และปิดการประชุม
               การประชุมในวันนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการเครือข่าย ทสม.เชิงพื้นที่ (Action Plan) และ แผนการเงิน (Financial Support) ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2569 – 2573) เพื่อเตรียมความพร้อมและมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนฯ และการนำแผนไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานของเครือข่าย ทสม.ทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมบทบาท ทสม ให้เป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน รับมอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ เครื่องหมาย Net Zero Event

               วันนี้ (วันพุธที่ 19 มีนาคม 2568) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รับมอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ เครื่องหมาย Net Zero ประเภทอีเว้นท์ ในฐานะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่ Net Zero โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรเครื่องหมายรับรองฉลากคาร์บอน ณ ห้อง Conference Hall สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ TIJ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
               กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้พัฒนาระบบรับรองเครื่องหมายฉลากคาร์บอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน เพื่อกระตุ้นให้ภาคส่วนต่าง ๆ เกิดการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ต่อยอดสู่กิจกรรมชดเชยคาร์บอน และ Net Zero เพื่อให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าและบริการของประเทศไทยในตลาดสากล ที่ผ่านมา มีองค์กรที่ให้ความสนใจดำเนินงานฉลากคาร์บอนเป็นจำนวนมาก สำหรับพิธีมอบประกาศนียบัตรเครื่องหมายรับรองฉลากคาร์บอนในครั้งนี้ กรมลดโลกร้อน ได้รับมอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติในเครื่องหมาย Net Zero ประเภทอีเว้นท์ โดยเครื่องหมาย Net Zero นี้ ประกอบด้วยประเภทประเภทอีเว้นท์ จำนวน 4 อีเว้นท์ ประเภทผลิตภัณฑ์ จำนวน 8 ผลิตภัณฑ์ ประเภทบุคคล จำนวน 3 คน โดยมีปริมาณคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้ชดเชย จำนวน 125 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน จับมือ TEI พัฒนาแนวทางการปรับตัวสู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ อย่างบูรณาการและมีส่วนร่วม

               วันพุธที่ 19 มีนาคม 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาแนวคิดการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับประเทศไทยภายใต้โครงการพัฒนาแนวทางและศักยภาพในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ ห้องประชุมพระพรหม ชั้น 3 โรงแรม อัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม และได้รับเกียรติจาก ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกว่า 100 คน
               การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อนำเสนอแนวคิดและหลักการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งต่างประเทศและในประเทศ ครอบคลุมตามแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) ทั้ง 6 สาขา รวมถึงแนวทางการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของชุมชนให้เป็นพื้นที่ต้นแบบด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2 พื้นที่ คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดเชียงราย ใน 2 สาขา (สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสาขาการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์) โดยมีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปพัฒนาแนวคิดการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับประเทศไทยอย่างบูรณาการ เชื่อมโยง 6 สาขาสำคัญที่มีความเสี่ยง ได้แก่ การจัดการน้ำ การเกษตรและความมั่งคงทางอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ ให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน ซึ่งการพัฒนาแนวทางและศักยภาพในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้กับทุกภาคส่วน ได้มีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงการตั้งรับในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) รวมถึงมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการปรับตัวของทุกภาคส่วน และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

โจทย์ท้าทายประเทศไทย เปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

               อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.7 องศาเซลเซียสในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา และอาจเพิ่มขึ้นถึง 6.4 องศาเซลเซียส ในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 21 (1) ขณะที่ในปี 2568 มีการคาดการณ์ว่า อุณหภูมิพื้นผิวโลกจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 1.29-1.53 องศาเซลเซียส (2)
               แนวคิด “เมืองคาร์บอนต่ำ” หรือ Low Carbon City จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเน้นการจัดการในระดับพื้นที่เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซจากเขตเมือง ซึ่งคิดเป็น 70% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด แนวทางนี้ไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซ แต่ยังเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย (1)
               ในประเทศไทยเริ่มมีการส่งเสริมการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับเมือง แต่ยังขาดการนำแนวทางนี้ไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังไม่แพร่หลายมากนัก แม้มีเมืองต้นแบบอย่างเช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ และเกาะสมุย แต่การดำเนินงานยังขาดการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ส่งผลให้การขับเคลื่อนเมืองคาร์บอนต่ำยังไม่ชัดเจน (1)
               การพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำจึงต้องเริ่มจากการสร้างความตระหนักรู้กับประชาชน และการใช้เทคโนโลยีสะอาด เช่น พลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงาน ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและขับเคลื่อนเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยปัจจัยสำคัญคือ “คน” ที่จะต้องได้รับการปลูกฝังและตระหนักถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน (1)
               ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยทั้งต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวไปพร้อมกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์สันดาป การเพิ่มพลังงานหมุนเวียน และการปรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ เช่น การปลูกต้นไม้ในเมือง เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) โดยเฉพาะการปรับตัว (Adaptation) ที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากไทยมีความเสี่ยงสูงต่อภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (3)
               อย่างไรก็ตาม มาตรการสำคัญที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซได้คือ การเก็บภาษี เช่น การเก็บภาษีจากการปล่อยคาร์บอน (Carbon Tax) หรือการกำหนดขีดจำกัดการปล่อยคาร์บอน (Cap and Trade) ซึ่งจะกระตุ้นให้ธุรกิจลดมลพิษ และสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐ (3)
               โครงการ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ถือเป็นตัวอย่างของเมืองคาร์บอนต่ำต้นแบบในประเทศไทย ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2566 มุ่งเน้น 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ การใช้พลังงานสะอาด อุตสาหกรรมสีเขียว การจัดการของเสีย เกษตรคาร์บอนต่ำ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5 ล้านตัน ภายในปี 2570 (4)
               นอกจากนี้ การนำ “นวัตกรรม” มาใช้ยังมีบทบาทสำคัญในการลดต้นทุนการผลิตและส่งเสริมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เช่น การกำหนดราคาคาร์บอนที่เหมาะสมและสร้างตลาดคาร์บอนเครดิต ความโปร่งใสในกระบวนการเหล่านี้จะช่วยลดความกังวลเรื่อง “การฟอกเขียว” ซึ่งการกำหนดราคาสำหรับการปล่อยคาร์บอน สามารถทำได้ในรูปแบบ “ภาษีคาร์บอน” หรือ “การซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอน” ซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลายใน 39 ประเทศ และรัฐบาลท้องถิ่นอีก 33 แห่ง (5) ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปที่กำหนดราคาคาร์บอนสูงถึง 100 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 10 ดอลลาร์ต่อตัน (3)
               อีกหนึ่งความท้าทายคือ “การสร้างตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ” ตัวอย่างโครงการ T-VER ของไทยที่ดำเนินการโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 68 มีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 110,394 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) มูลค่า 18,457,039 บาท และการซื้อขายสะสมทั้งหมด 3,598,457 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 322,614,985 บาท ซึ่งสะท้อนว่าตลาดคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดี (6)
               หากจะกล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านสู่เมืองคาร์บอนต่ำจากมุมมองของต่างประเทศ ตัวอย่างจากญี่ปุ่น สามารถสะท้อนถึงแนวทางการพัฒนาเมืองที่มีความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมและสังคมได้อย่างชัดเจน การสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองนั้นไม่เพียงแต่ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการลดมลพิษและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกด้วย นอกจากนี้ เทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจนและชีวมวลที่ญี่ปุ่นนำมาใช้ยังเป็นแนวทางที่ไทยสามารถศึกษาและปรับใช้ได้ โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมที่มีศักยภาพสูงในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ (7)
               อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า ในอนาคตกว่า 70% ของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นถึง 70% ภายในปี พ.ศ. 2593 หากไม่มีการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซ และเมืองอาจเผชิญกับภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น เช่น พายุ แผ่นดินไหว และน้ำท่วม ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงมากกว่า 1,500 ล้านคนและมีความเสียหายมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ การลดคาร์บอนในเมืองจึงเป็นทางออกที่สำคัญ โดยการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาแผนลดการปล่อยก๊าซ (8)
               ในขณะที่บทบาทของภาคเอกชนในการสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำผ่านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น “ตราสารหนี้สีเขียว” (Green Bonds) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bonds) ที่กำลังมีความสำคัญมากขึ้น เพราะช่วยระดมทุนสำหรับโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งการสร้างมาตรฐานความโปร่งใสและลดการฟอกเขียวจะเสริมความมั่นใจให้นักลงทุน ส่งเสริมการลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมคาร์บอนต่ำในระยะยาว (5)
               ความท้าทายการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทยยังต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่มากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจในระดับชุมชนเมืองหรือเขตเมืองในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลก และสามารถสร้างอนาคตที่ยั่งยืนได้ (8)

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), สู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ – หลักคิดและแนวทางในการขับเคลื่อน
(2) iGreen, ‘ภาวะโลกปั่นป่วน’ เทรนด์โลก 2025 ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม
(3) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ : TDRI), ปรับประเทศไทย…ไปสู่เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำ
(4) ไทยรัฐออนไลน์, Low Carbon : 4 แนวทางผลักดันประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
(5) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI : Thailand Development Research Institute), “5 คีย์” สู่เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำ
(6) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
(7) สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation), Low Carbon Society : ญี่ปุ่นกับสังคมคาร์บอนต่ำ
(8) ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC : Research & Innovation for Sustainability Center), เมืองคาร์บอนต่ำคืออะไร…แล้วเราจะเริ่มได้อย่างไร?

“กรมลดโลกร้อน ผนึกกำลัง เครือข่าย ทสม. และภาคเอกชน แสดงพลังรับมือโลกเดือด อย่างมีส่วนร่วม”

               วันที่ 18 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (กรมลดโลกร้อน) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงานฯ เพิ่มศัพยภาพผู้นำเครือข่าย ทสม. 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร พร้อมจับมือภาคเอกชน ร่วมประกาศเจตนารมณ์ส่งเสริมบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด โดยนายแพทย์ วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ แสดงพลังความร่วมมือร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ เตรียมพร้อมรับมือในระดับพื้นที่ ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
               ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มีภารกิจในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ โดยประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายของประเทศ ซึ่งกรมลดโลกร้อน ได้ส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่มีความเข้มแข็ง ร่วมทำกิจกรรมในระดับพื้นที่ ดังนั้น งานในครั้งนี้จึงได้จัดขึ้นเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ ให้แก่ประธานเครือข่าย ทสม. ทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้นำและเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของเครือข่าย ทสม. ในแต่ละจังหวัด ในประเด็นที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) การส่งเสริมผลิตภัณฑ์และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า 2) การมีส่วนร่วม ลด ละ เลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ตอบสนองต่อเป้าหมายวันปลอดถุงพลาสติกสากล 3) การสื่อสารสร้างการรับรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังส่งผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพ ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหัวข้อ “การผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของเครือข่าย ทสม.” และการอภิปราย หัวข้อ “การขับเคลื่อนชุมชนคาร์บอนต่ำ” โดยมีเครือข่าย ทสม. และ นักวิชาการจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับจัดทำแผนปฏิบัติการเครือข่าย ทสม. เชิงพื้นที่ และแผนการเงิน เพื่อสร้างความพร้อมในการขับเคลื่อนงานและบูรณาการความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ในระดับพื้นที่ต่อไป
               ในโอกาสเดียวกันนี้ กรมลดโลกร้อน ยังได้ประกาศเจตนารมณ์ส่งเสริมบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ร่วมกับบริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด โดย นายแพทย์ วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ อีกทั้งมี กิจกรรม “ชิม ชม โชว์ ช้อป แชร์ แลผลิตภัณฑ์ จิบกาแฟแก้การเผา” ณ ร้านชิมแอนด์ชม ชั้น 1 อาคารกรมฯ พร้อมแสดงนิทรรศการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยง องค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของเครือข่ายร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพิธีมอบโล่สัญลักษณ์เครือข่ายร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้กับร้านชิมแอนด์ชม (Chim&Chom) และเครือข่ายร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมีความพร้อมในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีส่วนร่วม

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

เกษตรออร์แกนิกลดโลกร้อน ทางเลือกเพื่อทางรอดมนุษยชาติ

               การใช้ปุ๋ยเคมีและการเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเกิดวิกฤตโลกร้อนในปัจจุบัน โดยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาก๊าซไนตรัสออกไซด์หนึ่งในตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ งานวิจัยระบุว่าระหว่างปี 1980 – 2020 การปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์เพิ่มขึ้นถึง 40% โดยภาคเกษตรกรรมมีส่วนในการปล่อยก๊าซชนิดนี้มากถึง 74% ของการปล่อยทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเพียงอย่างเดียวมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ในภาคเกษตร (5)
               มีความพยายามผลักดันให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตอาหารให้มุ่งไปทำเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิกเพราะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีศักยภาพช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่คำถามสำคัญก็คือ “เราสามารถเปลี่ยนไปใช้เกษตรอินทรีย์ทั่วโลกได้หรือไม่?” งานวิจัยชี้ว่า หากการทำเกษตรอินทรีย์ถูกนำมาใช้ทั่วโลก ควบคู่ไปกับการลดขยะอาหารและการลดการบริโภคเนื้อสัตว์จะสามารถช่วยเลี้ยงประชากรโลกได้โดยไม่เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร แต่ก็มีข้อสังเกตด้วยเช่นเดียวกันว่า ระบบนี้อาจจำเป็นต้องใช้ที่ดินเพิ่มขึ้น 16-33% และจะนำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้นในบางกรณี (2)
               วารสาร Nature Communications ระบุว่า การขยายระบบเกษตรอินทรีย์สามารถลดการใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ปัญหาหลักอยู่ที่ปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่ที่ต่ำกว่าการเกษตรแบบทั่วไป นักวิจัยจึงเสนอแนวทางแก้ไขผ่าน 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การลดขยะอาหาร การใช้พืชอาหารให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการลดการผลิตอาหารสัตว์ เช่น ถั่วเหลืองและข้าวโพด ซึ่งช่วยลดพื้นที่การเลี้ยงปศุสัตว์และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตรได้ (2)
               แบบจำลองทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่า หากเปลี่ยนไปทำเกษตรอินทรีย์ 100% อาจทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้นถึง 15% ภายในปี 2050 ทว่าหากมีการจัดการระบบอาหารที่ดี เช่น ลดปริมาณขยะเศษอาหาร และนำอาหารที่เคยใช้เลี้ยงปศุสัตว์กลับมาใช้เป็นอาหารมนุษย์โดยตรง การใช้ที่ดินเพิ่มเติมจะลดลงอย่างมาก และสามารถทำให้ระบบเกษตรอินทรีย์มีความเป็นไปได้ในวงกว้าง นอกจากนี้ เกษตรอินทรีย์ยังช่วยลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลได้ถึง 27% โดยเฉพาะจากการเลิกผลิตปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ (2)
               ทั้งนี้ การลดการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 14% ของปริมาณทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งเทียบเท่ากับภาคคมนาคมขนส่งทุกประเภทรวมกัน การลดปริมาณการกินเนื้อสัตว์ลงและหันมาบริโภคพืชผักมากขึ้นจึงช่วยลดโลกร้อนได้ในระดับเดียวกับการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว (3)
               นอกจากการลดเนื้อสัตว์แล้ว ผู้บริโภคยังสามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยโลกด้วยการเลือกบริโภคอย่างมีสติ งานวิจัยพบว่า 1 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์นั้นเกี่ยวข้องกับภาคอาหารทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงขยะอาหารที่ถูกทิ้ง การเลือกซื้ออาหารที่มาจากเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ออร์แกนิก และสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ (5)
               ภาคเกษตรกรรมของไทยเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำคัญ คิดเป็น 15.03% ของการปล่อยทั้งหมดในปี 2023 หรือประมาณ 67.87 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) โดยกิจกรรมหลักที่ก่อให้เกิดก๊าซเหล่านี้ ได้แก่ การปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ เช่น การปลูกข้าว การใช้ปุ๋ยเคมี และการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร การหมักในระบบย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง และการจัดการมูลสัตว์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในประเทศเพิ่มขึ้น (6)
               อย่างไรก็ตาม แม้ภาคเกษตรจะเป็นสาเหตุก่อโลกร้อน แต่หากมีการปรับระบบการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ การปลูกพืชหมุนเวียน และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี จะช่วยลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์และเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในดินมากขึ้น หรือการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรที่เหมาะสม เช่น การนำเศษพืชมาใช้เป็นวัสดุคลุมดินแทนการเผาสามารถช่วยลดมลพิษและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดโลกร้อน แต่ยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงขึ้น และส่งเสริมความยั่งยืนในภาคการเกษตรของไทย (5)
               ในระดับโลก ฟาร์มออร์แกนิกถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากใช้พลังงานน้อยกว่าฟาร์มทั่วไป ตัวอย่างในยุโรปหากนำระบบเกษตรอินทรีย์มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรอาจลดลงถึง 40-50% ภายในปี 2050 เนื่องจากเกษตรอินทรีย์มีจุดแข็งในการอนุรักษ์ดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งช่วยลดมลพิษในดินและน้ำ รวมถึงเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในดินได้มากขึ้น (7)
               เกษตรอินทรีย์ช่วยเสริมความยืดหยุ่นของระบบอาหารโดยให้ความสำคัญกับสุขภาพของดิน ลดมลพิษ และลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก ดินที่อุดมสมบูรณ์จากการบำรุงด้วยปุ๋ยหมักและมูลสัตว์สามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากขึ้นและช่วยปกป้องแหล่งน้ำใต้ดิน การหลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ช่วยลดความเสี่ยงด้านมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่การใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าที่ก่อให้เกิดมลภาวะ ระบบเกษตรเชิงนิเวศ เช่น เกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมสุขภาพของดินและระบบนิเวศ ทำให้การผลิตอาหารมีเสถียรภาพแม้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ แนวทางอย่างวนเกษตรและการปลูกแนวกันลมยังช่วยป้องกันการพังทลายของดินและลดผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรง อีกทั้งฟาร์มเกษตรอินทรีย์ยังใช้พลังงานน้อยลงและปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำผ่านการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ (7)
               ปัจจุบันภาครัฐและองค์กรระดับโลกเริ่มให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์มากขึ้น อย่างในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีการตั้งเป้าหมายให้พื้นที่เกษตรกรรม 20% กลายเป็นเกษตรอินทรีย์ภายในปี 2045 ซึ่งแม้จะยังไม่ใช่ตัวเลขที่สูงมากนัก แต่ถือเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันแนวทางนี้ให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง (8)
              การทำเกษตรอินทรีย์จึงจะเป็นมากกว่าทางเลือกของเกษตรกร เพราะจะทำให้ทุกคนตั้งแต่ผู้ผลิตยันผู้บริโภคได้มีส่วนช่วยลดโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก การลดขยะอาหาร หรือการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ทุกการเปลี่ยนแปลงแม้จะเล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมหาศาล (8)

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) Sorry – organic farming is actually worse for climate change., Climate Change and Energy, MIT Technology Review.
(2) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, การเกษตรอินทรีย์สามารถเลี้ยงผู้คนทั่วโลกอย่างยั่งยืนได้หรือไม่?
(3) Thairath, Future Perfect, กินผักช่วยโลก บริโภค “เนื้อสัตว์” น้อยลง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
(4) iGreen, โลกเลี้ยวขวามุ่งหน้าออร์แกนิก ไทยสวนกระแสหนุนใช้ปุ๋ยเคมี ก๊าซไนตรัสออกไซด์โลกพุ่ง 40%
(5) iGreen, เลือกกินอย่างรู้ที่มา บทบาทรักษ์โลกของผู้บริโภคอย่างเรา
(6) องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน ด้วยการ “ปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
(7) Why is organic better for the planet?, Soil Association.
(8) Organic Agriculture Helps Solve Climate Change., NRDC.