ขอเชิญบุคคล นิติบุคคล บริษัทเอกชน หรือหน่วยงานภาครัฐที่มาติดต่อราชการ หรือเคยมารับบริการ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสระดับชาติ

               กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ขอเชิญบุคคล นิติบุคคล บริษัทเอกชน หรือหน่วยงานภาครัฐที่มาติดต่อราชการ หรือเคยมารับบริการกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสระดับชาติ โดยให้คะแนนการบริหารงานการปฏิบัติงานของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยสามารถตอบแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (EIT) ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ได้ที่ https://itas.nacc.go.th/go/eit/4wjstd หรือวิธีการง่ายๆ เพียงสแกน QR Code 

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานจริยธรรม 0 2278 8400 ต่อ 1909, 1954

Climate Risk Index (CRI) ดัชนีชี้วัดประเทศเสี่ยงสูงจากสภาพอากาศสุดขั้ว

• CRI ดำเนินงานโดย Germanwatch ก่อตั้งปี 1991 เป็น NGO ด้านการพัฒนาและสภาพภูมิอากาศที่ทรงอิทธิพลมาร่วม 30 ปี
• มีบทบาท คือการวิเคราะห์และจัดอันดับประเทศเสี่ยงสูงจากสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น พายุ น้ำท่วม คลื่นความร้อน และภัยแล้ง
• ใช้ฐานข้อมูล จากจำนวนผู้เสียชีวิต ความเสียหายทางเศรษฐกิจ และจำนวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
• ใช้วิธีการประเมินผลย้อนหลัง แสดงระดับผลกระทบของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในช่วงสองปีก่อนการเผยแพร่ดัชนี และในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
• มีประสบการณ์กว่า 30 ปี ดำเนินโครงการสำเร็จมาแล้วกว่า 650 โครงการ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายด้านสภาพอากาศและการพัฒนาในเยอรมนีและยุโรป
• Christoph Bals ทำหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย Germanwatch ที่มีบทบาทสำคัญในการนำองค์กรมุ่งเน้นประเด็นการพัฒนาและสภาพภูมิอากาศตั้งแต่แรกเริ่ม

ไทยพ้นกลุ่มเสี่ยง 10 อันดับแรก
               • Climate Risk Index 2025 ระบุว่า ปี 2022 ประเทศไทยมีค่าดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศอยู่ที่ อันดับ 72 ลดลงจาก อันดับ 34 ในปี 2019
               • ดัชนีระยะยาว (1993-2022) ไทยอยู่ในอันดับ 30 ลดลงจากอันดับ 9 ในช่วงปี 2000-2019 แสดงให้เห็นว่าผลกระทบจากสภาพอากาศสุดขั้วของไทยลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่เผชิญความสูญเสียรุนแรงขึ้น
               • ประเทศไทยเคยติด 10 อันดับแรกของประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในหลายช่วงเวลา เช่น
                    ● อันดับ 9 ในช่วงปี 1995-2014
                    ● อันดับ 10 ในช่วงปี 1998-2017
                    ● อันดับ 8 ในช่วงปี 1999-2018
                    ● อันดับ 9 ในช่วงปี 2000-2019

โลกรวนรุนแรงขึ้น
               • Climate Risk Index 2025 ชี้แนวโน้มภัยพิบัติทางธรรมชาติทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
               • ช่วงปี 1993-2022 มีการบันทึกเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วมากกว่า 9,400 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 765,000 ราย และก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจรวมกว่า 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
               • สัดส่วนผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ พายุ (35%) คลื่นความร้อน (30%) และอุทกภัย (27%)
               • พายุเป็นสาเหตุที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากที่สุด = 2.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 56% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมาอุทกภัย = 1.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 32% ของความเสียหายทั้งหมด
               • CRI 2025 เปิดชื่อ 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสภาพอากาศสุดขั้วในปี 2022 ได้แก่ ปากีสถาน เบลีซ อิตาลี กรีซ สเปน เปอร์โตริโก สหรัฐอเมริกา ไนจีเรีย โปรตุเกส และบัลแกเรีย ตามลำดับ
               • ปากีสถานได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ผู้เสียชีวิตกว่า 1,700 คน ส่วนอิตาลีและกรีซเผชิญคลื่นความร้อน อุณหภูมิสูงเกิน 40°C เกิดไฟป่าขนาดใหญ่
               • ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงปี 1993-2022 แบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลัก
                    -กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ผิดปกติรุนแรง เช่น โดมินิกา ฮอนดูรัส เมียนมา และวานูอาตู
                    -กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เช่น จีน อินเดีย และฟิลิปปินส์

ประเทศยากจนกระทบมากสุด
               • Climate Risk Index (CRI) เผยแพร่รายงานฉบับแรก ปี 2006 ระบุว่า ประเทศที่มีรายได้น้อยที่สุดจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศมากที่สุด
               • CRI จัดอันดับประเทศตามผลกระทบทางเศรษฐกิจและของมนุษย์ โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจะอยู่ในอันดับสูงสุด จึงสะท้อนให้เห็นว่าประเทศใดกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากโลกร้อนมากที่สุด
               • Germanwatch ยังทำงานในประเด็นอื่น ๆ เช่น การลดและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายความรับผิดชอบของภาคธุรกิจ ความมั่นคงทางอาหารและการใช้ที่ดิน การเงินที่ยั่งยืน และการฟ้องร้องด้านสภาพภูมิอากาศและสิทธิมนุษยชน ผ่านเครือข่ายอาสาสมัครและความร่วมมือกับองค์กรระดับนานาชาติ

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) GermanWatch, Climate Risk Index 2025

กรมลดโลกร้อน เดินหน้าพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาบูรณาการประเด็น Climate Change

               กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม อบรมเชิงปฏิบัติการแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนอีโคสคูล ระดับสูง (Eco-School Advance) สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา ระหว่างวันที่ 8 – 11 เมษายน 2568 ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาต่อยอด และยกกระดับการดำเนินงานที่ครอบคลุมพันธกิจของโครงการฯ ทั้ง 4 ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพันธกิจที่ 2 การจัดการเรียนรู้ด้วยการใช้กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา ซึ่งได้กำหนดให้มีการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา (รายวิชาเพิ่มเติม) ให้เหมาะสมและเท่าทันกับสถานการณ์ รวมถึงบริบทของท้องถิ่น โดยคำนึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสำคัญ
               การจัดอบรมฯ ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นางสาวระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีปิดและมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วม โดยประธานในพิธีฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาโดยใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชน ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรท้องถิ่นที่สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยสร้างความตระหนัก และการลงมือปฏิบัติเพื่อการตั้งรับ และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสถานศึกษา รวมถึงครูและผู้เรียนต่อไปได้ โดยในตอนท้ายได้กล่าวขอบคุณคณะวิทยากรที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ และให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาให้มีความถูกต้อง เหมาะสมตามหลักวิชาการ และสอดคล้องกับหลักการของโครงการฯ สำหรับการอบรมฯ ในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจาก 21 โรงเรียน รวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 50 คน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ทส. รับมอบอุปกรณ์สนับสนุนแผนปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า จาก ปตท.สผ. พร้อมเร่งแจกจ่ายเจ้าหน้าที่รับมือไฟป่า

               วันที่ 10 เมษายน 2568 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานสักขีพยานในพิธีรับมอบอุปกรณ์สนับสนุนแผนปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า พ.ศ.2568 ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. โดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ นายชยงค์ บริสุทธิ์สวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานโครงการผลิตในประเทศ ปตท.สผ. โดยมีคณะผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงฯ พร้อมด้วยนายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และผู้บริหาร ปตท.สผ. รวมถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
               สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าครั้งนี้ ทส. ได้รับการสนับสนุนจาก ปตท.สผ. ด้วยงบประมาณรวม 15 ล้านบาท เพื่อการจัดหาชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า อุปกรณ์ดับไฟป่าพร้อมยุทโธปกรณ์ อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) พร้อมกล้องตรวจจับความร้อนสำหรับการบินสำรวจ เครื่องหาพิกัดด้วยสัญญาณดาวเทียมแบบพกพา เครื่องรับ-ส่งวิทยุ เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชน ตามแผนปฏิบัติงานป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า ปี พ.ศ. 2568 ของกระทรวงฯ
               โอกาสนี้ ดร.เฉลิมชัย รมว.ทส. กล่าวขอบคุณ ปตท.สผ. ที่ให้การสนับสนุนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างต่อเนื่อง พร้อมยืนยันว่ากระทรวง ฯ จะเดินหน้าบูรณาการการทำงานแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 อย่างเข้มข้น และจะเร่งนำอุปกรณ์ที่ได้รับไปแจกจ่ายให้แก่หน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ที่กำลังเกิดเหตุไฟป่า รวมถึงจัดส่งให้พื้นที่เสี่ยงเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์ไฟป่าโดยเฉพาะในช่วง 60 วันของฤดูแล้งก่อนเข้าสู่ฤดูฝน อีกทั้งจะเดินหน้าสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ รวมถึงนำกฎหมายที่มีอยู่มาบงคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อลดปัญหาฝุ่นควันในประเทศอย่างต่อเนื่อง
               การสนับสนุนครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยความร่วมมือการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน ระหว่าง กระทรวงฯ และ ปตท.สผ. ซึ่งได้ลงนามร่วมกันเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการดำเนินงาน เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยมีความสมดุลและยั่งยืน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

“กรมลดโลกร้อน” เปิดศูนย์การเรียนรู้พื้นที่สีเขียวป่านิเวศ วัดเขาแก้ว จังหวัดจันทบุรี เปิดพื้นที่การเรียนรู้ เพิ่มพื้นที่กักเก็บคาร์บอน ลดปัญหาโลกเดือด

               เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลปะตง และวัดเขาแก้ว อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เปิดตัว “ศูนย์การเรียนรู้ พื้นที่สีเขียวป่านิเวศ (Eco Forest) และอนุรักษ์พันธุกรรมพืช วัดเขาแก้ว” เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
               โดยได้รับเกียรติจากนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีรองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานพิธี พร้อมด้วย นายวิสุทธิ์ ประกอบความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ผู้บริหารจังหวัดจันทบุรี
ผู้บริหารอำเภอสอยดาว เจ้าอาวาสวัดบ้านตาเรือง เจ้าคณะตำบลปะตง เขต 2 เจ้าอาวาสวัดวัดเขาแก้ว เครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม ณ วัดเขาแก้ว อำเภอสอยดาว จังหวัดราชบุรี
               นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมการดำเนินงานขับเคลื่อน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ อพ.สธ. ซึ่งการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ เป็นไปตามกรอบการดำเนินงานของโครงการ อพ.สธ. ได้แก่ การเรียนรู้ทรัพยากร การใช้ประโยชน์ทรัพยากร และการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร โดยวัดเขาแก้ว จะเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่มีพื้นที่สีเขียว มีความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นถิ่นของตำบลปะตง ซึ่งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นศักยภาพของวัดเขาแก้ว จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ วัดเขาแก้ว ตำบลปะตง อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เป็นศูนย์การเรียนรู้พื้นที่สีเขียวป่านิเวศ (Eco Forest) และอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน โรงเรียน และหน่วยงานต่างๆ ศึกษาพันธุกรรมพืชและความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากวัดเขาแก้ว เป็นพื้นที่สาธารณะที่คนในชุมชนบ้านเขาแก้ว หมู่ที่ 6 องค์การบริหารส่วนตำบลปะตง ศูนย์เรียนรู้ชุมชนคาร์บอนต่ำ และหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมมือกันเพิ่มพื้นที่สีเขียว ดูแลต้นไม้อย่างต่อเนื่อง และเก็บข้อมูลต้นไม้ เพื่อประเมินปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกของต้นไม้บนพื้นที่ 4 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา (7,376 ตรม.) สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ได้ 379.25 (tCO2e) เหมาะสมในการเป็นพื้นที่ต้นแบบการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ปลูกฝังให้เยาวชนและประชาชนตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของทรัพยากร เกิดความรักและหวงแหน จนนำไปสู่การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันดูแลรักษาพื้นที่สีเขียว เพิ่มพื้นที่กักเก็บคาร์บอน ช่วยลดมลพิษและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ ตลอดจนเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่พื้นที่อื่น ๆ นำไปขยายผลเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ของตนเองต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน จัดประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (กรมลดโลกร้อน) จัดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ครั้งที่ 1/2568 โดยมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานคนที่ 1 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการและเลขานุการ ได้มอบหมาย นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการและเลขานุการ ปฏิบัติหน้าที่แทน ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ พร้อมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
               ประธานกรรมการได้มอบนโยบายการดำเนินงานของคณะกรรมการ โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ที่ประเทศจะได้รับในภาพรวมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และเสริมศักยภาพการปรับตัวของทุกภาคส่วนในการจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้คณะกรรมการได้รับทราบผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและพิจารณาเห็นชอบเรื่องที่สำคัญ ดังนี้
               1. เห็นชอบร่างแนวทางปฏิบัติสำหรับการใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ และให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน
               2. เห็นชอบต่อ (ร่าง) ข้อตกลงการดำเนินงานภายใต้ข้อ 6 ของความตกลงปารีสระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย (Implementation Agreement Pursuant to Article 6 of the Paris Agreement between the Government) และให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน
               3. เห็นชอบโครงการเมืองคาร์บอนต่ำและการพัฒนาตลาดคาร์บอนของประเทศไทย (Low Carbon Cities & Carbon Market Development) และมอบให้ กรมลดโลกร้อน จัดเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องส่งให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะกระทรวงการคลัง พิจารณานำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติหลักการโครงการตามขั้นตอน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ทส. รวมพลังผู้ประกอบการ “อาหารต้องไม่เป็นของเสีย”

               วันที่ 9 เมษายน 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานงานสัมมนา “From Food Waste to Well being รวมพลังผู้ประกอบการ…จัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี” โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงานและมอบนโยบายการจัดการขยะอาหารและน้ำเสีย และมีนางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกระทรวงฯ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กทม. ซึ่งงานสัมมนาครั้งนี้ มีผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการขยะอาหารและน้ำเสีย และมีผู้แทนสถานประกอบการ เข้าร่วมงานกว่า 450 คน
               ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน กล่าวว่า ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับสภาวะโลกเดือดที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม อาหารที่กลายมาเป็นของเสีย หรือที่เรียกว่า ขยะอาหาร เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจกที่สะสมในบรรยากาศ ซึ่งทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นหรือโลกร้อนขึ้น และยังเป็นเรื่องของทรัพยากรที่สูญเปล่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย จึงอยากเชิญชวนทุกท่านเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนแนวคิดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “อาหารต้องไม่เป็นของเสีย” อาหารที่พวกเรารับประทาน ต้องใช้ทรัพยากรในการผลิต ทั้งทรัพยากรน้ำ พลังงาน และความอุดมสมบูรณ์ของดิน แรงงาน เงิน บางพื้นที่ถ้าทำการเกษตรแบบบุกรุกป่าก็สูญเสียทรัพยากรป่าไม้ไปด้วย เมื่อเราทิ้งเป็นขยะก็กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องจัดการที่ต้องเสียงบประมาณไปกำจัด ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งปี 27 ล้านตัน เป็นขยะอาหารมากกว่า 10 ล้านตัน หรือ 37% และในทุกวันประเทศไทยมีน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากชุมชน 11 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็น 43% ของน้ำเสียทั้งหมด ซึ่งขยะอาหารและน้ำเสียก็จะมาจากบ้านเรือน จากผู้บริโภค จากธุรกิจต่าง ๆ ที่อยู่ในชุมชน จึงเป็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการให้ถูกต้องและดีขึ้น
               นโยบายในการจัดการขยะอาหารและน้ำเสียของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารและน้ำเสียเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงเป็นการส่งเสริมให้มีการนำขยะอาหาร รวมถึงน้ำเสียไปใช้ประโยชน์ เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยและน้ำเสียที่จะต้องนำไปกำจัดหรือบำบัด มุ่งเน้นการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น การสร้างให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจ อาทิ การวางแผนบริหารจัดการวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ การบริจาคอาหารที่ยังสามารถรับประทานได้ให้แก่ผู้ยากไร้หรือกลุ่มเปราะบาง การใช้ประโยชน์ขยะอาหารในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เป็นอาหารของสัตว์ การแปรรูปผลิตเป็นปุ๋ยหรือสารปรับปรุงดิน การแปรรูปเป็นพลังงาน แต่สิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องของการจัดการสิ่งแวดล้อม คือเรื่องของความร่วมมือ ความตระหนักรู้ การรู้ตนที่จะทำสิ่งใด ๆ ก็ตามเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม ความตระหนักต่อปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม ต่อประเทศ ต่อโลกใบนี้
               ดร. เฉลิมชัย ได้กล่าวขอบคุณผู้ประกอบการทุกแห่งที่ได้ให้ความสำคัญและเล็งเห็นถึงปัญหาของการจัดการขยะอาหารและน้ำเสีย และเน้นย้ำว่า “ปัญหาขยะอาหารไม่ใช่แค่เรื่องของของเสีย แต่เป็นเรื่องของทรัพยากรที่สูญเปล่า” ไม่ใช่แค่คำพูดที่พูดขึ้นมา แต่จะเป็นจริงหากทุกคนร่วมมือและช่วยกันในการป้องกันและลดการเกิดเป็นขยะอาหาร รวมถึงปรับเปลี่ยนแนวคิด “ขยะอาหาร” คือ “ทรัพยากร” ที่ต้องนำกลับมาใช้ประโยชน์ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้การจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศดีขึ้น สอดคล้องกับการขับเคลื่อนประเทศที่จะก้าวไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน ร่วมกับ กองประกวดนางสาวไทย สร้างแนวทางความร่วมมือ แต่งตั้ง Miss Climate Change 2025

               เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ กองประกวดนางสาวไทย จัดงานแถลงข่าวการจัดการประกวดนางสาวไทยประจำปี 2568 ภายใต้แนวคิด “Melody of Siam” ณ ห้องศรีราชาแกรนด์ บอลรูม โรงแรมโอ๊ควู้ด โฮเทล แอนด์ เรสซิเดนซ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมี นางสาวระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมให้ข้อมูลในงานแถลงข่าวดังกล่าว
ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ดำเนินการสื่อสารสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมผ่านบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือ อินฟลูเอนเซอร์ในหลายวงการ ทั้งดารานักแสดง และ Youtuber พร้อมทั้งหาเครือข่ายใหม่ ๆ โดยเฉพาะเครือข่ายที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ซึ่งเวทีนางสาวไทย เป็นเวทีที่ทรงเกียรติและทรงคุณค่า ที่ให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้มอบหมายให้ น้องขวัญ นางสาว ชรัญญา เพชรสุวรรณนาคะ นางสาวไทย พิษณุโลก 2568 เป็น “Miss Climate Change” โดยจะมาช่วยเป็นกระบอกเสียงและขับเคลื่อนกิจกรรมในการสร้างการรับรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่ความร่วมมือของทุกภาคส่วน เกิดกระแสสังคมในวงกว้างต่อไป
               สำหรับการประกวดในครั้งนี้มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 25 พฤษภาคม 2568 กรมลดโลกร้อนได้หารือและวางแนวทางกับกองประกวดนางสาวไทย เพื่อแต่งตั้งเป็น Climate Change Ambassador และ Miss Climate Change 2025 โดยแต่งตั้งนางสาวไทยประจำจังหวัด ประจำปี 2568 เป็น “Climate Change Ambassador” รวมกว่า 45 จังหวัด พร้อมทั้งคัดเลือกและแต่งตั้ง Miss Climate Change 2025 โดยคัดเลือกจากนางสาวไทยประจำจังหวัด จำนวน 3 ท่าน และนางสาวไทยประจำปี 2568 จำนวน 1 ท่าน รวมทั้งนางสาวไทยพิษณุโลก 2568 ที่ได้รับการแต่งตั้งแล้ว จำนวน 1 ท่าน รวม Miss Climate Change 2025 ทั้งสิ้น 5 ท่าน เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ์เป็นศูนย์ หรือ Net Zero รวมถึงมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”