เดือน: พฤษภาคม 2568
ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ฯ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง
กรมลดโลกร้อน ร่วมเปิดตัว ‘Thailand Taxonomy 2.0’ ยกระดับมาตรฐานเศรษฐกิจสีเขียว ขับเคลื่อนไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน
วันที่ 27 พฤษภาคม 2568 คณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นความร่วมมือของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับอีก 32 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จัดงานสัมมนา Thailand Taxonomy 2.0: ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกิดความเข้าใจและกระตุ้นการใช้ Thailand Taxonomy ให้เป็นมาตรฐานกลางในการกำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับประเทศไทย เป้าหมายเพื่อสนับสนุนการจัดสรรเงินทุนไปยังกิจกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ ในการนี้ ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จึงได้มอบหมายให้นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมพิธีเปิดงาน ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพมหานคร ในนามผู้แทนคณะทำงานฯ หลัก
Thailand Taxonomy ในระยะแรก (Phase 1) ครอบคลุมกิจกรรมในภาคพลังงานและขนส่ง ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดของประเทศ ส่วนในระยะที่ 2 (Phase 2) ได้ขยายให้ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจเพิ่มเติม คือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคเกษตร ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการจัดการของเสีย ซึ่งทั้งหมดนี้คิดเป็นสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 95% ของประเทศ ดังนั้น Thailand Taxonomy จึงถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ทางเศรษฐกิจ สนับสนุนธุรกิจและการลงทุนของประเทศไทยให้เติบโตบนพื้นฐานของความยั่งยืน
โอกาสนี้ นายปวิช ได้ให้ข้อมูลว่ากรมฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักของคณะทำงานฯ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ควบคู่ไปกับการดำเนินภารกิจหลักในการกำหนดนโยบายและจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รวมทั้งเพื่อพัฒนาและส่งเสริมกลไกทางการเงินที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ภายใต้ (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ที่ถูกจัดให้อยู่ในระบบ Fast-Track และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน เพื่อเตรียมนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในลำดับถัดไป
นอกจากนี้ ร่าง พรบ. Climate Change ยังได้บรรจุ Thailand Taxonomy เป็นองค์ประกอบสำคัญในหมวดที่ 13 ว่าด้วยมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่เชื่อมโยงในระดับนโยบายและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดตั้งกองทุนภูมิอากาศ ในหมวดที่ 4 ของร่าง พรบ. ฉบับนี้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อช่วยวางรากฐานการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติของการส่งเสริมการลงทุนด้านภูมิอากาศ และการยกระดับขีดความสามารถของภาคธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ
ดังนั้น “Thailand Taxonomy จึงไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับความโปร่งใสของตลาดทุนและธุรกิจ แต่ยังเป็นกลไกสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศ ทั้งตามกรอบ NDC 3.0 เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ของประเทศไทยในระยะยาว” นายปวิช กล่าวเน้นย้ำปิดท้าย
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
กรมลดโลกร้อน เสริมพลังเครือข่าย ทสม.จัดทำแผนปฏิบัติการเครือข่าย ทสม.เชิงพื้นที่ ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2569 – 2573) ครั้งที่ 3 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ
กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนงานและบูรณาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของเครือข่าย ทสม.ครั้งที่ 3 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 27 – 28 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมเดอะพาร์ค โฮเทล จ.พิษณุโลก โดยมี นายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมฯ การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการเครือข่าย ทสม.ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2569 – 2573) รวมทั้งแผนสนับสนุนด้านการเงิน แหล่งทุนสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่าย ทสม. และเป็นการเสริมสร้างกลไกการขับเคลื่อน เครือข่าย ทสม. ในการดำเนินกิจกรรมเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถดำเนินงาน ไปในทิศทางเดียวกันทั้งในระดับพื้นที่ และระดับประเทศ โดยแบ่งเป็นกลุ่มโซนจังหวัด 6 กลุ่ม (กลุ่มจังหวัดภาคอีสานเหนือและกลุ่มจังหวัดภาคอีสานใต้ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ กลุ่มจังหวัดลุ่มน้ำภาคกลางและภาคตะวันออก) ที่สำคัญเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้และเสริมศักยภาพผู้นำเครือข่าย ทสม. ในการขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
กรมลดโลกร้อน ขับเคลื่อนเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน จัดประชุมเสริมพลังเครือข่าย สู่การรับมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
กระทรวงทรัพยากรธธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนเปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพเครือข่ายร่วมพัฒนาเมืองสิ่งเวดล้อมยั่งยืน ณ โรงแรมทีเค พาเลช แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2568 โดยมีนายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งการประชุมฯ ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทางการประเมินผลงานตามเกณฑ์การประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน รวมทั้งแลกปลี่ยนข้อคิดเห็น ประสบการณ์ทำงานร่วมกัน และบูรณาการขับเคลื่อนงานให้มีประสิทธิภาพมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันและสามารถเป็นเครือข่ายในการให้คำปรึกษาแนะนำยกระดับการพัฒนาเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกิจกรรมในการประชุม ประกอบด้วย การอภิปรายแลกเปลี่ยนมุมมองการพัฒนาเมือง การเสวนาจากทางผู้แทนหน่วยงาน ผู้นำท้องถิ่น และผู้บริหารจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรยายแนวทางการประเมินและชี้แจงการอำนวยการตรวจประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ประจำปี 2568 ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชน คณะอนุกรรมการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ระดับพื้นที่และระดับประเทศ (ประเภทพื้นที่ทั่วไปและพื้นที่เขตเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ) เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และเจ้าหน้าที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จำนวน 80 คน
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา จ้างซ่อมเครื่องปรับอากาศ จำนวน 3 เครื่อง โดยวิธีเฉพาะเจาะจง
เป้าหมายการปรับตัวระดับโลก (Global Goal on Adaptation) ตัวช่วยในภารกิจด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในขณะที่โลกต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) และหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำเป็นต้องมีการดำเนินการเพื่อสร้างความสามารถในการฟื้นตัวของผู้คนซึ่งรู้สึกถึงผลกระทบอยู่แล้ว และผู้ที่ได้รับผลกระทบในไม่ช้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความพยายามในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศจะต้องขยายขอบเขตอย่างรวดเร็วเพื่อปกป้องชุมชนที่เปราะบาง ตั้งแต่การสร้างกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันน้ำท่วม ไปจนถึงการฟื้นฟูป่าที่รักษาแหล่งน้ำ และการปลูกพืชที่ทนทานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศทั่วโลกยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร แม้ว่าเป้าหมายการปรับตัวระดับโลก (GGA) จะรวมอยู่ในข้อตกลงปารีสในปี 2558 แต่ยังคงยังขาดเป้าหมายการปรับตัวที่วัดได้และปริมาณ รวมถึงมาตรการในการระดมเงินทุน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพ (ที่เรียกว่า “วิธีการดำเนินการ”) ซึ่งทั้งหมดนี้มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนผลลัพธ์ในโลกแห่งความเป็นจริง
เป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัว อาจจะเข้าใจได้ยาก แต่ก็อาจเปรียบได้กับการเดินทางไปสู่จุดหมายที่ต้องอาศัย แผนที่ หรือ ระบบการนำทางด้วยดาวเทียม (GPS) ที่ทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลาและงบประมาณ ในการเดินทาง ดังนั้นเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัว คือตัวชี้วัดที่ใช้วัดความสำเร็จในระดับนานาชาติ ที่ทำให้ทุกประเทศสามารถกำหนดทิศทางการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย GGA เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจากอุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้น
กรอบงาน GGA เน้นย้ำถึงประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องสร้างความยืดหยุ่น เช่น อาหาร น้ำ และสุขภาพ ประเด็นที่เกี่ยวข้องเหล่านี้สามารถช่วยเชื่อมช่องว่างระหว่างลำดับความสำคัญในการปรับตัวในระดับชาติและระดับโลก นอกจากนี้กรอบงานยังกำหนดเป้าหมายการพัฒนาและดำเนินการแผนการปรับตัวระดับชาติและนโยบายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งรวมถึง การติดตาม ประเมินผล และการเรียนรู้ (MEL): ภายในปี 2030 ที่ได้ออกแบบ จัดตั้ง และดำเนินการระบบสำหรับการติดตาม ประเมินผล และการเรียนรู้สำหรับความพยายามในการปรับตัวของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจาก GGA คือ ทำให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการปรับตัวที่ทันต่อสถานะการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริบทของประเทศไทย และสามารถดูแลประชากรกลุ่มเปราะบางเช่น ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ฯลฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นที่ ประชากรในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรที่อ่อนไหวต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ให้มีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญ โดยประชากรกลุ่มนี้ควรมีอำนาจในการตัดสินใจที่แท้จริง รวมถึงการตัดสินใจด้านงบประมาณ โดยกำหนดว่าจะดำเนินการแทรกแซงการปรับตัวใดในชุมชนของตน โดยใคร และด้วยวิธีใด
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
แหล่งที่มา :
– United Nations Climate Change, UNFCCC, Global goal on adaptation.
– World Resources Institute, Understanding the Paris Agreement’s ‘Global Goal on Adaptation’
กรมลดโลกร้อน จัดประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการความร่วมมืออาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ในการลดก๊าซมีเทน (AKCMM) ครั้งที่ 2/2568
วันที่ 26 พฤษภาคม 2568 นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการความร่วมมืออาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ในการลดก๊าซมีเทน (ASEAN-Korea Cooperation on Methane Mitigation: AKCMM) ครั้งที่ 2/2568 พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมพิจารณาคัดเลือกโครงการที่เหมาะสมในการทำ Feasibility เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการดำเนินการจริง ซึ่งที่ประชุมให้ความสนใจการศึกษาโครงการลดการปล่อยก๊าซมีเทนในกระบวนการหมักในระบบย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง และโครงการลดก๊าซมีเทนจากหลุมฝังกลบโดยการกักเก็บและนำก๊าซชีวภาพไปผลิตพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการดำเนินการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมโครงการจัดการขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงวันลาย และโครงการลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากการรั่วไหลในกระบวนการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยใช้เทคโนโลยีดักจับการรั่วไหล เพื่อนำมาพิจารณาต่อไป
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
ดร.เฉลิมชัย นำคณะผู้บริหาร ทส. เยือน Bioparc Valencia ขยายความร่วมมือ ยกระดับสวนสัตว์ไทยสู่มาตรฐานโลก ขับเคลื่อน Climate Action และEco-based System อย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และคณะผู้บริหารฯ เข้าศึกษาดูงาน ณ Bioparc Valencia ราชอาณาจักรสเปน ซึ่งเป็นสวนสัตว์เชิงนิเวศชั้นนำของโลก เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้าน Zoo-immersion หรือการออกแบบพื้นที่จัดแสดงสัตว์โดยจำลองระบบนิเวศตามธรรมชาติแบบเสมือนจริง ภายใต้หลักการ Eco-based System ซึ่งเน้นความเชื่อมโยงของสัตว์ พืช สิ่งแวดล้อม และผู้เข้าชมอย่างกลมกลืน สร้างความเข้าใจในความหลากหลายทางชีวภาพและส่งเสริมจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ควบคู่กับแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Low Carbon Zoo ที่มุ่งเน้นการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ การใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง และดำเนินมาตรการ Zero Food Waste อย่างเป็นระบบ โดยมีนายโวสิต วรทรัพย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ให้การต้อนรับและนำชมพื้นที่
ในการนี้ คณะฯ ยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และ Fundación Bioparc ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการดูแลสัตว์ การออกแบบนิทรรศการ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และการบริหารจัดการสวนสัตว์ การแลกเปลี่ยนความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานสวนสัตว์ของประเทศไทยสู่ระดับสากล พร้อมสนับสนุนบทบาทของประเทศในการขับเคลื่อนการจัดการสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
กรมลดโลกร้อนมอบรางวัล Miss Climate Change ในงานประกวดนางสาวไทย ประจำปี 2568
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมงานประกวด นางสาวไทย 2568 รอบตัดสิน (Final Competition) ซึ่งจัดโดยสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท ทีพีเอ็น โกลบอล จำกัด ผู้จัดการประกวดนางสาวไทย ประจำปี 2568 พร้อมประกาศผล Miss Climate Change 2025 ณ เอ็มซีซี ฮอลล์ เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน โดย นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นางสาวระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้เกียรติเข้าร่วมงานดังกล่าว และเป็นผู้มอบโล่และสายสะพายให้แก่ผู้เข้าประกวดนางสาวไทย ประจำปี 2568 ที่ได้รับเลือกเป็น Miss Climate Change 2025 ทั้ง 5 คน ได้แก่ 1.นางสาวไทย ประจำปี 2568 นางสาวโชตินภา แก้วจำรูญ 2.นางสาวชรัญญา เพชรสุวรรณนาคะ นางสาวไทยพิษณุโลก 3. นางสาวโชติกา ดอกแก้วกลาง นางสาวไทยนครราชสีมา 4.นางสาวสวรรณกมล รัตนวุฒิรัตน์ นางสาวไทยนครสวรรค์ และ 5.นางสาวไอรีน อินสด นางสาวไทยอุตรดิตถ์ ซึ่ง Miss Climate Change 2025 ทั้ง 5 คน จะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญและขับเคลื่อนกิจกรรมในการสร้างการรับรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้เกิดเป็นกระแสสังคมในวงกว้าง นำไปสู่สังคมทุกภาคส่วนขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”