รายงานงบทดลองประจำเดือน เม.ย. ปีงบประมาณ 68
เดือน: พฤษภาคม 2568
Fashion ลดโลกร้อน ของมันต้องมี ที่ไม่ทำร้ายโลก
นายอันโตนิโอ กุเตอเรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวถึงผลกระทบของ “Fast fashion” ที่เป็นกระแสในปัจจุบัน ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เนื่องในวัน “International Day of Zero Waste” เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 โดยทุกวินาทีมีเสื้อผ้าในปริมาณเทียบเท่ารถขยะหนึ่งคันถูกเผาหรือฝังกลบ ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอจึงเป็นหนึ่งภาคส่วนที่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณร้อยละ 8 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก และมีการใช้น้ำในปริมาณมากราว 215 ล้านล้านลิตรต่อปี หรือเทียบเท่ากับสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิก 86 ล้านสระ อีกทั้งยังมีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตในปริมาณสูง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและระบบนิเวศ ซึ่งวิกฤตขยะจากแฟชั่นนับเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก โดยมนุษย์ทั่วโลกได้สร้างขยะมากกว่า 2 พันล้านตันต่อปี มากพอที่จะห่อหุ้มโลกได้ 25 รอบหากบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์มาตรฐาน ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นกลายเป็นจุดสนใจในปีนี้ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเสื้อผ้ามักถูกทิ้งหลังจากใช้งานเพียงไม่กี่ครั้ง โดยผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า หากสามารถยืดอายุการใช้งานของเสื้อผ้าให้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง ร้อยละ 44
การแก้ไขปัญหาขยะสิ่งทอนี้จำเป็นจะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบ ผ่านการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนและแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ผู้ผลิตควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานยาวนาน มีคุณภาพดี ลดการปนเปื้อนสารเคมี และตอบโจทย์ความยั่งยืน และในฐานะผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในห่วงโซ่การผลิตและการบริโภค สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหานี้ ด้วยการลดการบริโภคตามกระแส Fast fashion ที่มาเร็วไปเร็ว ไม่อุดหนุนเสื้อผ้าที่ไม่เน้นคุณภาพแต่เน้นการผลิตที่รวดเร็วตามเทรนด์แฟชั่นของโลก ทำให้เสื้อผ้าเหล่านี้ถูกใส่เพียงไม่กี่ครั้ง เนื่องจากมีคอลเลกชันใหม่ ๆ ผลิตและวางจำหน่ายในท้องตลาดอยู่เสมอ
Fashion ลดโลกร้อน จึงควรมุ่งให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าบนพื้นฐานของความยั่งยืน โดยเลือกซื้อเสื้อผ้าที่เน้นคุณภาพ สามารถใส่ได้บ่อย และใช้ได้ยาวนาน ผลิตจากเส้นใยที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ หลีกเลี่ยงใยสังเคราะห์แบบโพลีเอสเตอร์ที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและปล่อยไมโครพลาสติกสู่ระบบนิเวศ เน้นเสื้อผ้าที่ไม่ต้องซักบ่อย ไม่ต้องรีด มีกระบวนการผลิตในท้องถิ่นเพื่อลดการขนส่งที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควรแก้ไขและซ่อมแซมเสื้อผ้าที่ชำรุดเล็ก ๆ น้อย ๆ นำเสื้อผ้ามา mix & match หรือดัดแปลงให้ดูเป็นชุดใหม่ การเลือกซื้อเสื้อผ้ามือสอง หรือการบริจาคเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว เป็นต้น
เมื่อท่านจะเลือกซื้อหรือกดซื้อเสื้อผ้าครั้งต่อไปขอให้ท่านคิดเสมอว่า “ของมันต้องมี” ต้องมาคู่กับการที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้ความสุขชั่วขณะของเราทำร้ายโลกและลูกหลานเราในวันข้างหน้า
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
แหล่งที่มา :
(1) United Nations, 2025, International Day of Zero Waste 30 March, Towards zero waste in fashion and textiles.
(2) United Nations, 2025, Fast fashion fuelling global waste crisis, UN chief warns | UN News
ช่วยกันพลิกวิกฤตโลกร้อน JOIN HANDS TO REVERSE GLOBAL WARMING
โลกร้อนขึ้นทุกวัน แต่เราช่วยกันเปลี่ยนได้! รู้ทันวิกฤตโลกร้อน พร้อมแนวทางง่าย ๆ ที่ทุกคนทำได้ในชีวิตประจำวัน จาก eBook “ช่วยกันพลิกวิกฤตโลกร้อน” โดย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
อ่านได้ที่ : https://online.fliphtml5.com/jrbcl/lceq/#p=1
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
กรมลดโลกร้อน หารือ สหราชอาณาจักร ร่วมขับเคลื่อนนโยบายด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนางสาวระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเจ้าหน้าที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนการดำเนินงานร่วมกับ Ms. Laura Lutkoski รองปลัดกระทรวงสิ่งแวดล้อม อาหาร และกิจการชนบท แห่งสหราชอาณาจักร (Department for Environment Food and Rural Affairs: DEFRA) ในประเด็นการจัดทำนโยบายด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร โดยสหราชอาณาจักรจะมีการปรับปรุงแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (National Adaptation Programme) ฉบับที่ 4 ในปีนี้ โดยภายใต้แผนดังกล่าวได้ระบุการดำเนินงานใน 5 สาขา ได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐาน 2) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ 3) สาธารณสุข ชุมชน และสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น 4) ธุรกิจและอุตสาหกรรม และ 5) สาขาการดำเนินงานระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือในประเด็นด้านการดำเนินการจัดทำนโยบายเพื่อป้องกันน้ำท่วมและการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน โดยตัวอย่างนโยบายที่สหราชอาณาจักรดำเนินการอยู่ ได้แก่ การทำประกันภัยที่อยู่อาศัย การใช้หลักการใช้ธรรมชาติเป็นฐาน (NbS) ระบบการระบายน้ำอย่างยั่งยืน และการเตรียมความพร้อมรับมือกับอุทกภัยสำหรับที่อยู่อาศัย อีกทั้ง ได้ร่วมหารือแนวทางความร่วมมือกับสหราชอาณาจักรในประเด็นการเสริมสร้างศักยภาพองค์ความรู้ด้านการปรับตัวฯ และการป้องกันผลกระทบจากน้ำท่วมและการกัดเซาะชายฝั่งให้แก่บุคลากร สส. ต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้เข้าพบกับ Ms. Debbie Palmer ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงาน ภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาแห่งสหราชอาณาจักร และ Mr. Orlando Cantell กระทรวงความมั่นคงทางพลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อหารือในประเด็นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยได้แลกเปลี่ยนความก้าวหน้าในการดำเนินงานเกี่ยวกับประเด็นการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ของประเทศไทย นโยบายมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ การสร้างความตระหนักรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับประชาชน โดยเฉพาะการให้ความรู้เพื่อผลิตบุคลากรสำหรับเข้าสู่ตลาดการสร้างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงได้หารือเกี่ยวกับการยกระดับโครงการเสริมสร้างศักยภาพในระดับท้องถิ่นเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะต่อไป
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”