เตรียมพร้อมป้องกันภัยจากพายุฤดูร้อน/พายุหมุนเขตร้อน : เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรง

               การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ (anthropogenic climate change) มีแนวโน้มว่าจะช่วยเพิ่มความรุนแรงของพายุหมุนเขตร้อนให้มากขึ้น การทำลายล้างของพายุหมุนเขตร้อนผ่านการเกิดน้ำท่วม ได้รับการเสริมแรงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในระดับโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ นอกจากนี้ อัตราการเกิดฝนจากพายุหมุนเขตร้อนมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณความชื้นในบรรยากาศที่มากขึ้นซึ่งสัมพันธ์กับภาวะโลกร้อนอีกด้วย
               ประเทศไทยมีโอกาสเกิดพายุในรูปแบบต่าง ๆ บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นพายุฤดูร้อน หรือพายุหมุนเขตร้อน เมื่อเกิดพายุขึ้นจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เป็นวงกว้าง ส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง และคลื่นลมแรง สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของประชาชน เพื่อความปลอดภัย จึงมีข้อควรปฏิบัติเพื่อลดผลกระทบจากพายุในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้
รับมือพายุอย่างปลอดภัย
               – ติดตามพยากรณ์อากาศอย่างต่อเนื่อง หากมีประกาศเตือนภัย ให้ปฏิบัติตามคำเตือนและคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
               – ตรวจสอบบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพแข็งแรง โดยเฉพาะหลังคาบ้าน หน้าต่าง ช่องลม เพื่อป้องกันลมแรง พัดบ้านเรือนเสียหาย
               – ดูแลสภาพแวดล้อมรอบบ้าน โดยตัดแต่งต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการหักโค่น จัดเก็บสิ่งของที่ปลิวลมได้ในที่มิดชิดหรือผูกยึดไว้ให้มั่นคง กำจัดขยะสิ่งกีดขวางทางน้ำในร่องน้ำ คูน้ำ เพื่อเปิดทางระบายน้ำกรณีฝนตกหนัก
               – สำรวจสิ่งปลูกสร้างที่เสี่ยงต่อการล้มทับ อาทิ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา หากอยู่ในสภาพที่ไม่แข็งแรง ให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ไขให้ปลอดภัย
               – เตรียมสิ่งของจำเป็นไว้ก่อนเกิดภัย อาทิ เครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่ม เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ไฟฉาย
วิธีปฏิบัติตนปลอดภัยเมื่อเกิดพายุ
               – หลบพายุในพื้นที่ปลอดภัย โดยอยู่ในอาคารบ้านเรือนที่แข็งแรงและปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด รวมถึง ไม่อยู่ใกล้ประตูหน้าต่างกระจก หากกระจกแตกจะเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ
               – ไม่หลบพายุในจุดเสี่ยงอันตราย อาทิ ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง เพราะเสี่ยงต่อการโค่นล้มและล้มทับ
               – ห้ามอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง เพราะอาจได้รับอันตรายจากลมพัดสิ่งของปลิวมากระแทก รวมถึงเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
               – ไม่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลและงดกิจกรรมทางทะเล โดยเฉพาะการเล่นน้ำ เดินเรือ เพราะคลื่นลมในทะเลมีกำลังแรงและอาจเกิดคลื่นซัดชายฝั่ง จะทำให้ได้รับอันตราย

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
– NOAA Climate.gov : Science & Information for a Climate-Smart Nation, Climate Change is probably increasing the intensity of tropical cyclones.

กรมลดโลกร้อน ร่วมงานแถลงข่าวและพิธีลงนามความร่วมมือ “การลดก๊าซเรือนกระจกจากการจัดแข่งขันกีฬา เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)”

               วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดย นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมงานแถลงข่าวและพิธีลงนามความร่วมมือ “การลดก๊าซเรือนกระจกจากการจัดแข่งขันกีฬา เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)” ซึ่งจัดโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. ร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในการผลักดันและส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกจากการจัดแข่งขันกีฬา ในรูปแบบคาร์บอนนิวทรัลอีเวนต์ (Carbon Neutral Event) เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) พร้อมจัดงานแถลงความร่วมมือ โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมเป็นประธานในพิธีลงนาม พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารทั้ง 2 กระทรวง และ นางสาวชรัญญา เพชรสุวรรณนาคะ นางสาวไทย พิษณุโลก 2568 และ “Miss Climate Change” เข้าร่วม ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน ร่วมกิจกรรมงานวันต้นไม้ประจำปีของชาติ ปี 68 ภายใต้แนวคิด “ธรรมะและธรรมชาติ”

               วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีฯ และนายวัฒน์ ทาบึงกาฬ เลขานุการกรม เข้าร่วมกิจกรรมงานวันต้นไม้ประจำปีของชาติ ปี 68 ภายใต้แนวคิด “ธรรมะและธรรมชาติ” จัดขึ้นโดยกรมป่าไม้ ณ ราชบพิธสถิตธรรมสถาน คลอง 9 ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ ผู้บริหาร ทส. และได้รับประทานพระเมตตาจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เจ้าคุณพระราชสุทธิธรรมาจารย์ และเจ้าคุณพระราชวรเมธาจารย์ เข้าร่วมพิธีเปิด พร้อมปลูกต้นไม้ภายในราชบพิธสถิตธรรมสถาน อาทิ ต้นมะริด ต้นจามจุรี และต้นราชพฤกษ์ ซึ่ง รมว.ทส. ได้ปลูกต้นไม้มะริด ต้นที่ 72 ล้าน ในโครงการ 72 ล้านต้น พลิกฟื้นผืนป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
               ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทส. ได้กล่าวว่า การปลูกต้นไม้ ไม่ใช่แค่ “การลงมือปลูกต้นไม้” แต่เป็น “การปลูกจิตสำนึก” ให้กับคนทุกวัย ขอให้เริ่มด้วย “หนึ่งต้นไม้ หนึ่งมือปลูก หนึ่งใจรักษา” ซึ่งส่งผลดีทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ต่อการสืบทอดคุณค่าจากรุ่นสู่รุ่น และในโอกาสวันต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ. 2568 ตรงกับวันที่ 11 พ.ค. และเป็นวันวิสาขบูชา ขอเชิญชวนประชาชนทั่วประเทศ ร่วมปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างแผ่นดินไทยให้เขียวขจี โดยสามารถติดต่อขอรับกล้าไม้ได้ฟรี ที่สถานีเพาะชำกล้าไม้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า ส่วนผลิตกล้าไม้ กรมป่าไม้ โทร. 02-561-4292-3 ต่อ 5551
               ทั้งนี้ ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2532 กำหนดให้ “วันวิสาขบูชา” เป็นวันต้นไม้ประจำปีของชาติ ซึ่งในปี พ.ศ. 2568 นี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ กำหนดจัดกิจกรรมงานวันต้นไม้ประจำปีของชาติขึ้น ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ณ ราชบพิธสถิตธรรมสถาน คลอง 9 จังหวัดปทุมธานี รวมถึงได้บูรณาการความร่วมมือระหว่าง “ธรรมะและธรรมชาติ” ที่เป็นการหลอมรวมพลังศรัทธาในศาสนาเข้ากับภารกิจด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของการจัดที่มุ่งเน้นการปลูกจิตสำนึก ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเยาวชน ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา ลดผลกระทบจากวิกฤติโลกร้อน และสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ปี 2025 สัญญาณอันตราย อุณหภูมิโลกจ่อทำลายสถิติเก่า

               สถานการณ์วิกฤตโลกร้อนยังคงทวีความรุนแรง อุณหภูมิโลกสร้างความประหลาดใจให้กับนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ซึ่งปกติจะนำมาซึ่งอุณหภูมิที่เย็นลงในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน กำลังอ่อนกำลังลงและเข้าสู่ภาวะเป็นกลาง แต่ความร้อนทั่วโลกกลับยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน (1)
               รายงานจากโครงการสังเกตการณ์โลกแห่งสหภาพยุโรป (Copernicus Climate Change Service) ระบุว่า เดือนมกราคม ปี 2025 เป็นเดือนมกราคมที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยอุณหภูมิพื้นผิวอากาศสูงกว่าระดับก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.75 องศาเซลเซียส สถานการณ์นี้ถือเป็นการต่อเนื่องของอุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ตลอดสองปีที่ผ่านมา ที่น่ากังวลคือ อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในหลายภูมิภาคทั่วโลกยังคงสูงผิดปกติ (1)
               นักวิทยาศาสตร์เคยคาดการณ์ว่า ภาวะอุณหภูมิสูงผิดปกติเช่นนี้จะบรรเทาลงภายหลังจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ซึ่งมีความรุนแรงสูงสุดในเดือนมกราคม 2024 สิ้นสุดลง และเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะลานีญาซึ่งเป็นภาวะเย็นลง อย่างไรก็ตาม ความร้อนยังคงอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงสถิติเดิม ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องถกเถียงกันถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดอุณหภูมิที่สูงเกินความคาดหมาย นักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ปรากฏการณ์นี้ค่อนข้างน่าประหลาดใจ เนื่องจากไม่พบผลกระทบจากการเย็นลง หรือการชะลอตัวของอุณหภูมิโลกตามที่คาดการณ์ไว้ (1)
               ยิ่งไปกว่านั้น อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2023 และ 2024 ได้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เป็นครั้งแรก แม้ไม่ถือเป็นการข้ามเส้นขีดจำกัดตามความตกลงปารีสอย่างถาวร แต่ก็เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าขีดจำกัดดังกล่าวถูกทดสอบแล้ว นักวิทยาศาสตร์เน้นย้ำว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นเพียงเล็กน้อยก็เพิ่มความรุนแรงและความถี่ของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น คลื่นความร้อน ฝนตกหนัก และภัยแล้ง (1)
               ขณะที่สถานการณ์ลานีญาสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2025 และมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนกลับเข้าสู่ภาวะ ENSO เป็นกลาง ซึ่งหมายความว่าทั้งเอลนีโญและลานีญาไม่ได้มีอิทธิพลอย่างชัดเจน แต่ผลกระทบจากความร้อนสะสมและความผันผวนของสภาพอากาศยังคงส่งผลกระทบไปทั่วโลก ภาวะเป็นกลางนี้คาดว่าจะต่อเนื่องไปตลอดช่วงฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่เอลนีโญหรือลานีญาจะกลับมามีอิทธิพลอีกครั้งในช่วงปลายปี โดยมีโอกาสที่ลานีญาจะเกิดขึ้นมากกว่าเอลนีโญ (2)
               มหาสมุทรมีบทบาทสำคัญในการควบคุมสภาพภูมิอากาศและเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน น้ำทะเลที่เย็นกว่าสามารถดูดซับความร้อนจากบรรยากาศได้มากขึ้น ซึ่งช่วยลดอุณหภูมิอากาศ มหาสมุทรยังเก็บกักความร้อนส่วนเกินประมาณ 90% จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการกระทำของมนุษย์ แต่ทว่าอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลสูงผิดปกติอย่างยิ่งในปี 2023 และ 2024 การตรวจวัดในเดือนมกราคม ปี 2025 ก็ยังคงสูงเป็นอันดับสองเท่าที่เคยมีมา เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงสงสัยว่าทำไมอุณหภูมิเหล่านั้นยังคงอบอุ่นอยู่มาก (1)
               ปี 2024 ได้สร้างสถิติความร้อนที่น่าตกใจ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงกว่าระดับก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.5 องศาเซลเซียส เป็นครั้งแรก นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศเตือนว่า หากไม่มีความพยายามอย่างจริงจังในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แนวโน้มความร้อนนี้จะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นศตวรรษ แม้ว่าการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนจะมีความก้าวหน้าอย่างมาก แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกยังคงไม่ลดลง ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะเกิน 2 องศาเซลเซียสอย่างแน่นอนภายในปี 2100 หากแนวโน้มปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไป (3)
               ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทวีปเอเชียเผชิญกับภัยพิบัติทางสภาพอากาศมากมาย คลื่นความร้อนมีความรุนแรงและเกิดบ่อยครั้งขึ้น โดยมีผู้เสียชีวิตจากความร้อนในเอเชียคิดเป็น 45% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากความร้อนทั่วโลก อุทกภัยและพายุไต้ฝุ่นยังสร้างความเสียหายอย่างหนัก ทวีปยุโรปก็เผชิญกับภาวะที่ร้อนขึ้นเร็วกว่าทวีปอื่น ๆ โดยปี 2024 มีอุณหภูมิสูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา ในขณะที่ภัยแล้ง และไฟป่าทวีความรุนแรงขึ้น (3)
               ทวีปแอฟริกาก็เผชิญกับความร้อนจัดและภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและบริการ ที่สำคัญภัยพิบัติทางสภาพอากาศเหล่านี้มักนำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหารและน้ำ ฝั่งละตินอเมริกาเผชิญกับพายุเฮอริเคน ภัยแล้ง น้ำท่วม และไฟป่าที่รุนแรงและถี่ขึ้น ภูมิภาคตะวันออกกลางกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ส่วนภูมิภาคอาร์กติกอุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึงสามเท่า ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและประชากรพื้นเมือง (4)
               รายงานจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ยืนยันว่า ปี 2024 เป็นปีที่อุณหภูมิสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.55 ± 0.13 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นปีที่ร้อนที่สุดในรอบ 175 ปีที่มีการบันทึก ระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงที่สุดในรอบ 800,000 ปี ระดับน้ำทะเลสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกด้วยดาวเทียม และการละลายของธารน้ำแข็งก็รวดเร็วเป็นประวัติการณ์ เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในปี 2024 ยังทำให้เกิดการพลัดถิ่นของผู้คนมากที่สุดในรอบ 16 ปี (4)
               ยิ่งไปกว่านั้น ปี 2025 นี้เอง ในช่วงปลายเดือนเมษายนหลายพื้นที่ในซีกโลกเหนือคาดว่า จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดกว่าปกติ โดยพื้นที่ทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกาอาจมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย 6-8 องศาเซลเซียส ยุโรปตะวันตก รวมถึงสหราชอาณาจักรก็อาจเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนที่สุดของปี โดยมีอุณหภูมิสูงถึง 25-28 องศาเซลเซียส ขณะที่ปากีสถานและบางส่วนของอินเดียกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรง โดยอุณหภูมิอาจสูงถึง 48-49 องศาเซลเซียสในบางพื้นที่ ทางการได้ออกคำเตือนให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากความร้อน (5)
               ผลพวงจากความร้อนที่รุนแรงขึ้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว ภาวะเครียดจากความร้อนเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ และสามารถทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้นได้ จำนวนผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนจึงเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (6)
               ภายใต้สถานการณ์สภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่ไม่เหมือนเดิมโดยเฉพาะในบ้านเราที่อากาศร้อนมากขึ้น การป้องกันตนเองจากความร้อนของทุกคนจึงเป็นสิ่งจำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการออกไปกลางแจ้งในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุด ดื่มน้ำให้เพียงพอ สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และอยู่ในสถานที่ที่เย็นสบาย การดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุเป็นพิเศษก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง (6)
               วิกฤตโลกร้อนในปี 2025 ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น และเกิดผลกระทบขึ้นทั่วโลกเป็นปรากฎการร์ที่ไม่อาจมองข้ามได้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วน..ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) Hottest January on record mystifies climate scientists, The Guardian.
(2) April 2025 ENSO update : La Niña has ended, The outlook for the rest of 2025, Climate.gov : Science & Information for a Climate-Smart Nation.
(3) The Earth Experienced Another Year of Record Warming. The Climate Fallout Was Intense, Council on Foreign Relations.
(4) WMO report documents spiralling weather and climate impacts., World Meteorological organization.
(5) Weather tracker : early summer heat likely in US and western Europe., The Guardian.
(6) Heat and Helath, World Helth Organization.

ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา จ้างเหมาบริการรถยนต์ จำนวน 1 คัน พร้อมพนักงานขับรถยนต์ ระหว่างวันที่ 25 – 30 พฤษภาคม 2568 ณ จังหวัดสกลนคร โดยวิธีเฉพาะเจาะจง