เดือน: มิถุนายน 2568
ข้อมูลสาระสำคัญในสัญญา (ใบสั่งจ้าง สลก.47/2568) จ้างซักรีดผ้าคลุมโต๊ะ เก้าอี้ (นางสาวมนัชฌา แย้มอุท้ย) โดยวิธีเฉพาะเจาะจง
ข้อมูลสาระสำคัญในสัญญา (ใบสั่งจ้าง สลก.46/2568) ซ่อมเครื่องปรับอากาศ จำนวน 8 รายการ (ห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.อาร์.เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส) โดยวิธีเฉพาะเจาะจง
ข้อมูลสาระสำคัญในสัญญา (ใบสั่งจ้าง สลก.45/2568) จ้างจัดทำสำเนาเอกสารและเข้าเล่ม (ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทริปเปิ้ล เอ ก๊อปปี้) โดยวิธีเฉพาะเจาะจง
8 มิถุนายน วันทะเลโลก (World Oceans Day)
องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้วันที่ 8 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันทะเลโลก” หรือ “วันมหาสมุทรโลก” (World Oceans Day) เพื่อกระตุ้นให้คนทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของมหาสมุทรที่เป็นแหล่งกำเนิดชีวิต และเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ รวมทั้งมหาสมุทรยังถือเป็นกลไกควบคุมสมดุลของสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศที่ค้ำจุนชีวิตบนโลกอย่างแท้จริง นอกจากนี้มหาสมุทรยังเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนราวครึ่งหนึ่งของอากาศที่เราทุกคนหายใจ และยังกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 1 ใน 4 ที่ถูกปล่อยออกมาทุกๆ ปี
โดยในปี 2568 นี้ วันทะเลโลก จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “WONDER Sustaining What Sustains Us” หรือ “ดูแลทะเลที่หล่อเลี้ยงเรา” ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ปัญหาทรัพยากรทางทะเลอย่างจริงจัง
☀️🌊ทะเลกับวิกฤตโลกเดือด (Climate Crisis)
มหาสมุทรเป็นตัวดูดซับความร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยความร้อนส่วนเกินที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประมาณ 90% จะถูกกักเก็บไว้ในมหาสมุทร เนื่องจากน้ำมีความสามารถในการกักเก็บความร้อนสูง และต้องใช้เวลานานหลายทศวรรษกว่าจะเย็นตัวลง ดังนั้นผลกระทบที่ตามมาคือ อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ความเป็นกรดในทะเลเพิ่มขึ้น และปะการังฟอกขาวอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อวิถีชีวิตชาวประมง ระบบนิเวศทางทะเล และความมั่นคงทางอาหารอีกด้วย
เราทุกคนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและบรรเทาผลกระทบจากโลกร้อนได้ง่ายๆ ดังนี้ …
🌱 ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว: เช่น หลอด ถุงหูหิ้ว และขวดน้ำ
🚯 ไม่ทิ้งขยะลงแหล่งน้ำและชายหาด รวมทั้งสามารถช่วยกันเก็บขยะตามชายหาดได้เมื่อมีโอกาส
🐟 เลือกบริโภคสัตว์น้ำจากแหล่งที่ยั่งยืน ไม่จับสัตว์น้ำในฤดูวางไข่
😎 ท่องเที่ยวแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยพลังงานและมลพิษ
📢 ร่วมเป็นกระบอกเสียงและรณรงค์ร่วมกัน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง
ร่วมรักษาทะเล เพื่ออนาคตของโลกใบนี้ 🌍
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
แหล่งที่มา :
– กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 2568
– องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO) 2563
– องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) 2566
– THAIPUBLICA ไทยพับลิก้า : กล้าพูดความจริง 2021
รองนายกรัฐมนตรี “ประเสริฐ” ลงพื้นที่สมุทรปราการติดตามสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งเร่งเตรียมแผนรับมือการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน
วันที่ 6 มิถุนายน 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ณ จังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่วัดขุนสมุทรจีน อ.พระสมุทรเจดีย์ ชายฝั่งคลองด่าน อ.บางบ่อ และหลักเขตกรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน โดยมี ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ และ นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รายงานสถานการณ์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน โดยรองนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำความสำคัญของการเตรียมมาตรการรับมืออย่างเป็นระบบ พร้อมเร่งผลักดันแผนแม่บทป้องกันและปรับตัวในระยะยาว เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคต
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมา พื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน โดยเฉพาะเขตจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร กำลังเผชิญกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจและชุมชนที่มีประชากรกว่า 12 ล้านคนอยู่อาศัย ซึ่งบริเวณที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ บางขุนเทียน ปากคลองขุนราชพินิจใจ บ้านขุนสมุทรจีน และบ้านแหลมสิงห์ โดยสถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นส่งผลให้ธารน้ำแข็งละลายเร็วขึ้น คาดว่าในปี ค.ศ. 2050 ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นราว 0.5 เมตร และอาจสูงถึง 1 เมตรในปี ค.ศ. 2100 ขณะที่ในกรณีเลวร้ายที่สุด อาจเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เมตรหากเกิดการล่มสลายของแผ่นน้ำแข็งขั้วโลก ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้แก่ การสูญเสียพื้นที่ชายฝั่ง การเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่กลอง ท่าจีน และบางปะกง รวมถึงการรุกตัวของน้ำเค็ม ซึ่งกระทบต่อการผลิตน้ำประปาและการเกษตรในวงกว้าง
รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งศึกษาจัดทำ “แผนแม่บทการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยเน้นการวิเคราะห์ผลกระทบในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ เพื่อกำหนดแนวทางการรับมือที่เหมาะสมและยั่งยืน ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียและความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงจะมีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) การรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ การวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนและการพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนชายฝั่งในระยะยาวด้วย
ทั้งนี้ แผนแม่บทดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ของปี พ.ศ. 2569 ซึ่งรัฐบาลหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการกำหนดแนวทางการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบนที่เป็นรูปธรรม และนำไปสู่การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
กรมลดโลกร้อน จัดประชุม “การแก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (NbS)” รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับบริษัททีพี 465 จำกัด และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ Nature-based Solutions (การแก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน) เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ห้องประชุม Infinity 2 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมี นายปวิช เกศวววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บริหารกรมฯ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ กว่า 80 คน
การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทาง Nature-based Solutions (NbS) ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เสริมสร้างศักยภาพผู้ปฏิบัติงาน และผลักดันการนำ NbS ไปประยุกต์ใช้ในระดับนโยบายและพื้นที่ปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการปรับตัวของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง NbS กําลังได้รับความสำคัญในการนํามาแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศเพื่อช่วยให้ผู้คนปรับตัวเข้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถนําไปใช้กับหลายภาคส่วน และยังมีแนวทางและมาตรการนำ NbS มาปรับใช้ในสาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสาขาการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานตามแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand’s National Adaptation Plan : NAP)
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”